คอลัมน์: ตรวจการบ้าน: 'ปฏิรูปตร.'วิถีทหารวัดฝีมือคสช.
Source - เดลินิวส์ (Th)
Friday, April 20, 2018 04:39
28753 XTHAI XPOL MIDD DAS V%PAPERL P%DND
ปิดจ๊อบไปแล้วสำหรับการทำงานของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี'บิ๊กสร้าง" พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ท่ามกลางการจับตาจากภาคประชาชนและข้อครหาที่ว่าให้ทหารมาปฏิรูปตำรวจผลลัพธ์จะเป็นไปตามที่สังคมคาดหวังได้หรือไม่ วันนี้ "ทีมการเมืองเดลินิวส์" จะมาร่วมตรวจการบ้านภารกิจการปฏิรูปตำรวจกับ 'บิ๊กสร้าง" ว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะสร้างตำรวจในฝันให้คนไทยได้จริงหรือไม่
"บิ๊กสร้าง" บอกว่า ภาพรวมการปฏิรูปตำรวจเป็นไปด้วยดี แม้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันมีข้อขัดแย้งที่ต้องถกและต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทั้งสิ้นประมาณ 40 ครั้ง แทบจะไม่มีวันใดเลยที่ไม่มีข้อขัดแย้งที่ต้องถกกันแบบเข้มข้นและบางครั้งอาจจะถึงกับค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอยู่ในระดับรุนแรงสัก 2-3 ครั้ง ส่วนการประชุมอย่างลื่นไหล แบบไม่มีข้อขัดแย้งจนรู้สึกแปลกที่ไม่มีปัญหาอะไรเลยและมีความสุขกันมากมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และการประชุมครั้งสุดท้ายที่ไม่มีเรื่องแล้ว เพราะเราหาข้อสรุปได้หมดและเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับในเหตุผล ประนีประนอมเพื่อให้ได้ด้วยกันทุกฝ่าย
*** ภาคประชาชนมีการวิจารณ์ว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังไม่กล้าผ่าโครงสร้างตำรวจอย่างแท้จริง
มันไม่ใช่เรื่องกล้าหรือไม่กล้า แต่ต้องดูที่ว่าเขาให้เราทำอะไรบ้าง กล้าไม่กล้าอาจจะโทษเราไม่ได้ก็ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้ให้ทำ ทั้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจของนายกรัฐมนตรีและรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (ง) (4) ที่กำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ ภารกิจและการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ทำแค่นั้นก็แทบจะไม่ทันอยู่แล้ว
แต่ถ้ามีปัญหาว่าไอ้ที่เราทำนั้นมันไม่ถึงใจ บางคนอาจจะบอกว่าถึงใจมันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้ใครถึงใจหรือไม่ถึงใจ เราต้องทำตามเหตุผล และข้อสรุปทุก ๆ ข้อไม่ได้มาจากความบ้าระห่ำ ความกลัวเกรง หรือความไร้ข้อมูล ข้อสรุปทุกข้อมีการถกเถียงทั้งสิ้น เรื่องกลัวโน่นกลัวนี่จึงไม่มี ผมก็ไม่รู้จะกลัวอะไร เพราะที่นั่งอยู่ก็มีแต่คนเกษียณแล้วทั้งนั้น
*** มีเสียงวิจารณ์ว่าข้อเสนอการปฏิรูปครั้งนี้ตำรวจมีแต่ได้กับได้ เช่น ในเรื่องการปรับเพิ่มเงินเดือนตำรวจ
เขาควรจะรู้ว่าคณะกรรมการปฏิรูปทั้งหมดเสนอขอขึ้นเงินเดือนทุกคณะ มีใครไม่ขอบ้าง ประเด็นหนึ่งคือค่าเงินมันก็ถูกลงทุกวัน และที่ต้องขอเพราะเงินเดือนของพวกนี้มันก็น้อยจริง ๆ อย่างตำรวจชั้นผู้น้อย เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าขอแล้วได้ โอกาสได้อย่างที่ขอนั้น ผมว่าไม่มีเลย เขาไม่ค่อยเข้าใจว่าเวลาทำงานส่วนรวมมันก็ต้องอย่างนี้ ถ้าไม่ขอไปแล้วตำรวจชั้นผู้น้อยตาดำ ๆ ลำบากมาก ๆ เยอะแยะ อาจจะให้เฉพาะบางงาน บางคน บางแห่งที่เสี่ยงอันตราย เรื่องนี้ไม่ต้องไปตื่นเต้นเลย เงินมีแค่ไหน รัฐบาลก็ไม่ได้ให้จนหมดตัวอยู่แล้ว มีคนที่จะต้องให้เยอะแยะ
ตำรวจนั้นน่าเห็นใจเพราะงานอันตราย แต่ไอ้ชนิดที่บอกว่าคุณรู้ว่ามาเป็นตำรวจเงินเดือนได้แค่นี้ แล้วคุณก็ยังมาเสี่ยงอันตราย เสี่ยงตายมาเป็นแล้วคุณยังจะเรียกร้องอะไร ผมว่าผมไม่ค่อยอยากฟังเท่าไร ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Unkind คือไม่อยากจะเรียกว่าเป็นความคิดที่โหดร้ายมาก ผู้ใหญ่นั้นต้องมีความเมตตาต่อผู้น้อย ส่วนเราจะช่วยเขาได้มากน้อยแค่ไหนอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความคิดที่โหดร้ายนั้นแค่ฟังเขาก็หมดกำลังใจแล้ว ถึงแม้ลงเอยมันจะได้หรือไม่ได้ ถ้าเราขอพยายามแล้วแต่เขาไม่ได้อะไรเลยกับไม่ขอแล้วยังด่าด้วยอะไรมันจะดีกว่ากัน ผมฟังแล้วก็ละเหี่ยใจนิด ๆ แต่ผมก็ไม่เสียกำลังใจอะไร
