ส่องผลงานเด่น'สนช.'สาง4พันปัญหา-ผลักดันกฎหมาย
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Tuesday, January 05, 2016  05:30
43339 XTHAI XPOL DAS V%PAPERL P%KT

          ดารากร วงศ์ประไพ
          ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ภารกิจของ "สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ(สนช.)" 1ในแม่น้ำ 5 สาย ภายใต้การนำของ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ยังคงเดินหน้าในการทำหน้าที่เป็นทั้งวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา ซึ่งมีหน้าที่หลัก ในการออกกฎหมาย การรับทราบรายงาน การตั้งกระทู้ถามในประเด็นความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง  ซึ่งนอกจากหน้าที่ในสภาแล้วอีกหนึ่งภารกิจที่สนช.ยังคงดำเนินการควบคู่กันไปด้วยนั่นคือ การลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอ รวมถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การออกกฎหมาย การปฏิรูปในด้านต่างๆ รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อมาเป็นกติกาในการปกครองประเทศ สำหรับภาพรวมการลงพื้นที่ตลอดปีที่ผ่านมานั้น "นายพีระศักดิ์ พอจิต"  รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะประธานโครงการสนช.พบประชาชนกล่าวว่า จากการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการโครงการสนช.พบประชาชนซึ่งเราก็ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งหมด 12 ครั้ง โดยเน้นการให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันเราใช้ลักษณะการทำงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะเป็นสะพานให้ทางจังหวัดที่เราไปได้รู้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเราเป็นอย่างไร บทบาทหน้าที่ของแม่น้ำ 5 สายเป็นอย่างไรบ้าง
          โดยเฉพาะของสนช.ว่ามีผลงานอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นสะพานที่จะเชื่อมการแก้ไขปัญหาของทุกจังหวัดที่เราไป ที่อาจจะต้องอาศัยการประสานงานระดับต่างกรมต่างกระทรวง ระดับนโยบาย หรือการช่วยแนะนำในเรื่องการจัดทำงบประมาณ เพราะสนช.เป็นผู้พิจารณางบประมาณ ซึ่งจุดตรงนี้เราก็จะไปพบหัวหน้าส่วนราชการผู้นำภาคเอกชน
          นายพีระศักดิ์ ยังกล่าวว่า อีกงานหนึ่งที่เราเน้นทำคือการไปพบปะกับพี่น้องประชาชนโดยตรงซึ่งมีอยู่หลายที่หลายแห่ง ว่าพี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องอะไรบ้าง  เราก็เหมือนทำหน้าที่เป็นส.ส.,ส.ว.ซึ่งเราก็จะได้รับความร่วมมือซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นทางจังหวัดหรือท้องถิ่นที่ได้จัดเวที และสถานที่ให้เราไปพบกับปัญหาจริงๆเช่น ปัญหาเรื่องชายแดนเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เราก็ได้พบกับพี่น้องไป 17,000-18,000 คน ขณะเดียวกันก็มีการถ่ายทอดผ่านวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในทุกๆ ที่ที่เราไป ซึ่งก็จะเป็นสื่อหนึ่งที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้รู้จักกับสนช.
          :สาง 4 พันปัญหาประชาชน
          "ปัญหาที่ประชาชนเสนอมาซึ่งเป็นปัญหาจากการพบปะพี่น้องประชาชนก็มีอยู่กว่า 5,000 ปัญหาซึ่งเราก็ได้แก้ไขไปแล้ว เกือบ 4,000 ปัญหา โดยการแก้ไขหรือประสานงานให้ และมีการติดตามอยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราเน้นตามปกติ เราไม่ใช่นักการเมือง เราไม่ต้องการไปสร้างภาพ ขณะเดียวกันเราไม่มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล การประสานงานอะไรก็จะสะดวกง่ายและขึ้น"เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่าโครงการนี้จะได้รับความสนใจจากรัฐบาลพอสมควรเห็นได้จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีการพูดในที่ประชุมว่าสนช.จะต้องทำหน้าที่ เป็นตัวประสาน รองประธานสนช. ระบุว่า จากสื่อ หรือจากการประสานงานที่เราประสานงานกับ ไปทางรัฐบาล และก่อนที่เราจะไปเราก็แจ้งรัฐบาล ทุกครั้งว่าเราจะไปที่ไหนอย่างไร ถ้ารัฐบาล
          อยากจะให้ไปสื่อสารอย่างไรเราก็ได้แจ้งไปทุกครั้ง
          :จับมือกรธ.-สปท.ลงพื้นที่
          นายพีระศักดิ์ ยังกล่าวว่า ช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีแม่น้ำ 2 สายเข้าไปร่วมด้วยเพื่อที่จะได้ถือโอกาสไปในคราวเดียวกัน ซึ่งมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และฝ่ายรัฐบาลที่ส่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีไปร่วม  "ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาในส่วนของสนช.นั้น เห็นว่าโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่ทำให้ได้สัมผัสกับพี่น้องประชาชน และท่านสมาชิกก็ออกไปร่วมจำนวนมาก ก็จะเป็นประโยชน์ในการที่จะนำเข้าสู่กระบวนการของกรรมาธิการ(กมธ.) และเพื่อความละเอียดรอบคอบในการตรากฎหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน"
          :เดินหน้าเปิดเวทีต่อปี59
