คอลัมน์: สัมภาษณ์พิเศษ: ธวัชชัย ไทยเขียว เปิดโมเดลปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
Source - สยามรัฐ (Th)

Monday, April 23, 2018  02:17
22158 XTHAI XPOL XOTHER XCLUSIVE DAS V%PAPERL P%SRD

          ทวีศักดิ์ ชิตทัพ
          หมายเหตุ : ความสำคัญของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นับวันจะมีมากขึ้น ทั้งต่อสังคม ประชาชน ตลอดจนเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศชาติให้เดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 "สยามรัฐ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ  "ธวัชชัย ไทยเขียว"รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำเสนอถึงมุมมอง แนวคิดของผู้ที่ปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อร่วมกันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืน
          มุมมองในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
          สิ่งที่น่าสนใจในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ส่วนมากจะมีการพูดถึงการปฏิรูปในหน่วยงานต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือไม่มีใครพูดถึงนโยบายในการลงโทษในทางอาญา ซึ่งสิ่งนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ในประเทศไทย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มันส่งผลที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมามากมายถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
          เช่น เรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการในการเข้าถึงการอำนวยการในกระบวนการยุติธรรมในประมวลกฎหมายวิอาญา (ป.วิ อาญา)มาตรา 134/1 ได้บัญญัติว่าคนที่มีโทษขั้นประหารชีวิต และเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเมื่ออยู่ระว่างการดำเนินคดี กฎหมายระบุว่าจะต้องมีทนายความให้เพื่อคอยแก้ต่างคดีและมีอีกวรรคหนึ่งได้บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามีโทษทางอาญา ให้พนักงาน
          สอบสวน ต้องแจ้งสิทธิและต้องถามว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ถามว่ามีความต้องการทนายหรือไม่ ถ้าเขาต้องการ ก็ให้รัฐเป็นผู้จัดให้
          แสดงว่าในกระบวนการยุติธรรมของไทยตามข้อเท็จจริงรัฐได้อำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยการจัดหาทนายความให้จำเลยในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกโดยรัฐจัดให้ แต่กฎหมายได้เขียนไว้ในวรรคสุดท้ายว่าเว้นแต่ระยะเวลานั้นนานไปไม่ต้องมีก็ได้ ผม
          เห็นว่าปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้ เราใช้ข้อยกเว้นมาก จึงเป็นเหตุให้ในชั้นแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกจึงไม่ค่อยมีทนายความมาให้การช่วยเหลือ คนก็จะหลุด มีรอยรั่วมาก
          ในขณะเดียวกันในกระบวนการยุติธรรมไม่มีมาตรฐานค่าจ้างทนายที่จะให้การช่วยเหลือว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเท่าใด
          เช่นค่าเขียนคำร้องค่าเขียนคำฟ้อง ราคาการจ้างทนายจึงเป็นราคาตามข้อตกลง หรือเรียกว่าราคาความพอใจของสองฝ่าย สิ่งนี้ผมเห็นว่าสมควรจะต้องตั้งราคากลางเอาไว้เพื่อความเป็นธรรมของคู่ความ ในส่วนนี้จะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างสภาทนายความและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในการกำหนดราคาการจ้างทนายมาช่วยแก้ต่างคดีให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญา
          ในส่วนของโทษจำคุก จะมีการกำหนดในกฎหมายอาญา ฉะนั้นคนที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เราสามารถเรียกคนเหล่านี้ได้เลยว่าเป็นอาชญากรมีการทำประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือ มีการกำหนดโทษ
          จำคุกไว้แน่นอน บทบัญญัติโทษจำคุกในกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน หรือพระราชบัญญัติอื่นๆ นับร้อยฉบับแทบทั้งหมดมีการกำหนดโทษจำคุกทั้งนั้น
          เช่นขายของเกินราคา กระทำความผิดพ.ร.บ. จราจร และ พ.ร.บ. ต่างๆ กฎหมายได้มีการกำหนดโทษจำคุกเอาไว้ โทษกักขังแทนค่าปรับ ดังนั้นอะไรที่มีโทษจำคุกเท่ากับคนนั้นถูกจำคุก ตามคำพิพากษา ตามความผิดใน พ.ร.บ.นั้น ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่อาชญากร เชื่อว่า บุคคลใดที่ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือหรือมีประวัติเป็นอาชญากรแล้วประวัติจะไม่ได้
          ถูกลบออกจากสารบบที่แท้จริง ทั้งๆที่เขาไม่ได้เป็นอาชญากร ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด
          ตามประมวลกฎหมายอาญา
          ดังนั้นผมมีความคิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ พระราชบัญญัติฉบับใดที่มีโทษทางอาญา จะนำมาเป็นประมวลกฎหมายได้หรือไม่ เช่นเรื่องยาเสพติด ที่ได้นำเอาเรื่องยา
          เสพติด 5-6 ฉบับมาเป็นฉบับเดียวกัน ตามพ.ร.บ.มีโทษทางอาญาให้จำคุก ให้เป็นโทษกักขังได้หรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ โทษจำคุกที่มีการกำหนดใน พ.ร.บ. ต่างๆ ให้เปลี่ยนจากจำคุกเป็นกักขัง ได้หรือไม่
          ส่วนการกักขัง ถ้าเขามีความสมัครใจไม่อยากกักขัง จะทำงานบริการสังคมได้หรือ
