กรรมการปฏิรูปตำรวจเตรียมพร้อมส่งงานให้รัฐบาลพร้อมเสนอกฎหมายลูกอีกอย่างน้อย 21 ฉบับ
Source - เว็บไซต์สยามรัฐ (Th)
Sunday, March 25, 2018 20:32
50322 XTHAI XPOL POL V%NETNEWS P%WSR
กรรมการปฏิรูปตำรวจเตรียมพร้อมส่งงานให้รัฐบาลตามกำหนดเวลาซึ่งนอกจากจะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจแล้วยังจะได้เสนอกฎหมายลูกอีกอย่างน้อย ๒๑ ฉบับ ขณะเดียวกันได้มีการเสนอ ๑๑ มาตรการให้ยกเครื่อง งานนิติวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการพิสูจน์เอกลักษณ์และในการคลี่คลายคดีอาญา
การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มีพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์เป็นประธานได้เดินมาจนถึงช่วงสุดท้ายนับแต่มีการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ คือการทำรายงานสรุปพร้อมที่จะส่งให้รัฐบาลพิจารณาตามกำหนด ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ ในการปฏิรูปตำรวจ ๓ ประเด็นสำคัญคือ ให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจ ในเรื่อง ๑. หน้าที่อำนาจและภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม ๒. การบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญา และระบบการสอบสวนคดีอาญาให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ และ ๓. การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่า ข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เหมาะสมแก่ภารกิจ และการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้ง และโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ ภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนและมีขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งนอกจากคณะกรรมการจะจัดทำรายงานอันเป็นหลักการและเหตุผลแล้วยังมีร่างกฎหมายที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ เช่น พรบ. ตำรวจแห่งชาติ พศ. ๒๕๔๗ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และร่าง พรบ . ตำรวจประจำการ พศ.
.เป็นต้น
นายมานิจ สุขสมจิตรประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคม เปิดเผยว่า ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ได้จัดทำแผนการจัดทำอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูก เพื่อรองรับการบังคับใช้ พรบ.ตำรวจแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่
..) พศ.
.. เสนอแนบไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรี โดยอนุบัญญัติเหล่านั้น จะได้แสดงถึงหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ ตามกฎหมาย ของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนรวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ ซึ่งจะมีกฎหมายลูกของ พรบ .ตำรวจแห่งชาติ พศ. ๒๕๔๗ ( หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม)ไม่น้อยกว่า ๒๑ ฉบับ มีทั้งระเบียบ กฎ ข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ โดยขั้นตอนการจัดทำอนุบัญญัติดังกล่าวนั้น จะได้กำหนดลงไปด้วยว่าอนุบัญญัติฉบับใดจะต้องทำให้เสร็จภายในกี่วันนับแต่ พรบ. ตำรวจฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ หรือภายในกี่วันนับตั้งแต่กรรมการประเภทนั้นๆเข้ารับหน้าที่แล้วแต่กรณี เช่น กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ว่าด้วยผู้ซึ่ง มีอำนาจในการสั่งเลื่อนเงินเดือน ว่าด้วยการร้องทุกข์ หรือระเบียบคณะกรรมการอิสระ เรื่องร้องเรียนตำรวจ(กอ.ตร.) ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง ว่าด้วยการสอบสวนทางวินัยเป็นต้น
นายมานิจ สุขสมจิตรเปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ยังได้เสนอแนวทางในการพัฒนาด้านนิติวิทยาศาสตร์ ๑๑ แนวทาง ด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและในการคลี่คลายคดีอาญา คือ ๑ จัดระบบการประสานงานและสร้างมาตรฐาน ร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ คือสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.) ตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานพัฒนา ธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล ๒. จัดระบบการบริหารบุคคล และการบริหารงานของ สพฐ. ให้เป็นหน่วยงานกระจายอำนาจแบบบูรณาการ ๓. พัฒนางานบริหารบุคคลของสพฐ. ให้มีระบบการคัดเลือกและการพัฒนาประสิทธิภาพ บุคลากรให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการพัฒนาจัดลำดับทักษะของนักวิทยาศาสตร์ ๔. พัฒนาการกระจายบริการของ สพฐ. ให้มีความสามารถมีมาตรฐานในการบริการให้สูงขึ้น ๕. พัฒนาความสามารถในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และเก็บวัตถุพยานในระดับสถานีตำรวจ โดยจัดอบรมผู้ช่วยพนักงานสอบสวนจำนวน ๕,๕๘๕ คน (ครอบคลุมทุกสถานี )พร้อมจัดหาอุปกรณ์ชุดสำเร็จรูป(ชุดkit) ในการปฏิบัติงานในสถานีตำรวจ
๖.พัฒนาศูนย์(ตรวจพิสูจน์ศพ)นิติเวชประจำภูมิภาคจำนวน ๙ แห่งให้ทำงานตรวจพิสูจน์ได้มากหน้าที่ขึ้น ๗. พัฒนาระบบฐานข้อมูลในการเก็บประวัติลายพิมพ์นิ้วมือให้มีขีดความสามารถสูงขึ้นโดยพัฒนาระบบฐานข้อมูล คอมพิวเตอร์และโปรแกรมเพิ่มเติม ๘.พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการคลี่คลายคดี ๙. พัฒนาระบบการทำงานของ สพฐ.ตร. โดยนำระบบ ISO มาใช้เป็นแนวทาง ในการดำเนินการและตรวจประเมินเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือ ๑๐. พัฒนาจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ให้พอเพียงและมีความทันสมัย ระยะดำเนินการ พศ.๒๕๖๑- ๒๕๖๔ ใช้งบประมาณ ๓,๖๓๑ ล้านบาท และ ๑๑. เพิ่มอำนาจหน้าที่ในกฎหมายหรือระเบียบเช่นการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สามารถตรวจ DNA ผู้ต้องหาในคดี ที่มีโทษทางอาญา แม้จะมีอัตราโทษจำคุกต่ำกว่า ๓ ปีก็ตาม
ที่มา: www.siamrath.co.th