กรมที่ดินปราบโกง
Source - เว็บไซต์ไทยรัฐ (Th)

Wednesday, July 27, 2016  05:01
34671 XTHAI XPOL XCLUSIVE POLCOL V%NETNEWS P%WTR

          ในบางครั้งบางคราวที่ได้มีโอกาสเสวนากับนายอภินันท์ ซื่อ-ธานุวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน จะสามารถสัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกระทำที่มิชอบเข้าข่ายการทุจริตในกรมที่ดิน
          กรมที่ดินสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภาระหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 รวมทั้งการจดทะเบียนและนิติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อที่ดิน การจำนอง การเช่า การจำยอม และอื่นๆ ตลอดจนการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 หรือการรังวัดที่ดินเพื่อตรวจสอบแนวเขตและจำนวนเนื้อที่
          ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามภาระ หน้าที่ดังกล่าวนั้น เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจะมายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินซึ่งต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอนำมาแสดงว่าถูกต้องเรียบร้อยหรือไม่ ถ้าครบถ้วน ถูกต้องแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ตามความประสงค์ของผู้ขอ
          แต่โดยที่ในการให้บริการดังกล่าว บางโอกาสมีบุคคลผู้ไม่สุจริตได้มาติดต่อราชการและกระทำความผิดอาญาต่อกรมที่ดิน หรือร่วมกับเจ้าหน้าที่ หรือสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการกระทำความผิดอาญาต่อกรมที่ดิน
          ตัวอย่างเช่น การปลอมแปลงเอกสาร การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำให้เสียทรัพย์หรือการบุกรุกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มีการออกเอกสารสิทธิไปโดยมิชอบ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไปโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากต้องเข้มงวดกวดขันปราบปรามพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินที่กระทำการทุจริตแล้ว จำเป็นต้องเอาผิดกับ บุคคลภายนอก ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย
          ดังนั้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 กรมที่ดินจึงได้วางระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญากับบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญา พ.ศ.2559 ให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติเพื่อปราบโกงจากบุคคลภายนอก โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจท้องที่อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
          1.ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รู้การกระทำความผิดนั้น และให้สอบสวนรวบรวมหลักฐานให้เสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันตั้งกรรมการ ในส่วนของสำนักงานที่ดินอำเภอ ให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานแล้วเสนอนายอำเภอพิจารณาสั่งการภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าวเช่นกัน
          2. เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุภายในสามวัน นับแต่วันที่ได้สรุปผลการพิจารณา เพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษ
          3. แต่ถ้าการกระทำความผิดอาญานั้น มีความชัดแจ้งว่าเป็นความผิดฐานใดพร้อมทั้งมีหลักฐาน ก็ให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่รู้การกระทำความผิด โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการ
          4. เมื่อได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ให้รายงานกรมที่ดินเพื่อติดตามการดำเนินคดีจนถึงที่สุด
          การมีระเบียบเช่นนี้ ถือว่ากรมที่ดินมีนโยบายป้องปรามบุคคลภายนอกไม่ให้ไปชักชวนเจ้าหน้าที่ทำกิจการใดๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อประเทศชาติ และสิทธิของผู้อื่นอย่างมากมาย และหากกรมที่ดินสามารถดูแลกวดขันให้เจ้าหน้าที่ของตนเองประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว เชื่อได้ว่าประชาชนก็จะได้รับการบริการที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
          ระเบียบปราบโกงของกรมที่ดินฉบับนี้จึงมีประโยชน์สำหรับคนสุจริตโดยแท้.
          “ซี.12”

          ที่มา: www.thairath.co.th