ปิดจ๊อบ กก.ปฏิรูปตำรวจ หาก รบ.ไม่ทำ ละเมิด รธน.
Source - ไทยโพสต์ (Th)
Sunday, March 25, 2018 03:21
13358 XTHAI XGEN DAS V%PAPERL P%TPD
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ซึ่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.ทสส.และ สนช.เป็นประธาน จะเสร็จสิ้นภารกิจในวันที่ 28 มีนาคมนี้ หลังเริ่มทำงานมาตั้งแต่ 5 ก.ค.60 โดยได้นัดแถลงข่าวสรุปผลการทำงานทั้งหมดโดยเฉพาะข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจทั้งระบบในวันพุธที่ 28 มี.ค. จากนั้นจะส่งข้อเสนอทั้งหมดให้นายกฯ ในช่วงปลายเดือนนี้ ถือเป็นการปิดฉากกรรมการชุดดังกล่าวที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ
มานิจ สุขสมจิตร กรรมการปฏิรูปตำรวจและประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) บอกว่าหลังแถลงข่าวในวันที่ 28 มี.ค. ข้อเสนอที่จัดทำขึ้นมันไม่ได้จบที่กรรมการ โดยประธานกรรมการจะเซ็นหนังสือส่งข้อเสนอทั้งหมดให้รัฐบาลในวันที่ 29 มีนาคม หลังจากนั้นถือว่าเสร็จภารกิจปิดจ๊อบการทำงานแล้ว โดยยอมรับว่าการทำงานที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดังใจทั้งหมด แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการมีเหตุผลที่ดีกว่าก็ต้องยอมรับ โดยเมื่อข้อเสนอถูกส่งไปให้นายกฯ แล้วก็ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร จะรับไปสานต่อหรือไม่ แต่หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เลยก็อาจถือว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
"ก็ไม่พอใจหรอก คนเราจะพอใจทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์มันเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ตัวเราเอง เวลาเราทำอะไรไป เรายังบอกตัวเองเลยว่าเราไม่น่าจะทำแบบนั้นไปเลย เพราะฉะนั้นจะให้พอใจทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ในงานที่ต้องร่วมกันทำมันเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อเขามีเหตุผลที่ดีกว่า เราเป็นเสียงข้างน้อยก็ต้องยอมตามเสียงข้างมาก ถ้าเสียงข้างมากเป็นเสียงที่มีเหตุมีผลก็ต้องฟังเขา" มานิจกล่าวตอบหลังถามว่า ในฐานะกรรมการคนหนึ่งพอใจข้อสรุปของกรรมการปฏิรูปตำรวจที่จะส่งให้รัฐบาลในสัปดาห์หน้านี้หรือไม่
- หากไม่มีการปฏิรูปตำรวจในยุค คสช.จะเกิดอะไรขึ้น?
