คอลัมน์: 1567 ศูนย์ดำรงธรรม: เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู ร้องสายตรงผู้ว่าฯ ช่วย
Source - มติชนสุดสัปดาห์ (Th)

Friday, March 31, 2017  08:00
25337 XTHAI XGEN DAS V%PAPERL P%MTCW

          ปัจจุบันปัญหาเหตุรำคาญจากผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมจากสถานประกอบการ เช่น กลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง กากขยะอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพ ความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน ยังคงเกิดขึ้น ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งหลายแห่งได้ปรับปรุง หรือกระทำการ เพื่อระงับหรือป้องกันไม่ให้เหตุรำคาญเกิดขึ้นอีก ในอนาคต แต่ถึงอย่างนั้น ปัญหาเหตุรำคาญจากสถานประกอบการ ก็ยังคงมีเสียงสะท้อนจากประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงอยู่เป็นระยะ
          ล่าสุด พบว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากฟาร์มหมู แห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ของตำบลหนองซ้ำซาก อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ฟาร์มแห่งนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงจากมูลสุกร ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลจนชาวบ้านละแวกนั้นมีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน แสบคอ แม้จะปิดประตูบ้านอย่างมิดชิดแล้วกลิ่นเหม็นก็ยังเข้ามา รบกวนในบ้านได้ ปัญหานี้เคยมีผู้ร้องไปยังเทศบาลตำบลหนองซ้ำซาก และปศุสัตว์อำเภอบ้านบึง ให้เข้าตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นอยู่
          ชาวบ้านหนองซ้ำซาก ต้องทนทุกข์กับสภาพกลิ่น ที่ไม่พึงประสงค์ทั่วชุมชนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่นานเรื่องนี้ก็ได้รับ การแก้ปัญหา เมื่อ "คนหนองปลิง" นามแฝงของประชาชน เข้าร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ และต่อสายตรงถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีในวันที่ 19 มกราคม 2560 เพื่อขอให้ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดชลบุรี เข้าตรวจสอบฟาร์มหมูแห่งนี้ โดยทันทีที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี ได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมจังหวัด สาธารณสุขอำเภอบ้านบึง เทศบาลตำบลหนองซ้ำซาก ผู้แทนหน่วยทหารจากมณฑลทหารบกที่ 14 พร้อมกับส่งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงลงพื้นที่เป้าหมาย ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 โดยจากการตรวจสอบพบว่าฟาร์มดังกล่าว มีลักษณะประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่และสุกร สร้างเป็นโรงเรือนปิด แยกส่วนกันระหว่างฟาร์มเลี้ยงไก่ และเลี้ยงสุกร ซึ่งจุดเสี่ยงที่เป็นสาเหตุทำให้ส่งกลิ่นเหม็น คือ บริเวณโรงเรือนคอกสุกร มีมูลสุกรบางส่วนตกค้างอยู่ ในบริเวณรางระบายน้ำทิ้ง ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นจากการสะสมของมูลสุกรที่ตกค้าง นอกจากนี้บริเวณอื่นๆ ภายในฟาร์ม ยังพบว่ามีลานตากและโรงเก็บมูลสุกร ซึ่งทางผู้ประกอบการ ได้แจ้งว่ามีการเก็บมูลสุกรวันละ 1 ครั้ง แต่ตามเกณฑ์มาตรฐาน ฟาร์มจะต้องจัดเก็บมูลสุกรอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ลานตากและโรงเก็บมูลสุกรจึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุของการส่งกลิ่นเหม็นเช่นเดียวกัน
          ทางคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงเร่งประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางให้เจ้าของฟาร์มดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งมีข้อสรุปใน 3 ประเด็น คือ 1.ให้เจ้าของฟาร์มดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระบบรางระบายน้ำ/รางระบายมูลสุกร เป็นแบบระบบรางปิดที่มีฝาปิดตลอดลำราง หรือเป็นระบบท่อ เพื่อลดกลิ่นมูลสุกรตกค้างสะสม 2.ให้เจ้าของฟาร์มดำเนินการแก้ไขปรับปรุงถังตีน้ำมูลสุกร ก่อนขั้นตอนส่งไปยังบ่อพัก เป็นแบบมีฝาปิดครอบป้องกันกลิ่นทุกๆ บ่อพัก และ 3.ให้เจ้าของฟาร์มดำเนินการปรับปรุงโรงเรือน หรือคอกสุกร โดยติดตั้งม่านน้ำ หรือแนวรังผึ้งหลังพัดลมระบายอากาศ เพื่อลดกลิ่น และฝุ่นละออง
          ภายหลังจากเจ้าของฟาร์มได้รับคำสั่งให้ดำเนินการ ปรับปรุงและแก้ไขแล้ว ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี ก็ได้ให้คณะทำงานชุดปฏิบัติการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขในวันที่ 16 มีนาคม 2560 พบว่าเจ้าของฟาร์มได้นำผ้าใบอย่างหนามาปิด เพื่อปกคลุมจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นของมูลสุกรแล้วทุกจุด เช่น รางระบายน้ำ ถังตีน้ำมูลสุกร บ่อพัก รวมทั้งได้มีการติดตั้ง ม่านน้ำและพัดลมระบายอากาศเพื่อลดกลิ่นเหม็น ขณะเดียวกัน ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี ก็ได้ส่งทีม ออกสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณ ใกล้เคียงกับฟาร์มสุกรดังกล่าว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่แจ้งว่า ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นของมูลสุกรเบาบางลงและ มีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหากลิ่นของมูลสุกรในครั้งนี้
          อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชุดปฏิบัติการ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี ได้พิจารณาเห็นว่าการแก้ไขปรับปรุงลักษณะเช่นนี้ ยังไม่ใช่วิธีการที่เป็นการแก้ไขปัญหา ในระยะยาว จึงได้แจ้งให้เจ้าของฟาร์มปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เจ้าของฟาร์มทำโครงสร้างส่วนที่ปิดรางระบายน้ำ ถังตีน้ำ มูลสุกร และบ่อพัก เป็นแบบคอนกรีตถาวร และเร่งรัดให้ดำเนินการย้ายระบบบำบัดน้ำเสียให้อยู่ในสถานที่ปิดโดยเร็ว ซึ่งเจ้าของฟาร์มดังกล่าวยินดีที่จะดำเนินการแก้ไขตามที่ คณะทำงานชุดปฏิบัติการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี ขอความร่วมมือทุกประการ เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นปกติสุข
          นี่เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความเดือดร้อนรำคาญจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐภายใต้การบูรณาการของศูนย์ดำรงธรรมได้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน หากพื้นที่ใด มีเหตุรำคาญเกิดขึ้น ประชาชนที่อยู่ข้างเคียงหรือได้รับผล กระทบ สามารถที่จะร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ  โดยอาจแจ้งด้วยตนเอง ส่งจดหมายหรือโทรศัพท์สายด่วน 1567 เพื่อศูนย์ดำรงธรรมจะได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนโดยด่วนต่อไป--จบ--

          --มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มี.ค. - 6 เม.ย. 2560--