          ไม่ หรือมีโทษปรับให้ทำงานแทนค่าปรับแทนได้หรือไม่ ผมไม่อยากให้มีโทษจำคุกในกฎหมายทางเทคนิค หรือกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน การเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการกักขัง ก็ถือว่า เขาคนนั้นไม่ได้ถูกจำคุก เขาจะไม่มีประวัติอาชญากร เขาก็จะสามารถไปทำมาหากินทำงานได้ เนื่องจากในประเทศไทยได้มีการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามบุคคลต่างๆ ที่เข้าทำงานไม่ว่าจะเป็นในรูปบริษัทหรือเป็นหน่วยงานของรัฐ จะมีข้อกำหนดต้องห้าม ไม่เคยมีโทษจำคุก แต่เรามาใส่โทษจำคุกใน พ.ร.บ.ซึ่งเป็นกฎหมายทางเทคนิคกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน
          ยกตัวอย่าง เช่นคนกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร กฎหมายระบุให้มีโทษจำคุก เขาก็ถูกกล่าวหาว่าเคยจำคุกทั้งที่เขาไม่ใช่อาชญากร เรื่องนี้จะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังได้หรือไม่ กฎหมายทางปกครองที่มีโทษก็ให้ใช้โทษทางปกครองเป็นตัวลงโทษ
          ความสำคัญเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
          ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือผู้ที่มีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ากฎหมายจะดีหรือมีความหนักแน่นเพียงใดก็ตามถ้าขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง มีการปล่อยปละละเลย ทำบ้างไม่ทำบ้าง ก็จะไม่มีประโยชน์
          กฎหมายจะดีอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดีกฎหมายก็ขาดความศักดิ์สิทธิ์ มิหนำซ้ำกลับกลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินของบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจไปหากินกับประชาชนซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของคนในชาติ
          ต้องให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือก จะเห็นได้ว่าในกระบวนการยุติธรรมแม้ว่าจะมีโทษทางอาญา หรือทางแพ่ง ถ้าสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกได้ก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย มากกว่าการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติตามกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนและทางภาครัฐ แม้ว่าจะไม่มากแต่อยู่ที่มูลค่าของเงิน สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำเขามีความจำเป็น เขาไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นจะสิ้นสุดเมื่อใด บางครั้งเขาก็ตกเป็นเหยื่อของบุคคลทั้งนี้ในกระบวนการยุติธรรมทางเลือก คือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนคดีจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
          ถึงแม้ว่ากระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายแล้วประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายนั้นไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ ที่กระทรวงยุติธรรมซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่จะให้ความยุติธรรมให้กับประชาชน จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้กฎหมายและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือได้รับรู้หรือได้รับทราบการให้การช่วยเหลือของประชาชนได้มีความรู้ด้านกฎหมาย และถ้าไม่รู้ จะต้องมีแหล่งที่จะได้รับการรับรู้กฎหมายหรือสามารถที่จะไปขอรับการแนะนำได้ สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมาก สิ่งเหล่านี้เป็นจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรม
          การให้ความรู้ทางกฎหมายเป็นเรื่องที่จำเป็น เราจึงได้สรรหาตัวแทนคนที่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆเพื่อเป็นการแนะนำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยในเบื้องต้นด้วยความมุ่งมั่นของกระทรวงยุติธรรม ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นตัวแทนของภาครัฐ ได้มีความรู้พื้นฐานมาอบรมเพื่อให้ได้รับรู้ข้อกฎหมายและนำไปให้ประชาชนได้รับรู้ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
          เรื่องนี้ กรมการปกครอง ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการฝึกอบรม กำนัน- ผู้ใหญ่บ้านโดยการให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ทางภาครัฐได้มอบให้กับประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ เช่น การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำทางอาญา แนะนำหน่วยงานต่างๆที่จะให้การช่วยเหลือประชาชน เช่น ศูนย์ดำรงธรรม ยุติธรรมจังหวัด เป็นต้น
          ในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการฝึกอบรมไปแล้วหลายจังหวัด และต้องทำทั่วประเทศและแม้กระบวนการนี้ อาจจะไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความรู้ทางกฎหมายและการเข้าถึงหรือรับทราบการได้รับสิทธิประโยชน์ได้ทุกคน แต่เราจะต้องให้ความรู้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ได้มีความรู้เป็นตัวแทนของภาครัฐเพื่อให้ความรู้กับประชาชนต่อไป
          ปัญหาทางด้านกฎหมาย ที่ผ่านมา