ก็จะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ จะกล้าละเมิดรัฐธรรมนูญหรือ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทำ ก็ต้องมาไล่เบี้ยรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างนี้แล้วก็ต้องทำ โดยบทบาทของภาคประชาสังคมก็ออกมาเรียกร้องรัฐบาลได้ เรียกร้องให้ต้องทำตามนี้ หากเห็นว่ามันต้องปฏิรูปก็ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามนั้น
ถามย้ำว่าข้อเสนอทั้งหมดจะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือไม่ มานิจ การันตีว่า เราเชื่อว่าถ้ามีการทำตามข้อเสนอที่ทำมาแล้วมันจะดี เราก็เสนอรัฐบาลไป แต่คนที่ตัดสินใจสุดท้ายคือรัฐบาล ไม่ใช่เรา อย่างเรื่องการป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง หากมีการทำไปอย่างที่กรรมการเสนอมันก็คงจะลดน้อยลง ผมก็ไม่รับประกันหรอกว่ามันจะหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันคงจะลดน้อยลง
การแถลงข่าวสรุปผลข้อเสนอและแนวทางการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการ จะบอกกับประชาชนว่างานที่รัฐบาลมอบหมายให้กรรมการปฏิรูปตำรวจไปทำ เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งเมื่อส่งไปให้นายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลก็ต้องนำข้อเสนอส่งไปให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่มีนายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นประธาน ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวก็กำลังพิจารณาประเด็นต่างๆ อยู่ เช่นเรื่องอำนาจหน้าที่ของอัยการ กรรมการปฏิรูปชุดดังกล่าวก็คงต้องไปดูว่าข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปตำรวจจะสามารถนำไปสวมให้เข้าด้วยกันได้อย่างไร แล้วจากนั้นหากกรรมการชุดดังกล่าวมีข้อเสนออะไร ก็จะส่งไปให้ที่ประชุมกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหญ่พิจารณา แล้วก็ส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาดูอีกรอบ หากกรรมการกฤษฎีกามีข้อเสนออะไรก็ส่งไปให้คณะรัฐมนตรี
มานิจ พูดถึงข้อจำกัดในการทำงานว่า เป็นเรื่องของการต้องอธิบาย ชี้แจงทำความเข้าใจกันในคณะกรรมการปฏิรูปด้วยกันเอง บางเรื่องกว่าจะตกลงกันเองได้ก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร เพราะข้อมูลของกรรมการไม่ตรงกัน ก็ต้องมาปรับข้อมูลให้ตรงกัน
การทำงานของเราก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างอนุกรรมการที่ไปทำเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก็มีทั้งตำรวจ อัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีทุกครั้ง
เมื่อถามถึงกรณีกรรมการบางคนเช่น นาย มนุชญ์ วัฒนโกเมร ประธานอนุกรรมการด้านหน้าที่อำนาจและภารกิจของตำรวจ ออกมาบอกว่ากว่าจะได้ข้อสรุปแต่ละเรื่องต้องถกกันหลายรอบ ประมาณว่ากว่าจะฝ่าดงตีนออกมาได้ เรื่องนี้ มานิจ บอกว่าก็เป็นคำพูดของนายมนุชญ์ แต่คงไม่มีใครมาไล่เตะกันหรอก ก็มีการถกเถียงกันในบางครั้งก็มีอารมณ์บ้าง ก็เป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน แต่ไม่ถึงกับมาชกต่อยกันหรอก ผู้ใหญ่กันแล้ว
"การพิจารณาแต่ละเรื่อง ที่ประชุมใหญ่กรรมการเราไม่เคยมีการโหวตกัน ประธาน (พลเอกบุญสร้าง) ก็ใช้วิธีทำความเข้าใจกัน ใครยังไม่เข้าใจก็ให้ใช้วิธีถามกัน ถามจนเกิดความเข้าใจ แล้วประธานก็สรุปออกมา ไม่เคยที่กรรมการจะต้องใช้วิธีการโหวตหาข้อสรุปเป็นความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ อย่างบางเรื่องเมื่อกรรมการ 30 คนเห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ผมไม่เห็นด้วยคนเดียว แล้วผมจะเอาอะไรไปสู้กับเขา"
- มีเสียงวิจารณ์กันว่าข้อเสนอทั้งหมดดูแล้วไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง?