          สำหรับโครงการในปีหน้านั้น รองประธานสนช. เปิดเผยว่า เราก็ได้มีการประชุมสรุปหลังจากเสร็จภารกิจที่จังหวัดเชียงรายแล้ว ซึ่งเราก็ได้ไปสอบถามนโยบายจากทางท่านประธานสนช.ซึ่งท่านก็บอกว่าให้ดำเนินการต่อ เพราะว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ ท่านก็ได้มอบหมาย นโยบายไว้ให้ดำเนินการต่อ ซึ่งคณะกรรมการชุดของผมก็ได้มีการปรึกษาหารือว่าจะลงพื้นที่ ที่ไหนบ้าง และรูปแบบการทำงานจะเป็นอย่างไรเพื่อให้มีความกระชับและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเป้าหมายการลงพื้นที่นั้นคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ ในการลงพื้นที่เช่นอาจจะลงพื้นที่ก่อน ก่อนไปพบ ส่วนราชการเพื่อจะเอาปัญหาของพี่น้องประชาชนส่งให้หน่วยราชการดำเนินการ  โดยการลงพื้นที่ในปี59 นั้นอย่างน้อยน่าจะ ไม่การลงพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง  ขณะเดียวกันหลังจากที่ได้ไปพบกับประธานกรธ.ท่านก็ได้ขอบคุณที่เราได้มีการจัดเวที 4 ภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งท่านก็บอกว่าจะขอความร่วมมือหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะขอไปพบปะกับพี่น้องประชาชนร่วมกับสนช.เพื่อไปอธิบายถึงที่มา ที่ไป วัตถุประสงค์ ในส่วนของสนช.ก็ได้มีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการตอนลงพื้นที่4ภูมิภาคซึ่งทั้งหมด ก็ยินดีที่จะเปิดเวทีให้เราอีกครั้งหนึ่ง
          โครงการนี้ จึงถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานของสนช.ในรอบ 1 ปี นอกเหนือไปจากการตรากฎหมาย หรือบทบาทในสภาในการตั้งกระทู้ถาม
          พิจารณา6กลุ่มกฎหมาย180ฉบับ
          สำหรับภาพรวมในการออกกฎหมาย โดยนับตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.2557-18 ธ.ค.2558 นั้น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์  โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กิจการสนช. หรือวิปสนช. ระบุว่า ในส่วนของการพิจารณากฎหมายของสนช.นั้น ได้แบ่ง กฎหมายเป็น 6 ด้านได้ 1.ด้านความมั่นคงซึ่งมีกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปแล้ว 18 ฉบับ โดยมีกฎหมายสำคัญอาทิ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การทวงถามหนี้พ.ศ.2558 ,พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ,พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558, พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 เป็นต้น
          2.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  มีกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจาฯ แล้วจำนวน 16 ฉบับ มีกฎหมายสำคัญอาทิ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 24) พ.ศ.25588, พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2558 ,พ.ร.บ.กองทุน
          ยุติธรรม 2558 ,พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 ,พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 21) พ.ศ.2558 และพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 26 )พ.ศ.2558 (การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นต้น)
          3.ด้านวัฒนธรรม ท้องเที่ยว กีฬา และกิจการอื่นๆ มีกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจาฯแล้ว 2 ฉบับมีกฎหมายสำคัญอาทิ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.การกีฬา แห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เป็นต้น
          4.ด้านการศึกษา การวิจัย เทคโนโลยี สารสนเทศ และพลังงาน มีกฎหมาย ที่ประกาศราชกิจจาฯแล้วจำนวน 8 ฉบับมีกฎหมายสำคัญอาทิ พ.ร.บ.สถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ.2558,พ.ร.บ.สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 เป็นต้น
          5.ด้านสังคม  มีกฎหมายประกาศใน ราชกิจจาฯไปแล้ว 11 ฉบับ โดยมีกฎหมายสำคัญอาทิ 1.พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4)  พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์พ.ศ.2558(พ.ร.บ.อุ้มบุญ) และพ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 เป็นต้น
          6.ด้านเศรษฐกิจ  มีกฎหมายประกาศ ในราชกิจจาไปแล้วจำนวน 55 ฉบับ โดยมีกฎหมายสำคัญอาทิ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยพ.ศ.2558,พ.ร.บ.ให้สิทธิแก้
          ผู้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติฯ พ.ศ.2558, พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก  พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 เป็นต้น
          :คลอดกฎหมาย 180 ฉบับ
          ข้อมูลจากสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ณ วันที่ 23 ธ.ค.2558 ระบุว่า ปัจจุบันสนช.ได้มีการ พิจารณากฎหมายไปแล้วจำนวน 180 ฉบับแบ่งเป็น ร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และร่างพ.ร.บ. ที่สนช.เห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายอีก 137 ฉบับ แบ่งเป็น ประกาศราชกิจจาฯแล้วจำนวน 129 ฉบับ-และ รอประกาศ 8 ฉบับ--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