อย.มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคยุคช็อปออนไลน์ ส่งแอพพลิเคชั่น/เว็บไซต์ ตรวจสอบสินค้า
Source - สยามธุรกิจ (Th)

Saturday, April 08, 2017  05:32
48350 XTHAI XCORP XSALES DAS V%PAPERL P%SBW

          อย.มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคยุคช็อปออนไลน์ส่งแอพพลิเคชั่น/เว็บไซต์ ตรวจสอบสินค้า
          อย. เผย มีระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพช่วยตรวจสอบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขโดยสืบค้นได้ที่ Oryor Smart Application และเว็บไซต์ อย. หากพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556
          น.พ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผ่านทางโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม มักพบว่าหลายผลิตภัณฑ์มีการโฆษณา
          อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หลอกขายให้ผู้บริโภคสั่งซื้อมาใช้ โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างต่างๆ มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. ไม่มีเลขทะเบียน หรือเป็นเลขทะเบียนปลอม ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนเสียก่อน หากต้องการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว ผ่านการขออนุญาตจาก อย.แล้วหรือไม่ ขอให้สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ โดยบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารต้องแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่อง หมาย อย. ผลิตภัณฑ์ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G/70/58 และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก
          ทั้งนี้ อย. ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลจำเป็นก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าวที่ Oryor Smart Application เข้าไปที่เมนู ตรวจเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพียงกรอกเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วกด DONE ระบบจะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของ อย. ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและสามารถตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้อีกด้วย นอก จากนี้ ยังสามารถตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ได้ที่เว็บไซต์
www.oryor.comและ www.fda.moph.go.thเช่น รายชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทำให้หน้าอกโต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทำให้ผิวขาว และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอันตราย เป็นต้น
          รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ในกรณีของผลิตภัณฑ์ยา การขายยาผ่านทางอินเตอร์เน็ตถือว่าผิดกฎหมาย เพราะตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่าต้องไม่ขายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดย ตรง การขายในอินเตอร์เน็ตจึงเป็น การขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ในส่วนของผู้บริโภคหากพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail 1556 @ fda.moph.go.th ตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 และร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application เพื่อ อย. จะดำเนินการปราบปรามและดำเนินคดีตาม กฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 - 14 เม.ย. 2560--