ก็วิพากษ์วิจารณ์กันได้ เพราะเมื่อกรรมการปฏิรูปฯ เสนอไป รัฐบาลเขาก็อาจรับข้อเสนอแล้วนำไปปรับปรุงอีกที แก้ไขได้ อยากให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหลังจากแถลงไปแล้วให้มากๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปซึ่งเป็นที่พอใจของประชาชนให้มากที่สุด แต่ข้อสำคัญคือ เวลาเสนออะไรแล้วมีการอธิบายเหตุผลออกมาก็น่าจะฟังกันบ้าง
ส่วนความจริงใจของนายกรัฐมนตรีต่อการปฏิรูปตำรวจ ผมก็ว่าเขาจริงใจ เพียงแต่ด้วยเรื่องของเวลาอาจทำให้ไม่เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่แล้วว่าต้องทำในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน แม้กระทั่งเรื่องการเพิ่มรายได้ให้ตำรวจ ก็เป็นอาชีพเดียวที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าให้เพิ่ม เพื่อให้ตำรวจได้มีรายได้ที่เหมาะสม
มานิจ ระบุว่าจากที่รัฐบาลมีเวลาอีกประมาณหนึ่งปี การปฏิรูปตำรวจในส่วนที่ควรต้องทำโดยทันทีต่อจากนี้ก็คือ เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ที่กรรมการได้เสนอไปแล้ว ก็ควรทำเรื่องนี้ก่อน และก็เรื่องการให้บริการประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเกิดความเป็นธรรม ส่วนจะสามารถใช้มาตรา 44 ได้หรือไม่ ก็น่าจะทำได้ แต่ก็แล้วแต่เพราะเขาเป็นคนใช้อำนาจ
ถามถึงปัญหาเรื้อรังของวงการตำรวจอย่างการรับส่วยจากธุรกิจผิดกฎหมาย ได้หารือกันหรือไม่ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร มานิจ เผยว่าก็คุยกัน เราก็เห็นว่าหากตำรวจมีรายได้ที่พอกับการดำรงชีพ ได้อยู่อย่างมีเกียรติ มันอาจมีคนชั่วอยู่บ้าง แต่ก็เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาต้องกวดขัน เพราะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องดูแลความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ก็ต้องกวดขันไม่ใช่ปล่อยให้ไปทำอะไรได้ตามใจชอบ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็พบว่า ส่วนหนึ่งมีการอ้างกันว่าตำรวจมีรายได้ไม่เพียงพอ เราก็มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาให้ โดยหากแก้ไขปัญหาให้แล้วแต่ยังเกิดขึ้นอีก ก็ต้องกวดขันลงโทษ ตามกฎหมาย เพราะเรื่องของตำรวจเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มานานเต็มทีว่าควรจะมีการปรับปรุง เพราะตำรวจส่วนหนึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการทำงาน
ก่อนจะไปพิจารณาพิมพ์เขียวหลักๆ ของแนวทางข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจ มานิจกรรมการปฏิรูปตำรวจ เล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของกรรมการชุดดังกล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 258 บัญญัติให้ต้องมีการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผล ซึ่งในส่วนของการปฏิรูปตำรวจอยู่ในมาตราดังกล่าวในวงเล็บ 4 ที่บัญญัติว่าดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
จากนั้นพลเอกประยุทธ์ก็ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งกรรมการปฏิรูปตำรวจตามมาเมื่อ 5 ก.ค.60 จำนวน 36 คนรวมประธาน ในคำสั่งได้มอบหมายให้กรรมการมีหน้าที่และ อำนาจในด้านต่างๆ คือ (1) พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจในเรื่อง 1.ก.หน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม 2.ข.การบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษ ทางอาญา และระบบการสอบสวนคดีอาญาให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ 3.ค.การบริหารงาน บุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ
