'สปท.'ถึงคราผลัดใบ ปฏิรูปจะไปทางไหน?
Source - มติชน (Th)
Monday, July 31, 2017 04:14
26765 XTHAI XPOL MIDD DAS V%PAPERL P%MTCD
หมายเหตุ - ความเห็นเกี่ยวกับผลงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปฏิบัติหน้าที่ระยะเวลา 2 ปี และกำลังจะพ้นวาระในวันที่ 31 กรกฎาคม
อลงกรณ์ พลบุตร
รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง
1ปี 9 เดือน สปท.ได้ศึกษาวิเคราะห์รับฟังความเห็นและจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ ครอบคลุม 11 ด้าน แต่ละแผนปฏิรูปใน 11 ด้านสำคัญทุกเรื่อง เพราะเชื่อมโยงสนับสนุนกันและกัน
ส่วนที่มีข้อวิจารณ์ว่า สปท.เป็นเหมือนไม้ประดับให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอ้างความชอบธรรม ไม่ได้มีอำนาจในปฏิรูปอะไร อยากชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปครั้งนี้ต่างจากในอดีตหลายรัฐบาลพยายามจะปฏิรูป มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหรือสมัชชาปฏิรูปประเทศ มีรายงานปฏิรูปออกมาหลายฉบับ แต่การขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมีไม่มากนัก เพราะขาดกลไกและการบริหารจัดการการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ
รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ให้จัดตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปฏิรูป 11 ด้าน ตามเป้าหมาย 6 ประการส่งมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปต่อนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2558 จากนั้นรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไข 2558 ให้จัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในเดือนตุลาคม 2558 สานต่องานปฏิรูปของ สปช. และส่งมอบงานปฏิรูปให้นายกรัฐมนตรีวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยแม่น้ำ 5 สาย ให้บัญญัติยุทธศาสตร์ชาติและหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2560 ผ่านประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เดินหน้าปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องยั่งยืนต่อไป
ในระหว่างการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยังมีกลไกประสานงานสนับสนุนและเร่งรัดการปฏิรูปที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ได้แก่ คณะกรรมการประสานงานรวม 3 ฝ่าย (ครม.-สนช.-สปท.) เรียกว่าวิป 3 ฝ่าย ประชุมทุกสัปดาห์ คณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินและ ปฏิรูปประเทศ (กขป.) 6 คณะ มีรองนายก รัฐมนตรี 6 คน รับผิดชอบ คณะกรรมการเร่งรัดการบริหารตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) มีรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และยังมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานการปฏิรูปที่เรียกว่ามิสเตอร์รีฟอร์ม ทุกกระทรวงและหน่วยงานหลักของรัฐบาล
นอกจากนี้ ประธานรัฐสภายังแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่าง สนช.และ สปท. (วิป 2 ฝ่าย) เพื่อร่วมคิดร่วมจัดทำกฎหมายจำเป็นต่อการปฏิรูป ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มีคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองและคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (มินิคาบิเน็ต) โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทุกคณะเพื่อทำงานปฏิรูปในระยะเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) และฉบับใหม่ก่อนมีการเลือกตั้งและส่งมอบการปฏิรูปประเทศไปให้กับรัฐบาลชุดต่อไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
สปท.มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในทุกกลไกทุกขั้นตอนและจะเห็นว่า สปท. และแม่น้ำ 5 สายทำงานเป็นทีมเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูป ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเป็นโชว์รูมสร้างความชอบธรรมของการปฏิวัติตามลมปากของนักการเมืองบางคน ประการสำคัญคือสมาชิก สปท.ปฏิรูปเพื่อประเทศของเรา ไม่ใช่เพื่อคณะรัฐประหารหรือกลุ่มใด คนใด เพราะเรายึดมั่นว่านี่คือการปฏิรูปประเทศ เพื่อประชาชนและประเทศชาติ จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคน ทุกภาคีภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจปฏิรูปประเทศด้วยกัน แยกการเมืองออกจากการปฏิรูป
