คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนา “ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ฉลาดอยู่” ที่ จ.สงขลา เดินหน้าสร้างความรู้ให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการปกป้อง
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Saturday, July 30, 2016  09:56
12268 XTHAI XLOCAL XGOV UPCO V%WIREL P%PRD

          คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนา “ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ฉลาดอยู่” ที่ จ.สงขลา เดินหน้าสร้างความรู้ให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง
          วันนี้ (30 ก.ค. 59) เวลา 09.30 น. ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พันตำรวจโท พงษ์ชัย วราชิต ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา “ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ฉลาดอยู่” เดินหน้าสร้างความรู้ให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง โดยมี นายเอกรัฐ หลีเส็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมกล่าวต้อนรับ และมีคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อาทิ นายวิทวัส บุญญสถิตย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ , นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ , พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯลฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีและร่วมรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงาน มีผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เครือข่ายธุรกิจ (BizClub) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด และสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ฯลฯ เข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 300 คน
          พันตำรวจโท พงษ์ชัย วราชิต ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนแบบเต็มตัว ทั้งเป็นประเทศผู้ก่อตั้งและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมืออาเซียน ซึ่งอาเซียนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (AseanCommitteeonConsumerProtection:ACCP) เพื่อเป็นหน่วยงานประสานหลักของอาเซียนใน การดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจ และรวมตัวเป็นตลาดเดียวกันของอาเซียน โดยจากการประชุม คณะกรรมการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียนได้กำหนดแนวทางให้ประเทศสมาชิกไปแก้ไขปรับปรุง กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคภายในของแต่ละประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของไทย เพื่อให้มีมาตรฐานในระดับเดียวกันกับ ประเทศสมาชิกอาเซียนในขณะที่ภารกิจภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน่วยงานที่ รับผิดชอบหลายหน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และมีขั้นตอนการดำเนินการต้องใช้ระยะเวลา ในการตรวจสอบที่ยาวนาน ประกอบกับแต่ละหน่วยงานยังขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันเป็นเหตุ ให้เกิดความซ้ำซ้อนด้านภารกิจ บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ ในการบริหารจัดการและการช่วยเหลือ ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งส่งผลให้การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องราวร้องทุกข์หรือข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของผู้บริโภคเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดเอกภาพ และไม่สามารถรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
          นอกจากนี้ การผลิตสินค้าและบริการในปัจจุบันมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ทำให้สินค้าและบริการด้วยคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองทางการตลาดเหนือกว่าผู้บริโภค และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องเร่งพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อลดปัญหาการผูกขาดทางการค้า ให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรอง รวมทั้งมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และแก้ไขการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ให้สินค้าและบริการมีมาตรฐาน ปราศจากการกีดกันหรือ ผูกขาดทางการค้าทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้อย่างยั่งยืน
          ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคของ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมทั้งให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคและผู้ประกอบการจาก หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการทุกภูมิภาค 4 ครั้ง ได้แก่ที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น และครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้บริโภคให้มีศักยภาพและรู้จัก ปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง พร้อมเปิดเวทีรับฟังปัญหาและอุปสรรคของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคและผู้ประกอบการจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้ทราบข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคและผู้ประกอบการจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในด้านต่างๆ รวมทั้ง มีแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมต่อสภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th