..กรรมการต้องทำงานนี้ให้เสร็จภายใน 1 เมษายนนี้ จึงนัดแถลงข่าวสรุปผลทั้งหมด 28 มีนาคมนี้ ข้อเสนอหลายเรื่องที่กรรมการทำไว้ หากมีการรับไปดำเนินการก็ต้องมีการนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
...อย่างเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เสนอไปให้รัฐบาลตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไร ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายล่าสุดที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ จะมาโทษกรรมการไม่ได้เพราะเราส่งไปให้นายกฯ แล้ว
กรอบเรื่องการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้ายที่กรรมการเสนอไปก็คือ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแท่งหรือโครงสร้างหน่วยงานจำนวน 12 แท่ง ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบัญชาการตำรวจพิสูจน์หลักฐาน จะต้องมีการแต่งตั้งโยกย้ายภายในแท่งของตัวเอง คือหมายความว่าหากจะโยกย้ายตำรวจที่มียศต่ำกว่า พ.ต.อ.พิเศษลงมา ต้องโยกย้ายภายในแท่งหน่วยงานข้างต้น จะแต่งตั้งโยกย้ายแบบย้ายกระโดดข้ามแท่งข้ามหน่วยไม่ได้ เช่นจะย้ายตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ไปอยู่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 แบบนี้ต่อไปจะทำไม่ได้
มานิจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เสนอไปว่าต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
...โดย ก.ต.ช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เสนอไปว่าไม่ให้มีอำนาจเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ตร.แล้ว ให้มารับผิดชอบเรื่องนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วน ก.ตร.นอกจากต้องปลอดการเมืองแล้ว ต่อไปก็ให้มีหน้าที่ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจและตำแหน่ง ผบ.ตร. รวมถึงหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
...การพิจารณาเรื่องตำแหน่ง ผบ.ตร.ต้องไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว หลักคือให้พิจารณานายตำรวจยศ พล.ต.อ. ที่เป็นรอง ผบ.ตร.-จเรตำรวจแห่งชาติมาเป็น ผบ.ตร. เมื่อได้ชื่อแล้วให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หากส่งชื่อไปแล้วนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับชื่อที่ส่งมา นายกฯ สามารถใช้สิทธิ์วีโตไม่เห็นด้วยกับ ก.ตร.ได้ แต่ทำได้แค่ครั้งเดียว เมื่อส่งชื่อกลับมายัง ก.ตร. ทาง ก.ตร.ต้องประชุมแล้วโหวตชื่อใหม่ เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี โดยชื่อคนใหม่ที่ ก.ตร.เสนอไป นายกรัฐมนตรีต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยการดำเนินการขั้นตอนดังกล่าวต้องแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
มานิจ ย้ำว่า ข้อเสนอข้างต้นหากมีการรับไปดำเนินการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือประสิทธิภาพในเรื่องการบริหารงานบุคคล จะไม่มีการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองลงมาจนถึง พล.ต.ต. ก็ให้โยกย้ายโดยคณะกรรมการที่จะให้มีการตั้งกรรมการมาพิจารณา
สรุปไม่แยกงานสอบสวน
สำหรับเรื่อง การปฏิรูประบบงานสอบสวน ที่หลายฝ่ายมองว่าคือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ ที่ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอหลักๆ เช่นให้แยกงานสอบสวนออกมาเป็นการเฉพาะ อาทิเป็นกองบัญชาการหรือแยกออกมาเป็นอีกกรมหนึ่ง เพื่อจะได้ให้งานสอบสวนมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง รวมถึงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานสอบสวนในการเติบโตในชีวิตราชการตำรวจ หรือข้อเสนอให้อัยการเข้าไปมีบทบาทในการสอบสวนคดีตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ หรือคดีที่มีข้อร้องเรียน