ทั้งนี้ เกือบ 2 ปีของการปฏิรูป ผมคิดว่าประเทศสงบเรียบร้อยมากขึ้น แข็งแรงขึ้น และมีทิศทางเป้าหมายการพัฒนาประเทศชัดเจนขึ้น แม้จะยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจระดับฐานรากอยู่ รัฐบาลก็กำลังดูแลแก้ไข แต่การปฏิรูปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นและประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งปัจจุบันและอนาคต สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่เศรษฐกิจเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นแล้วเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเป้าหมายใหม่ของประเทศของเรา ตรงนี้ผมเคยบอกว่า เราต้องปฏิรูปประเทศให้เกิดมรรคผลให้คุ้มค่ากับการสูญเสียประชาธิปไตยจากการรัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าอันเป็นต้นเหตุแห่งการรัฐประหาร 13 ครั้งที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีก็ตั้งใจเช่นนี้เพื่อจะตัดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองและขอให้เป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย
แม้ภาพรวมโดยเฉพาะเศรษฐกิจมหภาคดีขึ้นมั่นคงขึ้น แต่เรายังมีปัญหาความล้าหลัง ยากจน ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำหลายตัว และความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจระดับล่างต้องแก้ไขเยียวยากันต่อไป แต่อย่างน้อยเราฟื้นฟูประเทศจากก้นเหวแห่งวิกฤตในปี 2557 จนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง และวันนั้นมืดมนไร้อนาคต แม้แต่วันพรุ่งยังไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้นจะไปทางไหนไม่มีใครตอบได้เลย จนมาถึงวันนี้ที่ประเทศตั้งหลักตั้งลำได้อย่างมั่นคงอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ช่วยกันทำ อีกไม่กี่วันเราจะมีสัญญาประชาคมเพื่อความสมานฉันท์ปรองดองของคนไทยทั้งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าด้วยความสงบสุขอยู่ร่วมกันแม้ความคิดแตกต่างแต่ไม่แตกแยกไม่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารกัน ไม่แบ่งแยกประชาชนเป็นฝักฝ่ายเหมือนในอดีต คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเห็นด้วยกับเรื่องนี้
ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ความคิดการมี สปท.ตั้งแต่จุดตั้งต้นไม่ชัดเจนว่าจะทำหน้าที่อะไร เพราะก่อนหน้านี้มี สปช.เกิดขึ้น ก็มีข้อกำหนดชัดเจนว่าเป้าหมายคือการร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถร่างแล้วเสร็จ แม้จะไม่ผ่านการลงมติของสภาก็ตาม แต่ สปท.เป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปต่างๆ คำถามคือข้อเสนอของ สปท. 36 ด้าน ที่ทำไว้ถูกขับเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน และบางเรื่องการใช้รูปแบบสภาในการขับเคลื่อนอาจไม่สำเร็จ เพราะต้องอาศัยกลไกรัฐ เช่น รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งที่มีความเชื่อมต่อในนโยบายกับประชาชน หรือต้องอาศัยระบบราชการ ฉะนั้นการมีกลไกเฉพาะ สปท.แล้วจะทำให้การขับเคลื่อนสำเร็จคงยาก
2 ปีที่ผ่านมาเราไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจาก สปท.เลย ที่เห็นมีแค่การหยิบยกประเด็นขึ้นมาพูดเป็นข่าวเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ สปท.ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวเอง หลายเรื่องต้องส่งให้ สนช.พิจารณาออกกฎหมาย
ประเมินภาพรวม สปท.ยังไม่เกิดสัมฤทธิผลในการทำงานช่วง 2 ปี ปัจจัยทำให้ล้มเหลวน่าจะมาจากความไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้นในการกำหนดกรอบหน้าที่และเป้าหมายการทำงานของ สปท. จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ทิศทางในอนาคตต่อไปการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่ายจะสำเร็จได้ในระยะเวลา 2 ปีหลังจากนี้ แต่สิ่งที่ทำให้การปฏิรูปสำเร็จได้ต้องมีกระบวนการเชื่อมต่อประชาชนอย่างแท้จริง กระบวนการเชื่อมต่อเหล่านี้ต้องอาศัยรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งจึงสามารถทำได้ และต้องเป็นการปฏิรูปที่ได้รับการจัดระบบ ที่ผ่านมาจะเห็นเลยว่าไม่มีการจัดระบบการปฏิรูป จนกระทั่งถึงที่สุดมีการสรุปออกมาว่าประเทศไทยมีปัญหาอยู่หมื่นกว่าเรื่อง ปัญหาหมื่นกว่าเรื่องนี้ไม่มีทางจะแก้ได้สำเร็จทุกเรื่อง ดังนั้น การปฏิรูปต้องมีการจัดระบบเป็นการปฏิรูปะระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว อันนี้เรายังไม่เห็นเลยในขั้นตอนการทำงานตั้งแต่สมัย สปช. มาจนถึงสมัย สปท.
ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
มองว่าไม่ได้สร้างความแตกต่างเปลี่ยนแปลงอะไร ที่ผ่านมาไม่เห็นการปฏิรูปอะไรเกิดขึ้น การปฏิรูปเป็นสิ่งต้องทำในระยะยาวและมีความเปลี่ยนแปลงตลอด แต่พอเกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราก็ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น ในทางการเมืองเราก็ยังยอมรับวัฒนธรรมทหารอยู่ การปฏิรูปมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ระบบการศึกษา ยกตัวอย่างในเรื่องระบบการศึกษาเองก็ไมได้เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงจริงจัง ตัวอย่างเรื่องโรงเรียนกวดวิชาที่มีอยู่เยอะก็กลายเป็นวัฒนธรรมไป สะท้อนว่าเรามีปัญหาระบบการศึกษาหรือเปล่า ทำไมเด็กต้องเรียนกวดวิชามากมาย แต่คนไทยส่วนหนึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เราไม่ได้มองปัญหาจริงๆ ว่าปัญหาของเราคืออะไร แต่เราพยายามหากลไกเสริมเข้ามา เช่นที่ตอนนี้เราเห็นว่าประเทศมีปัญหาจึงมีสภาปฏิรูปขึ้นมาต้องมีกรรมการนู้นกรรมการนี้ แต่จริงๆ แล้วเราควรเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานของแต่ละกระทรวงให้มีผลความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว มากกว่าจะมาตั้งคณะกรรมการปฏิรูป
สปท.เองก็ไม่ได้ให้ความเห็นต่างจากสิ่งที่หลายคนทราบอยู่แล้ว ว่ามีปัญหาระบบการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ก็มีข้อมูลพวกนี้อยู่แล้ว รัฐบาลก็มีข้อมูลพวกนี้อยู่แล้ว สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแต่ละกระทรวงให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะมีประโยชน์กว่ามีกรรมการปฏิรูป
การทำงานของ สปท. ในส่วนตัวผมไม่เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไร หลังรัฐประหารมาทุกอย่างกลับมาสู่ระบบราชการ มีการรวมอำนาจมากขึ้น เป็นรัฐราชการมากขึ้น ตรงนี้เป็นปัญหาที่เราเห็นว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงจริงๆ
มองว่าควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานแต่ละกระทรวงให้มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้ราชการตอบสนองประชาชน ข้าราชการไม่ได้ทำงานให้คนรู้สึกว่ามีสิทธิใช้บริการได้อย่างสบายใจ ยังแสดงให้เห็นความเป็นชนชั้น คนในพื้นที่นอกเมืองยังรู้สึกว่ารัฐหรือราชการเป็นผู้มีอำนาจเหนือเขา จริงๆ แล้วคนที่ทำงานราชการควรทำงานรับใช้ประชาชน ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดจำนวนคน หลายประเทศก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพของคน โดยไม่ได้เพิ่มคน แต่ตอนนี้ระบบราชการเรามีขนาดใหญ่พอควร
การทำงานของแต่ละกระทรวง ก่อนนี้เราจะเห็นการทำงานของกระทรวงที่กลัวนักการเมือง กลัวรัฐมนตรี ตอนนี้แต่ละกระทรวงก็กลัวอำนาจทหาร กลัวทำไม่ถูกใจทหาร นี่เป็นปัญหา ควรทำสิ่งถูกต้องและแก้ปัญหาประเทศมากกว่ากลัวทำไม่ถูกใจ คสช.--จบ--
--มติชน ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2560 (กรอบบ่าย)--