จ่อถกร่างยุทธศาสตร์ชาตินับถอยหลังเร่งจุดไฟปฏิรูป
Source - ไทยโพสต์ (Th)

Friday, June 15, 2018  02:40
43297 XTHAI XGEN XOTHER XFRONT DAS V%PAPERL P%TPD

          อู่ทองใน * สนช.จ่อถกร่างยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน คาดศึกษาเสร็จเข้าที่ประชุมอีกครั้ง 5-6 ก.ค.นี้ ขณะที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งบุกรัฐสภาขวางยุทธศาสตร์ที่ไม่ยึดโยงประชาชน แต่ผูกพันรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง "กอบศักดิ์" จุดไฟปฏิรูปช่วง 8 เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง จ่อตั้ง 5 อนุกรรมการขับเคลื่อน ชวน ปชช.ติดแฮชแท็ก "#reform together# สร้างไทยไปด้วยกัน"
          ที่รัฐสภา มีรายงานว่า ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธ ศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ตามมาตรา 28 (9) แห่ง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งในร่างดังกล่าวมีส่วนที่สำคัญคือ ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ ที่แบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ ชาติด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
          ทั้งนี้ ในการประชุม สนช.จะรับร่างดังกล่าวเพื่อไปศึกษาและตั้งข้อสังเกตภายใน 30 วัน และนำกลับมาบรรจุเป็นระเบียบวาระให้ สนช.เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 5 หรือ 6 ก.ค. อย่างไรก็ตาม ร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงหัวข้อเท่านั้น ส่วนรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร ต้องกำหนดในแผนแม่บท โดยต้องร่างใหม่ใช้เวลา 2 เดือน จากนั้นจึงทำเป็นแผนปฏิบัติการให้แต่ละกระทรวงปฏิบัติ ซึ่งหากไม่ทำตามรัฐธรรมนูญก็กำหนดโทษไว้
          ช่วงเช้าวันที่ 14 มิ.ย. ที่บริเวณหน้ารัฐสภา กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา เดินทางมาคัดค้านการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติของ สนช. ที่จะมีการพิจารณาในวันศุกรนี้ พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์ขอให้ สนช.พึงตระหนักว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยึดโยงประชาชน แต่กลับมาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีผลผูกพันรัฐบาลพลเรือนที่จะมาจากการเลือกตั้งในอนาคตให้ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งถือว่าไม่ชอบธรรม  นอกจากนี้เราขอให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และหยุดใช้คำสั่ง คสช.ทุกกรณี รวมถึงปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศที่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง
          "การคัดค้านร่างยุทธศาสตร์ชาติของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันนี้ อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเราได้คัดค้านอย่างเต็มที่แล้ว และสังคมต้องไม่หยุดที่จะสื่อสารความไม่ชอบของยุทธศาสตร์นี้ เพื่อที่สุดท้ายจะได้อ่อนกำลัง และถูกแก้ไขหรือยกเลิกต่อไปเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง" น.ส.ณัฏฐากล่าว
          ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวในงาน "MEET the PRESS" หัวข้อ "ปฏิรูปแนวใหม่ ร่วมคิดร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน" ว่า การปฏิรูปที่สำคัญคือทุกคนร่วมกันขับเคลื่อน "สร้างไทยไปด้วยกัน เราอยากให้ 8 เดือนที่เหลือของรัฐบาล เป็นการจุดไฟสร้างประเทศไทยก่อนจะมีการเลือกตั้ง ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เรื่องของการเลือกตั้ง การเมือง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด ซึ่งขณะนี้คนยังไม่ทันเฉลียวใจว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่กระบวนการจะแตกต่างจากเดิม เช่น การเลือกแบบ 1 คน 1 โหวต เป็นหลักการปฏิรูปการเมืองไทยที่ไม่เคยทำมาก่อน ส่วนที่บอกว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แค่เป็นการปั่นกระแสการเมืองมากกว่า แต่ความจริงแล้วการปฏิรูปต้องทำต่อเนื่องและต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่อย่างนั้นเสียดายมาก ปัญหาในอดีตอาจกลับมาก็ได้
          นายกอบศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการเดินหน้าปฏิรูปในช่วง 8 เดือนสุดท้ายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีกำชับอยากให้ปฏิรูปที่ประชาชนอยากได้มี 6 ด้านคือ 1.แก้จน 2.ความเหลื่อมล้ำ 3.แก้โกง 4.การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย 5.การปฏิรูปราชการ และ 6.การสร้างอนาคต เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประชาชน ขณะที่การสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากมี 15 โครงการที่ทำทันในรัฐบาลนี้ ได้แก่ กองทุนพัฒนาผู้นำชุมชน สภาประชารัฐ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจชุมชน พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม ธนาคารต้นไม้ ธนาคารปูม้า พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม้มีค่าตัดได้ โครงการ 1 ไร่ 1 แสน กองทุนยุติธรรม ธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.ขายฝาก โครงการผู้ป่วยติดเตียง โครงการยาเพื่อประชาชน ทั้งหมดถือว่าสำเร็จแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 เดือนข้างหน้าเป็นของขวัญประชาชน
          นอกจากนี้ จะมีโครงการการปฏิรูปกฎหมายหรือกิโยตินกฎหมาย เพื่อสะสางกฎหมายให้ทันต่อโลก โดยจะเริ่มคิกออฟเดือนหน้า และจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ดำเนินการ และด้วยเวลาที่เหลือ 8 เดือนมันสั้น กฎหมายเข้าไปที่ สนช. ต้องมีกระบวนการดูแลไม่ให้กฎหมายถูกทิ้งขว้าง โดยจะมีระบบฟาสต์เทร็ก
          ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องของการปฏิ รูป จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 5 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน ประกอบด้วย 1.อนุ กรรมการประสานงาน 2.อนุกรรมการปฏิรูป กระทรวง ที่เร่งดำเนินการปฏิรูปขณะนี้ อาทิ กระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม กระ ทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับให้เดินดีขึ้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3.อนุ กรรมการด้านกฎหมาย 4.อนุกรรมการพีอาร์ สร้างการรับรู้ มีส่วนร่วมลงสู่ประชาชน และ 5.อนุกรรมการสื่อมวลชน เพื่อร่าง พ.ร.บ.จริย ธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน และกลางเดือน มิ.ย.ทั้ง 20 กระทรวงต้องส่งแผนปฏิรูปกระทรวง โดยรายการเดินหน้าประเทศไทย จากนี้ทุกวันเสาร์ตั้งแต่เดือน ก.ค.จะเป็นราย การพิเศษ ในหัวข้อ "ร่วมคิดร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน" ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ
          นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการปฏิรูปตำรวจนั้น ทางนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะดูเรื่องของโครงสร้างที่จะเขียนเป็นกฎหมาย ขณะที่การปฏิรูปจะมีเรื่องของการรวมศูนย์ที่เกี่ยวกับการร้องเรียนทั้งหมด จัดทำเป็นศูนย์ 191 และจะมีทนายความทุกสถานีตำรวจ ส่วนเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ ในวันที่ 15 มิ.ย. สนช.จะพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เมื่อเรียบร้อยแล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป และคาดว่าประกาศใช้ได้ในต้นเดือน ต.ค. เพื่อให้การจัดทำงบประมาณจากนี้ต่อไปเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ
          "ต่อไปการปฏิรูปจะเปิดกว้างมากขึ้น ให้ประชาชน เยาวชน เสนอแนวคิดการปฏิรูป โดยกำหนดเป็นปฏิทินจัดกิจกรรมในเวทีต่างๆ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือน ก.ย. โดยเป็นการเสนอความคิดเห็นที่ให้มีการติดแฮชแท็ก "#reform together# สร้างไทยไปด้วยกัน" โดยนายกอบศักดิ์ได้ทำมือเป็นสัญลักษณ์ติดแฮชแท็กด้วย
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีใครมาจีบเป็นรัฐมนตรีสมัยหน้าหรือยัง และหาก พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกฯ ต่อ สนใจจะร่วมงานต่อด้วยหรือไม่ นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ต้องถามนายกฯ สนใจให้ตนไปทำงานร่วมด้วยหรือไม่ แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะพูด  หัวใจสำคัญวันนี้คือเรามีเวลาเหลือแค่ 6-8 เดือน เป็นหน้าต่างสุดท้าย ที่ตนมีความหวังมาก อย่างไรก็ตามตนไม่กดดัน ทำงานอย่างมีความสุข.--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์