มานิจ-กก.ปฏิรูปตำรวจ พูดถึงเรื่องข้อเสนอการปฏิรูปงานสอบสวนว่า กรรมการก็เข้าใจประชาชนดีว่าอยากให้งานสอบสวนแยกออกมา แต่ว่ามันทำไม่ได้ การจะให้แยกงานสอบสวนออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการเห็นว่าทำไม่ได้ เพราะงานสอบสวนกับงานปราบปรามมันต้องไปด้วยกัน
"งานปราบปรามเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องทำ งานสอบสวนก็เป็นสิ่งที่ตำรวจก็ต้องทำหน้าที่ควบคู่กันไป เพราะไม่เช่นนั้นพอส่งเรื่องไปให้งานสอบสวน พนักงานสอบสวนที่ทำคดีก็ไม่รู้เรื่องเดิม หากจะให้แยกงานสอบสวน ตั้งออกมาเป็นอีกกรมหนึ่ง การทำงานมันก็จะลำบาก เพราะงานของตำรวจแตกต่างจากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพราะดีเอสไอไม่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปราม ดีเอสไอมีหน้าที่แค่จับกุมดำเนินคดีอย่างเดียว หากจะให้แยกงานสอบสวนแล้วใช้วิธีเช่นตั้งกรมขึ้นมา ก็เท่ากับเป็นอีกกรมขึ้นมา การทำงานมันจะไม่ประสานงานกัน"
...อย่างไรก็ตามมันก็มีทางแก้ โดยให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นอิสระในการทำงาน กรรมการปฏิรูปตำรวจจึงได้เสนอแนวทางไปดังนี้
1.เรื่องการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของพนักงานสอบสวน คือให้พนักงานสอบสวนเติบโตในแท่งงานสอบสวนของตัวเอง อันนี้เป็นคนละกรณีกับเรื่องแท่งหน่วยงานในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่บอกไปข้างต้นที่มี 12 แท่ง โดยเสนอไปว่าในเรื่องการเติบโตของพนักงานสอบสวน ที่เริ่มตั้งแต่ ร.ต.ต. ก็ให้พนักงานสอบสวนเติบโตขึ้นไปในสายงานได้เรื่อยๆ โดยไม่ให้ตำรวจข้างนอกเข้ามาเป็นเลยมาเอาตำแหน่งเลย ยกตัวอย่างเป็นนายเวร แล้วอยู่กับนาย นายกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ก็จะฝากนายเวรของตัวเองให้ไปเอาตำแหน่ง เช่นรอง ผกก.สอบสวน ในแท่งงานสอบสวน แบบนี้ต่อไปจะให้ทำไม่ได้แล้ว จะให้พนักงานสอบสวนเติบโตในสายงานไปเรื่อยๆ จากระดับล่างขึ้นไปเลย จนกระทั่งไปถึงระดับรอง ผบ.ตร.ฝ่ายสอบสวน จนไปถึง ผบ.ตร.ได้เลย
ข้อเสนอที่ 2 ห้ามหัวหน้าสถานีตำรวจ คือผู้กำกับการ เข้าไปล้วงลูกในการทำคดี เว้นแต่จะมีกรณีเช่นมีข้อร้องเรียน แต่ข้อร้องเรียนต้องมีเหตุผล เช่นร้องเรียนว่าการสอบสวนคดีมีความล่าช้า หรือการสอบสวนคดีมีผู้ร้องเรียนบอกว่าพนักงานสอบสวนไม่ให้ความเป็นธรรม ก็สามารถเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนได้ แต่ต้องมีเหตุผลอธิบายได้ ไม่เช่นนั้นห้ามไม่ให้ผู้บังคับบัญชาเข้าไปล้วงลูกการสอบสวน
มานิจ แจงว่า การไม่สามารถแยกงานสอบสวนนั้นกรรมการอธิบายได้ ไม่ใช่ว่าไม่ฟังประชาชน แต่มันมีเหตุผลทางกฎหมาย ก็เหมือนกับกรณีเสนอให้ถ่ายโอนภารกิจบางอย่างของตำรวจ เช่นเรื่องการตรวจจับบนทางหลวง ที่มีคนบอกว่าตำรวจมาดูแลทำไม หรือการตรวจจับพวกยาต่างๆ ก็มีคนบอกให้กระทรวงสาธารณสุขเขาทำไป พอเราไปศึกษาก็พบว่าทางหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เขาก็บอกว่าหน่วยงานเขายังไม่พร้อมที่จะรับถ่ายโอนภารกิจมา แต่ละเรื่องปัญหามันไม่เหมือนกัน เหตุที่กรรมการปฏิรูปทำข้อสรุปบางเรื่องไม่ได้เพราะมันก็มีปัญหาต่างๆ
ปฏิรูปโรงพัก ยึดโมเดลญี่ปุ่น
