FONTSIZE
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกรัฐสภาไทยเข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) จัดโดยสหภาพรัฐสภา (IPU) ร่วมกับ SDSN

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 8 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2563

       เมื่อวันอังคารที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. สหภาพรัฐสภา (IPU) 
ร่วมกับ องค์กรเครือข่ายไขปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions 
Network: SDSN) จัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ (Webinar) สำหรับสมาชิกรัฐสภา ในหัวข้อ 
โควิด-๑๙ และความเท่าเทียมระหว่างเพศ (COVID-19 and Gender Equality) และได้เชิญ
สมาชิกรัฐสภาทั่วโลกเข้าร่วม โดยรัฐสภาไทยมีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวรวม 
๕ คน ตามคำเชิญของ IPU ได้แก่ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ
การต่างประเทศ วุฒิสภา (ในฐานะกรรมการบริหาร IPU) นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิก
วุฒิสภา (ในฐานะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา 
(ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญของ IPU ว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคง
ระหว่างประเทศ) นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ในฐานะกรรมาธิการ
ในคณะกรรมาธิการสามัญของ IPU ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน) และพลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช 
สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยใน IPU โดยการสัมมนาในครั้งนี้ 
ถือเป็นการสัมมนา ครั้งที่ ๒ จากทั้งหมด ๔ ครั้ง ในชุดการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “COVID-19 
response and the SDGs” ต่อเนื่องจากครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๖๓
       การสัมมนาออนไลน์ดังกล่าวได้มีการนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยผู้อภิปรายนำ 
ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นสตรี อาทิ Ms. Silvana Koch-Merin 
ประธานองค์กรผู้นำสตรีด้านการเมือง (WPL) Ms. Maria Fernanda Espinosa อดีตประธานสมัชชา
สหประชาชาติ Ms. Pumzile Mlambo-Ngcuka ผู้อำนวยการบริหารองค์การเพื่อสตรีแห่ง
สหประชาชาติ (UN Women) และ Ms. Gabriela Cuevas Barron ประธานสหภาพรัฐสภา โดย
ที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 
(COVID-19) หรือ โควิด-๑๙ ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่าไม่เลือกเพศ แต่แท้จริงแล้วส่งผลกระทบต่อ
ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน และภาระงานบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 
อัตราที่ผู้หญิงซึ่งตกเป็นเหยื่อความรุนแรงภายในครอบครัวทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างช่วงที่มี
การห้ามออกนอกเคหสถานหรือทำงานจากที่พักอาศัย รวมถึง บุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงาน
แนวหน้าในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ตลอดจน ผู้หญิงที่ในกลุ่มเปราะบาง 
อาทิ ผู้หญิงพิการ สตรีผู้ใช้แรงงาน ผู้หญิงที่เป็นผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็น
พิเศษ โดยที่ประชุมต่างเห็นพ้องว่าความเหลื่อมล้ำคือปัญหาใหญ่ที่สุดที่วิกฤติโควิด-๑๙ ซ้ำเติม
ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และโลกต้องการผู้นำที่เป็นสตรีมากขึ้น อันจะเห็นได้จากประเทศที่มีผู้นำ
ประเทศเป็นหญิง ที่มีผลงานการรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ที่ค่อนข้างดีโดยเปรียบเทียบ
       การสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดี ที่สมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้กำหนดนโยบาย พร้อมด้วย
ผู้เชี่ยวชาญจะได้มาสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี 
ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น
ในบริบทของโลกหลังการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-๑๙ หรือ “Building Back Better” โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งการผลักดันให้สตรีได้เพิ่มบทบาททางการเมืองและอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจมาก
ยิ่งขึ้น เพื่อสร้างนโยบายทางการเมือง และการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี
ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
       ในการนี้ ในช่วงท้ายของการสัมมนา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการ
สหภาพสตรีได้ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่าวิกฤติระดับโลกครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบ
มากมายเกือบทุกประเทศ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผบกระทบ แต่ในวิกฤตินี้ก็เป็น
โอกาสที่ได้เห็นพลังทางสังคมของไทย ไทยเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีนที่พบผู้ติดเชื้อตั้งแต่
เดือนมกราคม แต่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นที่น่าพอใจโดยประเทศไทย
ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศถึงความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่ง
ความสำเร็จนี้ประชาชนไทยมีส่วนอย่างมากในการให้ความร่วมมือในมาตราการต่างๆที่รัฐบาลกำหนด
และที่สำคัญยิ่งคือความทุ่มเททำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงาน
อย่างหนักของอาสาสมัครสาธารณสุข ระดับหมู่บ้าน ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นผู้หญิง และได้กล่าวถึงกิจกรรม
ของชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ที่ได้มอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19ในช่วงเดือน 
พ.ค. ที่ผ่านมาด้วย นอกจากนั้น นางสุวรรณีฯ ได้เสนอให้ IPU รวบรวม Best Practice จากวิกฤติครั้งนี้
ที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในมิติต่างๆเพื่อเป็นข้อมูลต่อไป 
       จากนั้น นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ
สามัญว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของ IPU ได้ร่วมอภิปราย โดยมีสาระสำคัญว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญ
กับความเสมอภาคระหว่างเพศมาโดยตลอด โดยมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ 
เป็นหมุดหมายสำคัญ รวมถึง มีความก้าวหน้าที่ไปไกลกว่าความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย ได้แก่ 
การเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่กำลัง
จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา อาทิ การแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานได้ 
กฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพ เป็นต้น โดยในบริบทของโลกหลังโควิด-๑๙ ที่ผู้คนต่าง
เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการทำงาน จึงเป็นโอกาสอันดีในการหล่อหลอมกล่อมเกลาวิธีคิด 
กระบวนทัศน์ และทัศนคติใหม่ หรือ “Next Normal Attitude” เกี่ยวกับความหลากหลายและความ
เท่าเทียมในทุกมิติ ทั้งในด้านเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และฐานะทางเศรษฐกิจ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่
ได้ซึมซับผ่านหลักสูตรการศึกษาโดยเฉพาะตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา

         เครดิต : ภาพและข่าว โดยสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการ
สภาผู้แทนราษฎร

download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562