กก.ปฏิรูปตำรวจชุด"บุญสร้าง"โอดตกเป็นจำเลยสังคม
Source - เว็บไซต์เดลินิวส์ (Th)

Thursday, May 03, 2018  15:34
32133 XTHAI XPOL POL V%NETNEWS P%WDN

          กก.ปฏิรูปตำรวจชุด“บุญสร้าง”โอดตกเป็นจำเลยสังคม ชี้กับดักรธน.ทำคนยี้ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจ ภาคปชช.ย้ำงานสอบสวนต้องอิสระ ฝ่ายพรรคการเมืองไม่เอาโครงสร้างกองทัพครอบตำรวจ
          เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีการจัดเวทีสาธารณะโครงการแถลงแจงปฏิรูปหัวข้อ “การปฏิรูปตำรวจ” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมในเวที โดยนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตประธานอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า ก่อนมามีการทักท้วงว่าตนจะมาในฐานะจำเลยของทุกฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานอยู่ในสถานะจำเลยทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสื่อหรือฝ่ายเดียวกันเราก็อาจถูกขั้นถูกตำหนิ แต่ในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องมีการสื่อความกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งนี้แม้ข้อสรุปของคณะกรรมการฯ จะออกมาแล้ว แต่ตนในฐานะกรรมการและประธานอนุกรรมการฯ ก็ยังไม่พอใจในหลายเรื่อง เรื่องที่เราผลักดันไปแล้วก็อยากจะสานต่อหรือเรื่องที่แพ้ในที่เวทีคณะกรรมการฯ ก็อยากจะให้มีการทบทวน  ทั้งนี้ในการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นกับดักตามรัฐธรรมนูญอยู่ 2 ประเด็น คือ มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่มีนายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ซึ่งดูกระบวนการยุติธรมในภาพรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล แต่เรายังมีคณะกรรมการปฏิรูปฯ วงเล็บตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ที่เขียนไว้คือดูในองค์กรตำรวจ สิ่งที่นอกเหนือไปจากตำรวจในที่ประชุมก็จะมองว่าเรามีอำนาจหน้าที่หรือไม่ ยกตัวอย่างการถ่วงดุลการสั่งคดี ที่เกี่ยวเนื่องกับฝ่ายปกครอง อัยการ ตำรวจ ถือเป็นข้อจำกัดในการทำงาน
          นายมนุชญ์ กล่าวว่า นอกจากนั้นกับดักอีกเรื่องคือให้มีคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มีตัวแทนจากคนที่เป็นหรือเคยเป็นตำรวจจำนวนครึ่งหนึ่งเท่ากับตัวแทนจากฝ่ายที่ไม่ใช่ตำรวจ ลองนึกภาพดูว่าในที่ประชุมจะมีการถกเถียงกันขนาดไหนในเรื่องสำคัญๆ ระหว่างคนที่เป็นหรือไม่ได้เป็นตำรวจ ซึ่งที่ประชุมไม่ใช้วิธีการโหวต แต่จะใช้เวทีพิจารณาว่าใครค้านหรือสนับสนุนอย่างหนักแน่นในแต่ประเด็นซึ่งประธานในที่ประชุมก็จะพิจารณาไปตามแนวทางนั้น ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาทางฝ่ายตำรวจเขาก็ต้องออกมาปกป้องและให้ความเห็นอย่างหนักแน่น อีกฝ่ายก็ทำได้เพียงแค่รับฟังไว้ ตัวอย่างการย้ายตำรวจข้ามกองบัญชาการหรือข้ามห้วยเราเห็นว่าเป็นปัญหา ซึ่งเราเห็นว่าจะย้ายข้ามกันไม่ได้ ซึ่งเราเสนอในที่ประชุมเราก็แพ้ อีกเรื่องที่ต้องการผลักดันต่อคือระบบการร้องเรียนตำรวจในเรื่องที่กระทบสิทธิของประชาชน โดยให้มีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) เพื่อร้องเรียนการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบของตำรวจ นอกจากนั้นข้อสรุปที่สำคัญคือในส่วนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ให้เป็นอำนาจของ ก.ตร.ที่มี ผบ.ตร. เป็นประธาน เพื่อเสนอรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และห้ามโยกย้ายข้ามสายงานในตำแหน่งระดับสูง
          ด้านพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่า เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุดพล.อ. บุญสร้างมาเราก็ดีใจ จนกระทั่งมาถึงคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจพ.ศ….ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานซึ่งเราก็ดีใจและติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ชุดพล.อ.บุญสร้างบอกว่ารัฐธรรมนูญให้ทำแค่เรื่องของตำรวจ ไม่เกี่ยวกับพนักงานสอบสวน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการปฏิรูปตำรวจคือหัวหน้าสถานีต้องไม่เป็นพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องไม่ขึ้นกับหัวหน้าสถานี งานสืบสวนสอบสวนต้องแยกออกมาเป็นอิสระโดยพนักงานสอบสวนที่มีอาวุโสสูงสุดในสถานีนั้นๆ  ไม่เช่นนั้นหากสำนวนไม่ถูกใจก็สามารถแก้ไขกันได้