มานิจ ยังกล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปโรงพักว่า สำหรับโรงพักเป็นจุดที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด หลักสำคัญคือต้องทำให้โรงพักอำนวยความยุติธรรม รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากที่สุด เพราะเรื่องบางอย่างไม่ควรให้ประชาชนเมื่อไปที่โรงพักต้องรอนาน เช่นการแจ้งความของหาย ควรต้องมีการอำนวยความสะดวกประชาชน โดยเมื่อประชาชนขึ้นไปแจ้งความแล้วทุกอย่างต้องเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที โดยเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงพัก กรรมการได้เสนอให้มีการแบ่งเกรดโรงพักออกเป็น 3 ระดับเพื่อจะได้จัดอัตรากำลังให้เหมาะสม รวมถึงมีการจัดหาอุปกรณ์การทำงานให้ตำรวจในโรงพักเพื่อให้ทันยุคสมัย เพราะปัจจุบันคนก่อเหตุร้ายมีเทคโนโลยีเครื่องมือต่างๆ จึงต้องทำให้ตำรวจก็ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์การทำงานที่ทันสมัย เช่นการใช้เครื่องมือจีพีเอสหรือโดรนในท้องที่ซึ่งเหมาะสมเพื่อช่วยติดตาม ไม่ใช่หมายถึงให้ต้องจัดหาหรือใช้ทุกโรงพัก หรือการปรับตู้ยามตำรวจ ที่นอกจากเพื่อรักษาความปลอดภัยแล้ว ก็ต้องทำให้ตู้ยามตำรวจเป็นมิตรต่อประชาชน โดยตำรวจเขาเสนอมาเองว่าอยากให้ดูกรณีแบบที่ญี่ปุ่น ที่ทำแบบ koban ที่อยู่ภายใต้สถานีตำรวจ แต่ทำในลักษณะไปตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ แล้วทำในรูปแบบตำรวจชุมชนเพื่อเป็นศูนย์ความปลอดภัยของชุมชน
ข้อสรุปถ่ายโอนภารกิจ
มานิจ กล่าวถึงพิมพ์เขียวข้อเสนอการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจ หน้าที่ และภารกิจของตำรวจไปให้หน่วยงานอื่น หรือการถ่ายโอนภารกิจของตำรวจไปให้กระทรวงอื่นรับผิดชอบแทนว่า กรรมการได้เสนอว่าภารกิจบางอย่างที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยตรง ก็เสนอให้มีการถ่ายโอนภารกิจไปยังหน่วยราชการที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น การตรวจสอบจับกุมการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางการค้า ก็ให้โอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงพาณิชย์ เพราะตามกฎหมายเรื่องการห้ามละเมิดลิขสิทธิ์ รมว.พาณิชย์เป็นผู้รักษาการ หากมีการดำเนินการตามข้อเสนอของกรรมการก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายโดยให้อำนาจ รมว.พาณิชย์มีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะปัจจุบันเป็นอำนาจของตำรวจ แต่ก็มีเสียงทักท้วงมาจากหน่วยงานที่จะให้รับโอนไปว่า หากรับมาก็ต้องมีทีมทำสำนวนต้องมีห้องขัง ต้องมีการใช้งบประมาณมาทำด้วย ทางรัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
มานิจ บอกว่า เรื่องดังกล่าวกรรมการมีผลการศึกษาเรื่องการถ่ายโอนภารกิจตำรวจว่า ผลการศึกษา กรรมการได้วางกรอบภารกิจตำรวจที่ต้องดำเนินการถ่ายโอนหรือไม่ถ่ายโอนออกเป็น 4 กลุ่มภารกิจ โดยเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันจำนวน 28 ฉบับ
กลุ่มแรก กรรมการเสนอว่าให้มีการถ่ายโอนภารกิจภายในไม่เกิน 3 ปี โดยเป็นกลุ่มภารกิจเกี่ยวกับงานด้านการจราจร ด้านภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต เช่น ภารกิจด้านการจราจร ภารกิจด้านป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและสรรพสามิต เช่น พวกขนของหนีภาษี ภารกิจเกี่ยวกับงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีอย่างที่เกิดเหตุเรื่องการเข้าไปล่าเสือดำ รวมถึงงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระ ทำความผิดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น พวกโฆษณาขายสินค้าเกินความเป็นจริง
ส่วนภารกิจการถ่ายโอนที่ต้องดำเนินการภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี ประกอบด้วยเช่น ภารกิจด้านป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ขนส่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจทางหลวง และภารกิจด้านป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจน้ำ
สำหรับภารกิจตำรวจที่กรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่สมควรโอนออกไปให้หน่วยงานอื่นทำแทน ก็คือตำรวจรถไฟ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท.
