คอลัมน์: ไขปัญหาผู้บริโภค: อันตราย!! หากยังใช้ "โฟม" บรรจุอาหาร
Source - เดลินิวส์ (Th)

Saturday, April 01, 2017  02:10
41546 XTHAI DAS V%PAPERL P%DND

          โดย สคบ.
          E-Mail:
www.ocpb.go.th

          รู้หรือไม่? หากเรานำ "กล่องโฟม" มาใช้บรรจุอาหาร โดยเฉพาะการใส่อาหารที่ยังร้อนหรือมีน้ำมันปะปนอยู่ อาจทำให้สารปนเปื้อนแยกตัวออกมาจากกล่องโฟมภาชนะบรรจุได้ ซึ่งจะทำให้ภาชนะเสียรูปและหลอมละลาย จนเกิดการปนเปื้อนของสารสไตรีน และสารเอทิลเบนซีน ไหลลงมาสู่อาหาร และเมื่อร่างกายได้รับสารเหล่านี้เป็นเวลานานก็จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ไม่น้อย
          เป็นที่รู้จักกันดีว่า "โฟม" เป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง ที่ผลิตจากพลาสติกชนิดโพลีสไตรีน ผ่านกระบวนการเติมแก๊สเพื่อให้เกิดฟองอากาศแทรกอยู่ระหว่างเนื้อของพลาสติก ซึ่งคุณสมบัติของโพลีสไตรีน เป็นโฟมที่เป็นฉนวนได้ดี มีน้ำหนักเบา แข็งแรงปานกลาง และมีราคาถูก จึงมักนิยมนำมาผลิตเป็นภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร และสินค้าอื่น ๆ แต่ที่ผ่านมามีการพบข้อมูลอันตรายที่เกิดจากโฟม บรรจุอาหารที่มีความร้อนจัด
          อย่างไรก็ตามข้อมูลของกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ พบว่า หากมีการนำกล่องโฟมไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัดและเป็นอาหารประเภททอดที่มีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวผัด ข้าวกะเพราไข่ ดาว ผัดไทย หอยทอด จะทำให้เกิดการปล่อยสารเคมีบางชนิดออกมา ได้แก่ สารสไตรีน (Styrene) และสารเอทิลเบนซีน (Ethylbenzene) ซึ่งสารสไตรีน (Styrene) เมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง หากสูดดมเข้าไปจะมีอาการไอและหายใจลำบาก และมีผลกระทบต่อร่างกาย
          ขณะเดียวกันในระยะยาว สารเอทิลเบนซีน (Ethylbenzene) เมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง แสบตา หากสูดดมเข้าไปจะมีอาการแสบจมูก ปวดหัว กดประสาทส่วนกลางอาจทำให้หมดสติ และ เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ปริมาณของสารสไตรีนและสารเอทิลเบนซีนที่ปนเปื้อนลงในอาหารจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ อุณหภูมิของอาหารที่บรรจุ ปริมาณไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่ใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร
          เมื่อเราทราบถึงอันตรายจากโฟมบรรจุอาหารแล้ว คำถามที่อยากให้ทุกคนได้ฉุกคิดคือ...หลังจากนี้เรายังกล้าที่จะรับประทานอาหารจากภาชนะชนิดนี้อยู่อีกหรือ? จริงอยู่ที่หลายคนมองว่าการทานอาหารจากกล่องโฟม ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่หากลองคิดถึงระยะยาว คุณจะเห็นว่าสารอันตรายเหล่านี้มันจะค่อย ๆ สะสมในร่างกาย และไม่มีใครรู้ว่าวันหนึ่งโชคร้ายจะมาถึงเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้โดยไม่รู้ตัวอีก ในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ นี่ก็มีส่วนสำคัญไม่ใช่น้อยในการจำหน่ายอาหารผ่านกล่องโฟม ซึ่งอยากให้ท่านห่วงใยในสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
          สคบ. จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหลายเลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนการใช้กล่องโฟม อาทิ ภาชนะที่ทำจากชานอ้อย มันสำปะหลัง โปรตีนจากถั่วและข้าวโพด ใบตอง หรือภาชนะพลาสติกอื่นที่มีความสามารถในการทนความร้อนได้ดีกว่าภาชนะพลาสติกที่ทำจากโพลีสไตรีน และควรเลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารกันอย่างจริงจังเสียที เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญยังเป็นการช่วยปกป้องไม่ให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารที่จะทำปฏิกิริยาในกล่องโฟมเมื่อถูกความร้อนได้อีกด้วย.--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์