*** คิดว่ามีข้อเสนอใดที่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้
เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายก็น่าจะทำได้เร็ว เพราะเขาให้เราส่งเร็ว ตอนนี้เขาก็ทำไปเร็วพอสมควร ก็คงจะออกมาก่อนเรื่องอื่น โดยนายกรัฐมนตรีได้ส่งให้ ครม.และครม.ส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา สักพักคงจะกลับมาที่ ครม.อีกครั้ง ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณา ก็แสดงว่ารัฐบาลก็มีแนวโน้มกับสิ่งที่เสนอไปอยู่แล้ว เชื่อว่าเขาเห็นด้วยเพราะดูแล้วไม่มีข้อเสียมากมายตรงไหน และน่าจะดีกว่าเดิม ตัวอย่างที่เห็นชัดเรื่องนี้ คือให้ ก.ตร. มี ผบ.ตร.เป็นประธาน เลือก ผบ.ตร. เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งไม่ทราบจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ระหว่างนี้แม้ ผบ.ตร.ยังไม่ย้ายคนอื่นก็ต้องย้าย ส่วนที่ย้ายระดับถัด ๆ ไป บางทีกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ใน พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง แต่อยู่ในอนุบัญญัติก็ต้องเร่งออกอนุบัญญัติต่อไป ส่วนเรื่องคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) ทุกคนก็เห็นด้วยซึ่งเป็นที่น่ายินดี และควรมีมานานแล้ว
*** อะไรจะเป็นสิ่งการันตีว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้จริง
หนึ่งคือรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดไว้ แต่ครั้งนี้มีการกำหนด สองคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะคอยดูการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปทั้งหมด อันนี้คงเป็นหลักประกันที่ดีทีเดียว
*** มีข้อเสนอใดที่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในการดำเนินการหรือไม่
หากต้องใช้เพื่อให้เกิดความสำเร็จก็อย่างเช่น การปรับโอนภารกิจตำรวจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การใช้มาตรา 44 ก็อาจจะดูไม่เหมาะ ที่เราไม่ฟันธงว่าต้องดำเนินการเมื่อไร หนึ่งคือเพราะเราไม่ใช่ผู้มีอำนาจ สองถึงผู้มีอำนาจไปสั่งตามมาตรา 44 แล้วสั่งแบบไม่เหมาะสม มันจะเกิดความเสียหาย คืออาจจะใช้งบประมาณมากเกินไป หรืออาจทำแล้วไม่เข้าที่เข้าทางแล้วทำให้เสียประสิทธิภาพนั้นจะยิ่งทำให้เสียเงินฟรี
เราจึงต้องรับฟังและใจเย็น เพราะเรื่องนี้มีมาหลายสิบปี บางทีเป็นร้อยกว่าปี อยู่ ๆ มาปฏิรูปชักออกถอดออกทั้งหมด มันจะเกิดสุญญากาศ อย่างไรก็ตามคิดว่าหลายคนคงเข้าใจดีอยู่แล้วคืออย่าไปคิดว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำเสร็จแล้วจะเกิดผลต่อสาธารณชนทันที สิ่งที่เราทำกว่าจะออกดอกออกผล ต้องใช้เวลา 1-3 ปี โดย 1 ปีขึ้นไปน่าจะเห็นผลได้บางเรื่อง 2 ปีกว่าน่าจะเห็นผลในเรื่องส่วนใหญ่ 3 ปีกว่า น่าจะเห็นผลในเรื่องย่อยที่ยากหน่อย ถ้าเกิน 3 ปีขึ้นไปน่าจะเห็นผลในเรื่องที่มันยาก เช่น ปรับโอนภารกิจซึ่งต้องใช้เวลา 3-5 ปี แต่ถ้าเกิน 5 ปีก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะคำจำกัดความของการปฏิรูปต้องดำเนินการภายใน 5 ปี.
"ไม่ได้ตั้งใจทำให้ใครถึงใจหรือไม่ถึงใจ เราต้องทำตามเหตุผล และข้อสรุปทุก ๆ ข้อไม่ได้มาจากความบ้าระห่ำ ความกลัวเกรง หรือความไร้ข้อมูล ข้อสรุปทุกข้อมีการถกเถียงทั้งสิ้น"
บรรยายใต้ภาพ
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
--จบ--
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 เม.ย. 2561 (กรอบบ่าย)--