เคาะปฏิรูปตำรวจท้องถิ่นคุมจราจร คืน'ภารกิจรถไฟ'
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Wednesday, May 09, 2018 06:52
13136 XTHAI XLOCAL DAS V%PAPERL P%KT
กรุงเทพธุรกิจ กรรมการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ สรุปโอนงานจราจรจากตำรวจให้ท้องถิ่นดูแล วางกรอบทำเสร็จใน 2-10 ปี คืนรถไฟให้ ร.ฟ.ท.ทำเอง "มีชัย" ยันตำรวจไม่ตกงาน ชี้กำลังพลขาดแคลน สามารถให้ทำงานส่วนอื่นได้ เผย 3 สัปดาห์ ลงมือเขียนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ
ความคืบหน้าในการปฏิรูปตำรวจ นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจ แห่งชาติ พ.ศ... เปิดเผยถึงการพิจารณาเนื้อหาการถ่ายโอนภารกิจออกจากงานตำรวจ ไปให้หน่วยงานท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นที่มีความพร้อมว่า ด้านงานจราจรทั่วประเทศ ที่ประชุมตกลงในหลักการ คือให้ถ่าย งานอำนวยความสะดวกด้านการจราจร งานกวดขันวินัยจราจร งานบังคับใช้กฎหมายจราจร เฉพาะความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไปยังหน่วยงานท้องถิ่น ภายใต้กรอบเวลา 2 ปี
ทั้งนี้ในส่วนของเมืองพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานครและเทศบาลนคร ต้องดำเนินการโอนภารกิจภายใน 2 ปี เทศบาลเมือง ให้โอนภารกิจภายใน 3 ปี ขณะที่ท้องถิ่นอื่นๆ ให้เป็นไปตามความสามารถ ภายใต้กรอบเวลาไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ภารกิจดังกล่าวยังคงให้อำนาจกับตำรวจที่จะดูแลบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายกรณีมีเหตุพิเศษ
สำหรับการโอนภารกิจของหน่วยงานตำรวจ ที่หมดความจำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ตำรวจรถไฟ ที่ช่วงเริ่มแรกเพื่อให้ตำรวจดูแลการก่อสร้างทางรถไฟ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ดูแลความปลอดภัยได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมเห็นชอบให้โอนภารกิจไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือหน่วยงานอื่นที่เป็นเจ้าของรถไฟ ขณะที่การทำคดีที่เกิดขึ้น บนขบวนรถไฟนั้น ยังเป็นภารกิจที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และสถานีตำรวจในพื้นที่ ต้องดำเนินการสอบสวนและตรวจสอบ
สำหรับการประชุมครั้งถัดไป ที่ประชุมมีมติให้เชิญส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาให้ข้อมูลก่อนพิจารณาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเพื่อวางหลักการก่อนนำไปพิจารณาเนื้อหาและบทบัญญัติใน ร่างกฎหมาย ทั้งนี้ในหลักการสำคัญที่ได้ข้อสรุป คือการโอนย้ายภารกิจส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจโดยตรง เช่น ตำรวจรถไฟ ไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง งานด้านการจราจรให้หน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดรับผิดชอบ
"โดยส่วนงานที่จะโอนนั้นจะเป็นเพียงภารกิจงานเท่านั้น และจะไม่เกี่ยวข้องกับอัตรากำลังของเจ้าพนักงาน แต่หากเจ้าพนักงานคนใดที่มีความชอบและรักในงานที่ทำมาแต่เดิม จะโอนย้ายตัวเองไปยังหน่วยงานใหม่ที่รับโอนก็ได้ ซึ่งตำรวจที่มีหน้าที่ในภารกิจ ซึ่งถูกโอนย้ายจะไม่ตกงานแน่นอน เพราะขณะนี้อัตรากำลังของตำรวจมีไม่เพียงพอ และหลายพื้นที่ขาดแคลน อีกทั้งเจ้าพนักงานถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ แม้จะไม่ได้ทำงานภายใต้สายงานที่เคยทำ แต่ยังใช้ความรู้และความสามารถไปทำงานในส่วนอื่นได้"
สำหรับการโอนย้ายงานตำรวจไปยังหน่วยงานอื่นหรือท้องถิ่นนั้น ได้หารือเบื้องต้นกับหน่วยงานท้องถิ่นแล้ว ทั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นการสร้างภาระงานเพิ่มเติมหรือภาระด้านงบประมาณให้กับหน่วยงานที่รับโอน อย่างไรก็ดีในแผนงานและส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายและการปฏิรูปตำรวจนั้น มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะแก้ไขกฎหมายกี่ฉบับ ขณะที่การทำเนื้อหาร่างพ.ร.ป.ตำรวจ คาดว่า อีก 2-3 สัปดาห์จะเริ่มเขียนได้
"ตามร่างกฎหมายตำรวจจะมีเนื้อหาที่เขียนถึงแผน ขั้นตอน กลไกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประเมินบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อน ลด ปลด ย้าย เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากหน่วยงาน ส่วนงาน ที่เกี่ยวข้องตั้งหน้าตั้งตาทำแล้วจะไม่มีใครแซงเขาไปได้ ส่วนประเด็นที่เป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยนั้น อาจจะให้อำนาจหน่วยงานไปออก อนุบัญญัติเพิ่มเติม"
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพงาน ของตำรวจนั้น เบื้องต้นได้พิจารณาส่วนที่จะลดภาระงานของตำรวจ เช่น กรณีที่บริษัทให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดให้แจ้งความกับตำรวจ เมื่อโทรศัพท์หรือซิมโทรศัพท์หาย ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น
นอกจากนั้นจะลดภาระของประชาชน ต่อการแจ้งความเพื่อทำคดี ที่เดิมกำหนดให้ต้องแจ้งสถานีตำรวจในพื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ต่อไปจะกำหนดให้สามารถแจ้งความในท้องที่ใดก็ได้ แต่หากคดีมีรายละเอียดที่ซับซ้อน อาจประสานยังพื้นที่เกิดเหตุได้ เป็นต้น ขณะที่การสืบสวน สอบสวนและปราบปราม นั้นได้ข้อสรุป คือ จะแยกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบปราบปรามที่กำหนดให้มีงานสืบสวนเฉพาะและระบบสืบสวนและสอบสวนที่ต้องปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