          ด้านนายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนไม่สบายใจเพราะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่การปฏิรูป เราเดินผิดทางและเรื่องปฏิรูปตำรวจเดินไปไม่ถึงไหน ประเด็นสำคัญซึ่งตนศึกษาเรื่องตำรวจในต่างประเทศ ข้อสรุปคือตำรวจมีอำนาจที่สุดในโลก ไม่เฉพาะประเทศเรา เพราะตำรวจสามารถจับนายกฯ หรือฆ่าคนเพื่อหยุดยั้งการฆ่าได้ มือหนึ่งถืออาวุธอีกมือถือกฎหมาย ตำรวจเป็นสิ่งที่ต้องมีเพราะหากไม่มีประชาชนจะถือปืนเอง อำนาจกระทำรุนแรงจึงฝากไว้ที่ตำรวจ แล้วตำรวจกับประชาชนอยู่อย่างไร เราพูดถึงกันแต่ตำแหน่ง ผบ.ตร แต่ตำรววจที่ประชาชนถูกใจที่สุดคือสายตรวจ การยึดอำนาจเมื่อปี 2475 เราให้ทหารออกแบบตำรวจ จึงเป็นอำนาจจากบนลงล่าง อธิบดีตำรวจเดิมสามารถเรียกทุกคดีมาดูได้ ตำรวจที่สำคัญที่สุดคือสายตรวจที่ออกไปหาประชาชน ตามด้วยตำรวจในโรงพัก ส่วนที่สำคัญน้อยที่สุดคือ อธิบดีตำรวจ หรือผบ.ตร. จึงเป็นการให้ความสำคัญผิดทิศผิดทาง แทนที่จะให้ความสำคัญกับตำรวจในโรงพักต่างๆ
          นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจ กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จหรือไม่ต้องเริ่มจากในสภา การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มจากปรัชญาว่าทำเพื่อใคร คำตอบคือทำเพื่อประชาชนทั้งประชาชนทั่วไปและประชาชนที่เป็นตำรวจ และต้องนำความรู้สึกเจ็บปวดจากตำรวจมาพูดกัน ที่สำคัญคือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมากเพราะการแทรกแซงทางการเมือง วงการตำรวจมีบ้านใหญ่อยู่ทุกจังหวัดซึ่งตำรวจต้องเขาไปหาทุกวัน การเมืองถ้าเข้าไปแทรกแซงตำรวจวามเป็นธรรมก็ไม่เกิด วันนี้ไม่มีฝ่ายการเมือง สถานการณ์เช่นนี้ตำรวจส่วนใหญ่เขาอยากปฏิรูป ตนมีข้อเสนอคือนักการเมืองอย่าเข้าไปตรงนี้
          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราใช้ตำรวจแบบรวมศูนย์มานานมาก จนเกิดค่านิยมวัฒนธรรมขึ้นในองค์กรตำรวจ งานตำรวจมีผลกระทบต่อประชาชนเต็มที่ อย่างไรก็ตามหากนายกฯ ที่รับผิดชอบประชาชนเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ แล้ว มีอาชญากรรมเต็มเมืองเพราะตำรวจทำงานไม่เต็มที่และนายกฯ ไม่สามารถสั่งการผบ.ตร. ได้ ก็จะเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพหากให้ตำรวจพิจารณาระดับนายพลกันเอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้กองทัพไทยแตกต่างจากกองทัพประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ขณะนี้เรากำลังจะทำให้กองทัพตำรวจเป็นแบบเดียวกับกองทัพไทย ทำอย่างไรจะเกิดการปฏิรูปจริงตนเห็นด้วยให้ตำรวจส่วนหนึ่งไปอยู่กับจังหวัด และเรื่องยศตำรวจก็ไม่ควรจะมีเหมือนทหาร ระบบของเราที่เอาตำรวจไปเรียนร่วมกับทหารก็เป็นสิ่งประหลาด คนละเรื่องคนละแนวทางแต่เอาไปเรียนโรงเรียนทหาร 2 ปีนั้นต้องเลิก ฝึกคนละประเภทเอาไปรวมได้อย่างไร ระบบบังคับบัญชาแบบกองทัพต้องเลิก ซึ่งไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปตำรวจจะไปได้แค่ไหน อยู่ที่ความจริงใจของผู้มีอำนาจ
          ด้านสาธิต ปุติเตชะ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเป็นหัวใจในการทำงานตอบสนองความพึงพอใจของประชาชน ส่วนงานป้องกันปราบปรามเป็นอีกเรื่อง นอกจากนั้นยังต้องมีการกระจายอำนาจ แต่หากให้ตำรวจไปอยู่ภายใต้ผู้ว่าฯ จะการันตีการปฏิบัติหนาที่ได้อย่างไร ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันเปนสิ่งคัญ ตนเห็นด้วยกับเรื่องโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนนายสิบตำรวจที่ต้องเปลี่ยนใหม่หมด ตำรวจต้องภูมิใจในการทำหน้าที่โดยไม่ยึดติดชั้นยศและต้องปลอดจากการใช้อำนาจเพื่อเรืองส่วนตัวและต้องปลอดการเมือง
          นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ตัวแทนพรรคเกรียน กล่าวว่า ปฏิรูปตำรวจต้องพูดถึงวัฒนธรรมทางอำนาจก่อน ต่อให้ไม่มีเงินแต่งตั้งโยกย้าย เขาก็ยังไปเรียกเก็บส่วยต่อไป จึงต้องมีการสร้างกระบวนการคานอำนาจในวัฒนธรรมของตำรวจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม การปฎิรูปตำรวจไม่ต้องรอเลือกตั้ง ทำได้เลยให้เป็นวาระที่ทำได้ตลอด และต้องเร่งทำ และ ต้องเปลี่ยนระบบส่วยให้เป็นระบบจ่ายตรงไปที่รัฐ.

          ที่มา: www.dailynews.co.th