รายงานพิเศษ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Thursday, June 07, 2018  19:46
9040 XTHAI XPOL XGOV XDEFEN POL V%WIREL P%PRD

          เมื่อวานนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เปิดงาน Future Thailand ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมทั้งโชว์แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2580 ซึ่งเสร็จเป็นที่เรียบร้อย พร้อมนำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์ชาติเล่มนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจอะไรบ้าง และประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
          แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) เกิดขึ้นจากปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการบริหารประเทศของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำก็มักจะนำเอานโยบายที่หาเสียงไว้มาขับเคลื่อนทันที โดยที่ไม่สนนโยบายและโครงการที่รัฐบาลก่อนหน้าทำไว้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยยังด้อยศักยภาพ ไม่สามารถก้าวปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ตามคำอธิบายของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  “ผมขอบอกพี่น้องประชาชนเลยนะครับว่า ที่ทำให้ประเทศไทย ตามเพื่อนไม่ทันในช่วงที่ผ่านมาก็เพราะว่าเราเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยไป แล้วทุกครั้งที่รัฐบาลใหม่มาก็จะมีแผนของตนเอง แผนเก่าก็ยกทิ้งไป โครงการดีๆ ที่มีอยู่แล้วก็ถูกยกเลิก ประเทศไทยเลยไปต่อไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราหาคำตอบได้แล้ว แต่รัฐบาลใหม่ก็มายกเลิกไป เราก็เลยอยากทำแผนต่อเนื่องโครงกรดีๆ เช่น แผนเรื่องน้ำ คือสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมาหลาย 10 ปีแล้ว เราก็กำหนดไปว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำให้ประชาชนให้ได้ รัฐบาลไหนมา รัฐบาลไหนไปก็ต้องตอบพี่น้องประชาชนในเรื่องดังกล่าว”
          สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ คือ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 – 2580 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้จะกำหนดกรอบไว้อย่างกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กับแผนปฏิรูปประเทศ และให้สามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบัน หลังจากนี้แผนดังกล่าวจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป เมื่อแผนนี้ประกาศใช้แล้วประชาชนจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนประเทศด้วย “เมื่อทำแผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำแผนสู่การปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองภายใต้การปฏิรูปประเทศเหล่านี้ ยกตัวอย่าง เราได้รับเสียงเรียกร้องจากพี่น้องประชาชนเรื่องการมีป่าชุมชน พี่น้องประชาชนประมาณ 20,000 หมู่บ้าน 3 ล้านครัวเรือน 12 ล้านคน มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีป่าของตนเอง ป่าที่ใกล้ชุมชนใกล้หมู่บ้านของเขา เพราะว่าในปัจจุบันป่ามันหมดไปแล้ว เขาเลยขอมาว่าขอกฎหมายฉบับหนึ่งที่ให้อำนาจ สามารถทำป่ารอบๆ ชุมชนได้ เราเพิ่งออกกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ครม. มาครับ แต่ว่านั่นไม่จบแค่นั้น นี่คือร่างกฎหมาย แต่ที่สำคัญกว่าร่างกฎหมายคือว่า ให้พี่น้องประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางว่าจะใช้ป่าอย่างไรบ้าง”
          แม้ยุทธศาสตร์ชาตินี้จะมีผลผูกพันให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะต้องปฏิบัติตาม  แต่ก็เป็นการปฏิบัติตามที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของภาคประชาชนและหากรัฐบาลใหม่มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนประเทศก็สามารถทำควบคู่ไปได้ ซึ่งผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน ไม่ทำแล้วคว้าน้ำเหลวเหมือนหลายๆ โครงการที่ยังคงอยู่ในความหวังลมๆ แล้งๆ ของคนไทย

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th