..เหตุผลเพราะเป็นเรื่องของการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดที่มีความสลับซับซ้อนมาก อย่างเรื่องอาชญากรรมการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีการ กระทำความผิดร่วมสิบเรื่องด้วยกัน เช่น การเรียกค่าไถ่ มัลแวร์ ที่มีการเรียกเงินค่าไถ่ เช่น หากไม่จ่ายเงินให้ภายในเที่ยงวันนี้จะมีการทลายเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของคนที่ถูกเรียกค่าไถ่ให้หมด ซึ่งในเมืองไทยเคยมีการจ่ายเงินกันแล้ว
ขณะที่ตำรวจรถไฟ กรรมการเห็นว่ายังไม่ต้องโอน เพราะมีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากบนขบวนรถไฟที่จำเป็นต้องใช้กำลังตำรวจ ส่วนเรื่องการอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องไปรับผิดชอบดูแล ส่วนเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารรถไฟก็ให้ตำรวจรับผิดชอบ ไปจัดการ ไปจับ เช่น การลักลอบขนของหนีภาษีบนขบวนรถไฟ หรือเรื่องอาชญากรรมบนรถไฟ ก็ยังจำเป็นต้องให้ตำรวจรถไฟรับผิดชอบอยู่
หนุนขึ้นค่าตอบแทน
มานิจ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการเสนอให้ขึ้นค่าตอบแทน กรรมการก็เสนอให้เฉพาะตำรวจสายสืบสวนและสอบสวน และป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ส่วนตำรวจสายอื่น กรรมการปฏิรูปฯ ไม่ได้เสนอให้มีการเพิ่มค่าตอบแทนให้ เราไม่ได้เสนอให้เพิ่มตำรวจทุกสาย
โดยรายละเอียดเรื่องข้อเสนอการขึ้นค่าตอบแทนให้ตำรวจนั้น ก่อนหน้านี้ มานิจ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการด้านการบริหารบุคคล ในกรรมการปฏิรูปตำรวจ ได้เสนอให้ที่ประชุมกรรมการชุดใหญ่พิจารณาว่างานตำรวจเป็นงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ระหว่าง 13.56-22.57 เท่า ซึ่งในต่างประเทศ ค่าตอบแทนของตำรวจชั้นประทวนกับค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญมีสัดส่วนความเสี่ยง 1.28 ต่อ 1 ส่วนระดับสัญญาบัตรมีสัดส่วน 1.74 ต่อ 1
มานิจ บอกตอนนั้นว่า จากผลการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเสนอว่า ข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามซึ่งมีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่างานตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 2.66 ต่อ 2.97 จึงควรได้รับเงินเพิ่มในระดับชั้นประทวนเป็นเงิน 4,300-5,000 บาทต่อเดือน และในระดับสัญญาบัตรเป็นเงิน 18,500-21,500 บาทต่อเดือน จะมีผลทำให้ตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตำแหน่ง ผบ.หมู่ที่จบจากโรงเรียนนายสิบได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ 9,330 บาท บวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก 4,300-5,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 15,630-16,330 บาท ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรจะได้รับเงินเดือนเดือนแรกบรรจุ 15,290 บวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง 18,500-21,500 บาท จะทำให้มีรายได้เดือนละ 33,790-36,790 บาท
รวมถึงยังกล่าวไว้ด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลที่ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญา หรือที่เรียกว่า "ค่าทำสำนวน" เพิ่มขึ้นอีก 100% เพราะอัตราที่ใช้อยู่กำหนดไว้เมื่อ พ.ศ.2534 และยังมิได้ปรับเพิ่มในขณะที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้อัตราที่เสนอใหม่จะเป็นดังนี้ (1) กรณีที่เกิดคดีอาญาขึ้นและไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เดิมไม่จ่าย ส่งผลให้พนักงานสอบสวนไม่อยากทำสำนวนหรือไม่รับคดี จึงเสนอให้จ่ายค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาประเภทที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินคดีละ 500 บาท
(2) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 500 บาท)
