ตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค รับมือ'เคเบิลทีวี'เลิกกิจการ
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Thursday, August 04, 2016  05:35
13658 XTHAI XOTHER XCOMMENT XECON DAS V%PAPERL P%KT

          กรณีประกาศยกเลิกบริการเคเบิลทีวี หรือเพย์ทีวี กลุ่มบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ส่งผลให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องร่วมกันหารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและวิธีปฏิบัติในการกำกับ ดูแลกิจการที่ "ยกเลิกบริการ"
          วานนี้ (3 ส.ค.) สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนา NBTC Public Forum เรื่อง "การเยียวยาความเสียหายของผู้บริโภค : กรณี ผู้ประกอบการยกเลิกการให้บริการช่องรายการ ทีวีดาวเทียมและเคเบิล"
          ในเวทีเสวนาทั้งจากตัวแทนผู้บริโภค ,ผู้ประกอบการ และสำนักงาน กสทช. มีการเสนอแนวทางปฏิบัติด้านการเยียวยาความเสียหายผู้บริโภค กรณีผู้ประกอบการยกเลิกการให้บริการช่องรายการเคเบิลและทีวีดาวเทียม ด้วยการตั้งกองทุนเยียวยา ผู้บริโภค เพื่อป้องกันการเอาเปรียบลูกค้า
          วชิร พฤกษ์ไพบูลย์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าการจัดตั้ง "กองทุนเยียวยาผู้บริโภค" เพื่อเป็นการคุ้มครอง ผู้บริโภคและไม่เสียเวลาการฟ้องร้อง เพราะโดยทั่วไปผู้ประกอบการวางกลไกทางธุรกิจด้วยจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบในขั้นตอนการถูกฟ้องร้องจากผู้บริโภคอยู่แล้ว และเมื่อมีการดำเนินการทางศาล ผู้บริโภคควรได้รับการชดเชยหรือ ค่าเสียหายอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้หน่วยงานรัฐที่ให้ใบอนุญาต ผู้ประกอบการใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการ ควรวางหลักการคุ้มผู้บริโภคไว้ด้วยเช่นกัน      ที่ผ่านมามูลนิธิฯได้รับร้องเรียนจาก ผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องกล่องรับสัญญาณ จากกรณี "ซีทีเอช"ประกาศยกเลิกบริการ 47 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกรณีรับกล่องฯและใช้บริการต่อไปและรับเงินชดเชย
          สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อ ผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่ กสทช.ในฐานะ หน่วยงานกำกับดูแล สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ มีหลายแนวทาง เช่น กรณี ซีทีเอช อาจเรียกผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือแนวทางรับผิดชอบ ลูกค้า เพราะ กสทช.เป็นผู้ให้อนุญาต ผู้ประกอบการโครงข่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่เกี่ยวข้องกับกรณีซีทีเอช
          ทั้งนี้ ต้องแยกระหว่างการเยียวยาทางแพ่ง และการเยียวยาในกรณีการเลิกกิจการ ซึ่ง กสทช.มีหน้าที่และสิทธิ พิจารณาความเสียหายจากแผนการเลิกกิจการ ซึ่งจะต้องไม่เป็นการตัดสิทธิผู้บริโภคด้วย หากการเยียวยาของทาง กสทช.ไม่เป็นที่พอใจ เพราะผู้บริโภคสามารถฟ้องทางแพ่งต่อไปได้
          ขณะเดียวกัน กสทช.ยังสามารถทำงานเชิงรุกและมีสิทธิเสนอแผนเยียวยา ผู้บริโภคให้ผู้ประกอบกิจการที่ยกเลิก กิจการนำไปปฏิบัติหรือปรับปรุง โดยที่ ไม่ต้องรอให้ผู้ประกอบการเสนอแผนเยียวยาเข้ามา เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค
          หากผู้ประกอบการยังไม่ปฏิบัติตามแผนเยียวยาผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นที่ กสทช.เสนอไป หรือแผนของผู้ประกอบการเอง ก็เสนอให้ดำเนินการปรับสูงสุด เช่น ปรับเงิน 5 ล้านบาทสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด และกำหนดบทลงโทษสูงสุด เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคว่า กสทช.ดำเนินการลงโทษแล้ว ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่รับทราบ เรื่องแผนเยียวยาที่ผู้ประกอบการยัง ไม่ปรับปรุง
          "กสทช.ไม่ใช่แค่รับทราบ แต่ต้องมีแผนและขั้นตอนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค กรณีผู้ประกอบการเลิกกิจการและส่ง ผลกระทบต่อผู้บริโภค ขอให้ใช้กฎหมายสูงสุดเข้ามาจัดการ"
          กรณี"ซีทีเอช" จะต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง สำหรับบริษัทที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคในอนาคตจากการเลิกบริการ
          การที่ กสทช.ทำงานเชิงรุก จะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ที่ยังไม่ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ให้บริการ ซึ่งถือว่ามีอีกมากเมื่อเทียบกับจำนวน ผู้บริโภคที่ออกมาร้องเรียนที่มีอยู่ 2-3% ของจำนวนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด
          สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับการตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค ที่มาจากเงินของภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ และหากเอกชนยุติประกอบกิจการ จะต้องนำเงินมาใช้เยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ
          ส่วนขั้นตอนการตั้งกองทุน เบื้องต้นอาจต้องแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มมาตรการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะ ส่วนการยกเลิกกิจการ เพื่อลดขั้นตอน การฟ้องร้อง ขณะที่ บุญยืน ศิริธรรม  ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ระบุว่ากรณี ผู้ประกอบการยกเลิกบริการเป็นหน้าที่ กสทช. ที่ต้องกำหนดมาตรการเยียวยา เพราะการเลิกกิจการจะแตกต่างจากปัญหาที่เกิด จากการใช้บริการ  และ กสทช.ควร กำหนดมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมเพื่อ ให้ผู้ประกอบการที่ยกเลิกบริการต้อง ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า การกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจ ล้มเหลว
          กรณีซีทีเอช  ประกาศยกเลิกการประกอบกิจการเคเบิลทีวีทุกช่องทาง ลงในวันที่ 1 ก.ย.นี้ รวมทั้งการยกเลิก บริการผ่านกล่องรับสัญญาณต่างๆ ก่อนหน้านี้ พบว่าไม่ได้ส่งแผนเยียวยาลูกค้ากว่าแสนรายมาให้กสทช.พิจารณาก่อนยุติ จึงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่ง กสทช.ต้องร่วมกำหนดมาตรการเยียวยากับผู้ประกอบการ
          'สุภิญญา'ชงลงโทษ 'ซีทีเอช' สูงสุด
          จากกรณีการยกเลิกบริการของ "ซีทีเอช" วันที่ 1 ก.ย.นี้  จะมีการหารือในประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งต่อไป
          สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการเลิกกิจการ ด้วยการจัดตั้งกองทุนเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ที่ผ่านมา กสทช.มีมาตรการลงโทษทางปกครอง ผู้ประกอบการที่ทำผิด ซึ่งโทษสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาต และ แบล็คลิสต์การประกอบกิจการ เพื่อ เป็นตัวอย่างไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้อีก
          กรณี ซีทีเอช จะหารือกับฝ่ายกฎหมาย กสทช. ด้านแนวทางและ ขั้นตอนการดำเนินงาน และจะเสนอให้บอร์ด กสท.พิจารณาบทลงโทษขั้นสูงสุด คือ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
          "สุดท้ายไม่ทราบว่าบอร์ด กสท.จะเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้หรือไม่" สำหรับการแก้ไขเฉพาะหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น กรณีซีทีเอช ขณะนี้คงต้องให้เสนอแผนเยียวยาผู้บริโภคเข้ามาใหม่ โดยจะกำหนดกรอบระยะเวลาอีกครั้ง เพราะปัจจุบันซีทีเอชได้แจ้งยกเลิกประกอบกิจการแล้ว
          ในช่วงที่กล่องจีเอ็มเอ็มบียกเลิกกิจการก็ได้แจ้งให้ผู้บริโภคมาใช้บริการที่ซีทีเอช แต่ล่าสุด เมื่อซีทีเอช จะยุติประกอบกิจการลงด้วย ก็ต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายเสนอแผนเยียวยาออกมาใหม่ว่า จะมีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งต้อง รอดูว่ากสท.จะมีความเห็นกับ แผนเยียวยาใหม่อย่างไร
          แต่การลงโทษขั้นสูงสุดของ กสท.อาจไม่มีผลให้ผู้บริโภคได้รับเงินชดเชยทันที เพราะอาจต้องมีการ ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)เพื่อฟ้องทางแพ่งคู่ขนานกับการดำเนินงานของ กสทช.ต่อไป
          "โดยส่วนตัวมองว่าควรจะมีการลงโทษขั้นหนักสุด ก็คือ การเพิกถอนใบอนุญาต เพราะตามขั้นตอนก่อนผู้ประกอบการประกาศยกเลิกบริการ กสทช.ต้องเห็นชอบแผนเยียวยาก่อน แต่ซีทีเอช ประกาศยุติวันที่ 1 ก.ย.นี้ ทั้งที่แผนเยียวยาก็ยังไม่เข้าบอร์ด"
          ขณะนี้ ก็มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.กสทช. จึงต้องการเสนอให้เพิ่มมิติการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคยังมีข้อบกพร่อง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ยังไม่มีการเพิ่มกลไกคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นกว่าปัจจุบัน รวมถึงจะเสนอให้มีการเพิ่มอำนาจให้อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ให้มีอำนาจในการวินิจฉัยกรณีต่างๆได้อย่างเด็ดขาด
          ทั้งนี้ มีแผนเชิญผู้ประกอบการ เพย์ทีวีรายใหญ่ "ทรูวิชั่นส์"  นำเสนอ แผนการตลาดและการขายเกี่ยวกับ แพ็คเกจเสริม เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ก่อนเริ่ม แข่งขันฤดูกาลที่จะถึงนี้ เพื่อเป็น การพิจารณาก่อนที่ผู้ประกอบกิจการ จะดำเนินกิจการต่อไป  ป้องกันปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ให้เกิดกรณีเอาเปรียบผู้บริโภคซ้ำอีก--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