ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ >> ข่าวร้องทุกข์
เตือนภัยช็อปปิ้งออนไลน์เจาะลึกกลโกงมิจฉาชีพไฮเทค

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 14 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2558
เตือนภัยช็อปปิ้งออนไลน์เจาะลึกกลโกงมิจฉาชีพไฮเทค
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th)

Wednesday, October 14, 2015  05:38
38868 XTHAI XCORP XITBUS DAS V%PAPERL P%PTK

          ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นรวดเร็ว ไม่มีทีท่าว่าจะลดความร้อนแรงลง สินค้าและบริการหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น
          จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ มือถือในประเทศไทยของ "PayPal" พบว่า ในปี 2553 ตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์มีมูลค่า 14.7 พันล้านบาท มีผู้ซื้อสินค้าออนไลน์คนไทยถึง 2.5 ล้านคน (อายุ 18 ปีขึ้นไป) มียอดใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อคน 13,181 บาท 71% ของยอดรวมมาจากกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง
          "ธนคินทร์ ศิริดุสิตวงศ์" กรรมการ ผู้จัดการส่วนการตลาด บริษัท โอ้โห บายปูนิ่ม จำกัด กล่าวว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยมีกว่า 34 ล้านคน ทำให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเพิ่มขึ้นและการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซใน 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์กลายเป็นช่องทางที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้หลอกลวง ซึ่งบริษัททำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักพบลูกค้าโดนหลอกให้โอนเงินกว่า 100 ราย/เดือน เป็นความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท/เดือน
          วิธีการโกงมีความหลากหลาย คือ 1.สวมรอยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยเปิดหน้าเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา เพราะ ทำง่ายเปิดใหม่ได้ตลอดเวลา 2.อาศัยความไม่ละเอียดของลูกค้าให้โอนเงินด้วยเลขบัญชีหรือบัญชีที่เป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะสับสนและโดนหลอกลวง 3.จำหน่ายสินค้าปลอมโดยทำสินค้าเลียนแบบ หรือบางครั้งนำสินค้าเก่ามายัดไส้สินค้าใหม่แล้วจำหน่ายในราคาถูกลง
          4.ใช้เพจปลอมรุกเข้าหาลูกค้า โดยมิจฉาชีพจะไป "ส่อง" ตามเฟซบุ๊กที่ลูกค้าเคยให้ความสนใจ เมื่อเห็นว่าลูกค้าสนใจสินค้าหรือบริการก็จะทำทีเข้าไปเสนอขายสินค้าราคาถูกหรือให้โปรโมชั่น และหลอกให้โอน ซึ่งรูปแบบนี้มิจฉาชีพนิยมมาก
          "สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ทั้งกับบริษัทเองและตลาดรวม เพราะกลุ่มลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างจังหวัดถึง 70% ฉะนั้นวิธีชำระค่าสินค้าส่วนใหญ่จึงชำระผ่านการโอนเงินจากตู้เอทีเอ็มหรือธนาคารเท่านั้น มีเพียง 20-30% ชำระผ่านบัตรเครดิต บริษัทจึงมีมาตรการเบื้องต้นในการช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้โดนหลอกลวง ทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และแนะนำลูกค้าที่โดนหลอกไปแจ้งความดำเนินคดี ที่ผ่านมา ผู้เสียหายมักไม่ค่อยแจ้งความ มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เราจึงต้องพยายามบอกให้ลูกค้าไปแจ้งความให้มาก ๆ และรวบรวมใบแจ้งความให้ได้มากที่สุดอย่างน้อย 10 ใบ เพื่อให้คดีเหล่านี้กลายเป็นคดีฉ้อโกง"
          ที่ผ่านมาบริษัทพบกรณีลูกค้าโดนโกงแทบทุกวัน ทำให้ต้องชดเชยลูกค้าเพื่อให้ เชื่อมั่นในบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่โดยเฉลี่ยมีประมาณ 1 หมื่นราย/เดือน มี โอกาสโดนโกงมากที่สุด บริษัทจึงพยายามร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกันจับตากลุ่มมิจฉาชีพ แต่ยังไม่คืบหน้า ในการจัดการมากนัก
          และสิ่งที่หวังว่าจะทำให้เกิดขึ้น คือ การสร้างฐานข้อมูลกลางสำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์หรือบัญชีของกลุ่มมิจฉาชีพที่เคยมีการร้องเรียนหรือแจ้งความเพื่อไม่ให้ลูกค้าตกเป็นเหยื่อ ที่ผ่านมาผู้ค้าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ทุกรายล้วนเคยตกเป็นเครื่องมือในการหลอกผู้บริโภคของกลุ่มมิจฉาชีพทั้งสิ้น
          "อยากฝากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาดูแล เพราะเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ ยุคดิจิทัล ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมโดยเฉพาะในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ คนที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ต้องมีความระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบชื่อ และเลขที่บัญชีที่จะโอนเงินว่าต้องโอนเข้าบริษัทหรือโอนให้ตัวแทนจำหน่าย อย่าเห็นแก่การลดราคาถูกเกินความเป็นจริง เพราะมีโอกาสโดนหลอกได้ง่าย"
          อีกทั้งลูกค้ายังมีปัญหาเรื่องการแจ้งความด้วย เพราะเจ้าหน้าที่มักสอบถามว่าเหตุเกิดที่ไหน ต้องไปแจ้งที่นั่น ทั้งที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดบนโลกออนไลน์ ขณะที่ ประชาชนก็ไม่มีความรู้ว่าต้องไปติดต่อที่ไหน ส่วนบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าก็ไปแจ้งความไม่ได้เพราะตำรวจบอกว่าไม่ได้เป็นเจ้าทุกข์ทั้งที่บริษัทคือผู้เสียโอกาส และเสียประโยชน์จากการที่ลูกค้าโดนหลอกลวง
          "ธนคินทร์" กล่าวถึงธุรกิจของ "โอ้โห บายปูนิ่ม" ว่า เปิดมา 4 ปี ขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เน้นช่องทางออนไลน์ผ่าน "เฟซบุ๊ก" ราคาสินค้า 1,000-4,000 บาท มีฐานลูกค้าเกือบ 1 ล้านราย มีรายได้เฉลี่ยเดือนละเกือบ 100 ล้านบาท หรือ 60,000-70,000 กล่อง/เดือน โต 5-10% /เดือน คาดว่าสิ้นปีจะถึง 1,000 ล้านบาท จากปี 2557 มีรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท
          "เราลงทุนระบบหลังบ้านเกี่ยวกับการจัดการสินค้าเมื่อต้นปีที่แล้วกว่า 10 ล้านบาท ซื้อโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กอีกปีละ 50-60 ล้านบาท ที่ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจาก 1.มีการรับประกันสินค้า 2.ระบบจัดส่งสินค้าตรวจสอบได้ว่าอยู่ที่ใด และ 3.การบริการลูกค้า ซึ่งจากสภาพเศรษฐกิจคาดว่า การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ปีนี้อาจมีมูลค่าลดลง สังเกตจากยอดการ ซื้อขาย/ใบเสร็จอยู่ที่ 1,500-1,700 บาท จากเดิมเกือบ 3,000 บาท"--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 - 18 ต.ค. 2558--