(3) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 3-10 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 2,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท) (4) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป เสนอให้จ่ายไม่กินคดีละ 3,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,500 บาท) เป็นต้น
โมเดลใหม่ กรรมการรับร้องเรียน
ประเด็นใหม่ที่กรรมการเสนอพบว่ามีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น การเสนอให้มี คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ กอ.ตร. ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัยข้าราชการตำรวจและบุคลากรในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มานิจ กล่าวสรุปข้อเสนอข้างต้นไว้ว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเสนอไว้ เช่น ชุดของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร แต่ของกรรมการมีการเสนอรูปแบบเพิ่มให้มีคนนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ โดยโครงสร้าง กอ.ตร.ดังกล่าวประกอบด้วยคนใน 3 คน คือ จเรตำรวจแห่งชาติและรองจเรตำรวจแห่งชาติอีก 2 คน สาเหตุที่ต้องนำตำรวจมาร่วมเป็นก็เพราะต้องการให้มีคนในซึ่งรู้ระเบียบราชการของข้าราชการตำรวจ แล้วก็ให้มี กอ.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน ซึ่งเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แยกเป็น บุคคลที่ไม่เคยเป็นตำรวจมาก่อน จำนวน 4 คน และอีก 4 คนเคยเป็นตำรวจ แต่ต้องพ้นจากราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
..กรรมการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว การทำงานของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ต้องทำงานเต็มเวลา มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนตำรวจโดยประชาชน เช่น ร้องเรียนว่าทุจริตต่อหน้าที่-ไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน หรือไปทำร้ายประชาชน ก็ให้มาร้องเรียนต่อคณะกรรมการอิสระฯ ซึ่งเมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้วก็ต้องออกไปตรวจสอบ
ผลการพิจารณาของ กอ.ตร.เมื่อเสร็จสิ้นลงแล้ว ให้ส่งผลการพิจารณาให้ผู้บังคับบัญชานายตำรวจที่ถูกร้องเรียนพิจารณาดำเนินการลงโทษ ซึ่งผู้บังคับบัญชาไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการสอบสวนใหม่อีกรอบ ต้องลงโทษตามการชี้มูลของคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียน.
ส่งพิมพ์เขียวปฏิรูปสีกากี ถึงมือบิ๊กตู่ 29 มี.ค.
คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จะส่งข้อเสนอพิมพ์เขียวการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคมนี้ โดยได้นัดประชุมกรรมการนัดสุดท้ายวันที่ 28 มี.ค.
สำหรับข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจของกรรมการพบว่า ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรรมการได้มีข้อเสนอใหม่อีกบางเรื่องที่น่าสนใจ เช่น กองทุนกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย
ซึ่งเรื่องดังกล่าว มานิจ สุขสมจิตร เปิดเผยผ่านสื่อมวลชนไว้ว่า กองทุนกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นแนวทางที่เสนอให้มีทั้งในพื้นที่ กทม.และต่างจังหวัด โดยงบประมาณจะนำมาใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายของสถานีตำรวจ แต่เดิมการจ่ายในส่วนดังกล่าวได้มาจากการบริจาคของประชาชนและเอกชนที่ไม่เป็นระบบ ต่อไปจะไม่ได้มาจากเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่จะมาจากภาษีที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดมาให้ส่วนหนึ่ง
หากมีการขานรับเอาด้วยก็จะต้องออกเป็นกฎหมายตามขั้นตอน รวมถึงเงินบริจาคจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน แนวทางจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน
(ยังมีต่อ)