          พบว่าเมื่อเวลามีการขัดแย้งกันในทางการเมืองหรือในแนวทางของความคิดในประเด็นข้อกฎหมาย มีหลักในการประเมินตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เวลาจะมีการออกกฎหมายในแต่ละฉบับจะต้องมีการไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสียก่อน แม้ว่า ระหว่างออกกฎหมายมีผลกระทบกับสิทธิส่วนบุคคล กับสิทธิของสาธารณะ ว่าจำเป็นที่จะต้องเลือก จะเลือกเอาทางใดเป็นตัวตั้ง และสามารถตอบได้และกฎหมายที่ออกมาแล้วมีผลกระทบกับใคร และจะได้ใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่
          ตัวอย่างเช่น ความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดต่อสถาบัน ผมมีความคิดว่าเรื่องนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในบ้านเมืองคดีความผิดตามมาตรา 112 จะมีไม่มาก แต่เมื่อมีความขัดแย้งกัน ก็มักจะเอามาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวโทษกัน คดีที่เกิดขึ้นก็จะเกิดอย่างเป็นนัยดังนั้นจะเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีความสอดคล้องกับกฎหมายบางประเภท
          บางครั้งเราพบว่าความผิดนั้นไม่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นสถาบัน แต่ก็มักจะเอากฎหมายบางประการมาเป็นเครื่องมือในการห้ำหั่นกัน และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองสิ่งที่สำคัญในส่วนนี้คือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีความสามารถและกล้าหาญที่จะชี้ได้ว่าเข้าข่ายความผิดหมิ่นหรือไม่หมิ่น จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. องค์กรบริหารสำนักงานอัยการมาตรา 21 ชี้ว่า คดีที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สมควรสั่งไม่ฟ้อง อัยการจะมีความกล้าหาญนำมาตรา21 มาใช้หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนหรืออัยการจะส่งต่อไปยังศาล
          เรื่องนี้ผมถือเป็นความกล้าหาญใน
          วิชาชีพ และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผู้บังคับบัญชาต้องปกป้องลูกน้องที่มีความกล้าหาญในการใช้ดุลพินิจในสั่งคดีที่เห็นว่าเป็น
          เรื่องที่ไม่เป็นการเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ
          ผมคิดว่าหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีความกล้าหาญ และรับผิดชอบในวิชาชีพนั้น เช่นในกรณีที่จะสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งฟ้องในแต่ละเรื่องแต่ละคดี ต้องกล้าเลย ไม่ต้องกลัวใครจะติฉินนินทา ปัญหาสำคัญที่สุดในกระบวนการยุติธรรมหนีไม่พ้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะไม่มีคำกล่าวที่ว่าเป็น 2 มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม
          การพัฒนา และผลักดันให้ กระบวนการยุติธรรมไปสู่นโยบายประเทศไทย 4.0
          ผมมองว่า ในยุคปัจจุบันนี้ ระบบไอทีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จะไม่มีหน่วยงานใดที่ไม่เกี่ยวกับ ไอที เป็นสิ่งใกล้ตัวประชาชนส่วนใหญ่จะมีโทรศัพท์ ถือว่าประชาชนเหมือนมีคอมพิวเตอร์ ไอแพด ไอโพน ประจำตัวทุกวันนี้มันเป็นการใช้สมาร์ทโฟน แอพพลิเคชั่นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัวโทรศัพท์มือถือเป็นอัจฉริยะ มีแทบทุกอย่าง ในข้อเท็จจริง ประชาชนก็เหมือนมีคอมพิวเตอร์อยู่ในมือ
          แต่ปัญหาอยู่ที่การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการได้ ดังนั้นหน่วยงานของรัฐจึงมีความจำเป็นที่จะสามารถให้บริการประชาชนได้ในขณะที่เขาอยู่ที่บ้านในห้องนอนห้องน้ำ หรือที่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่ให้เขาเข้าถึงการใช้บริการในการรับรู้ข้อมูลต่างของกระบวนการยุติธรรมโดยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการเบิดบริการ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊กหรือแอพพลิเคชั่น หรืออะไรก็แล้วแต่ ยิ่งสามารถทำให้ประชาชนได้มีการเข้าถึงการร้องเรียน ร้องทุกข์ ปรึกษาข้อกฎหมาย และเข้าใช้บริการในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
          สิ่งหล่านี้จำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้ ที่สำคัญประชาชนที่จะร้องทุกข์จะต้องแสดงถึงความมีตัวตนของผู้ร้องเองเช่น ถ่ายบัตรประชาชน บอกเลขบัตรประชาชน หรืออื่นๆตามความจำเป็น เพื่อความชัดเจนและสะดวกในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ถ้าไม่มีการแสดงถึงความเป็นตัวตน รัฐจะไปดำเนินการได้อย่างไร
          นอกจากนี้ภารกิจที่ทางกระทรวงยุติธรรมจะต้องให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือของทางภาครัฐ ทางกระทรวงยุติธรรมได้มีกองทุนยุติธรรมไว้ให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ให้เงินในการช่วยเหลือในด้านคดีความ ออกค่าทนายความ สำหรับคนยากไร้ การให้เงินในการประกันตนของผู้ต้องหาในระหว่างการพิจารณาคดีผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีต่างๆไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มการเมือง
          "ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือผู้ที่มีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่ากฎหมายจะดีหรือมีความหนักแน่นเพียงใดก็ตามถ้าขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องมีการปล่อยปละละเลย ทำบ้างไม่ทำบ้าง ก็จะไม่มีประโยชน์"--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