ไม่โลภ-ไม่ติดบ่วงแชร์ลูกโซ่ สคบ.จัดระบบวางเงินประกันขายตรงเน้นทำธุรกิจจริง...น่าเชื่อถือ
Source - เดลินิวส์ (Th)

Monday, April 24, 2017  04:45
62159 XTHAI XOTHER XCLUSIVE XGEN MIDD DAS V%PAPERL P%DND

          ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน
          ขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ ในความเหมือนที่มีความต่าง หากไม่ติดกับผลตอบแทน "โอเวอร์" เกินจริง ลงทุนต่ำ กำไรสูง ก็ไม่มีทางตกเป็นเหยื่อ เพราะกับดักใหญ่แชร์ลูกโซ่อยู่ที่ "ความโลภ"
          หลังปรากฏข่าวดัง "ซินแสโชกุน" กับเครือข่ายขายตรงอาหารเสริมที่ตกเป็นข่าวครึกโครมจากการลอยแพลูกทัวร์ ทริปญี่ปุ่น จะพบว่ามีผู้เสียหายอีกหลายคดีที่ทยอยเปิดหน้าร้องทุกข์สารพัดแชร์ที่หยิบยกมาแอบอ้าง หลอกลวงให้หลงเชื่อร่วมระดมทุน
          จากข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หากสังเกตดี ๆ จะพบว่ารูปแบบ วิธีการชวนเชื่อไม่ได้ผิดแปลกไปจากอดีต แตกต่างแค่ตัวผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ขณะที่เหยื่อก็ไม่ได้มีเฉพาะคนพื้นเพธรรมดา กระทั่งกลุ่มคนที่มีความรู้ มีฐานะก็ยังมีโอกาสตกหลุมพราง ที่ร้ายแรงกว่าคือมูลค่าความเสียหายที่มากขึ้นตามประเภทธุรกิจที่ลงทุน เช่น แชร์ทองคำ แชร์เหมืองทอง แชร์ฟอเร็กซ์
          ดังนั้น สิ่งที่ใช้เป็นคาถาป้องกันตัว ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ได้อย่างดีจึงสั้น ๆ ง่าย ๆ คือ สติ
          พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยสถานการณ์แชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันแนวโน้มไม่ได้ลดลง มีแค่รูปแบบสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาตามเทรนด์ ซึ่งระยะหลังพบว่ามีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อนำมาสร้างความน่าเชื่อถือและเชิญชวนให้คนหลงเชื่อง่ายขึ้น ในอดีตสินค้าที่นำมาอ้างมักเป็นสินค้าใกล้ตัว มีลักษณะเป็นแชร์พื้นบ้าน เช่น แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย แชร์ลอตเตอรี่ แต่ขณะนี้จะพบว่ามีแชร์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว บริการซึ่งเป็นไปตามกระแสท่องเที่ยวที่มาแรง จึงมีการหยิบยกธุรกิจจองโรงแรม การจัดทัวร์มาแอบอ้างหาผู้ร่วมลงทุน
          ทั้งนี้ แม้รูปแบบสินค้าจะแปรเปลี่ยนแต่หากใช้สติพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนตามแผนธุรกิจแล้วจะตัดสิน ใจได้ไม่ยากว่าธุรกิจดังกล่าวเป็น แชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหลักการของแชร์ลูกโซ่มีจุดต่างจากขายตรงชัดเจนคือแชร์ลูกโซ่จะไม่เน้นการขายสินค้า แต่เน้นการหาสมาชิก เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในระบบจ่ายให้สมาชิก และใกล้ถึงจุดอิ่มตัวก็ทิ้งสมาชิกกลางทาง ที่ผ่านมาดีเอสไอรับเรื่องร้องเรียนที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่กว่า 150 เรื่อง ซึ่งแม้จะสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด
          "ผู้ที่คิดจะร่วมลงทุนในธุรกิจใดต้องเตือนใจตัวเองไว้ว่าเงินในกระเป๋าเรา หากไม่มีความรู้ก็ควรเลี่ยงการลงทุน หากจะทำธุรกิจสักอย่างต้องพิจารณาให้ดี ต้องดูแผนธุรกิจว่ามีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ รายได้หลักของธุรกิจมาจากการสมัครสมาชิกหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าต้องนำเงินของสมาชิกใหม่มาจ่ายให้สมาชิกเก่า ไม่ใช่รายได้ที่มาจากตัวสินค้าสันนิษฐานว่าอาจเป็นแชร์ลูกโซ่ นำเงินจากสมาชิกใหม่ไปจ่ายให้สมาชิกเก่า"
          พ.ต.ต.วรณัน ยังกล่าวถึงกรณีการใช้สื่อ
          โซเชียลว่าส่งผลต่อจำนวนผู้เสียหายที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้บุคคลที่น่าเชื่อถือเช่น ครู หรือคนมีชื่อเสียง เป็นผลให้มีการตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนง่ายขึ้น หลายกรณีเป็นการนำคนที่ไว้วางใจมาเป็นนกต่อยิ่งมีโอกาสตกเป็นเหยื่อง่ายกว่าคนแปลกหน้า ดังนั้น แนะนำอีกข้อสำคัญคือการตรวจสอบข้อมูลธุรกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อความชัดเจนว่าธุรกิจดังกล่าวมีตัวตนและจดทะเบียนถูกต้อง ลดโอกาสถูกหลอกได้อีกชั้นหนึ่ง
          ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยพล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ. แนะวิธีสังเกตก่อนร่วมลงทุนด้วยหลักการง่าย ๆ คือ การประกอบธุรกิจมีสินค้าจริงหรือไม่ สถานประกอบการอยู่ที่ใดเพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือ การจ่ายผลตอบแทนมีสัดส่วนที่เป็นไปได้แค่ไหน ที่สำคัญคือควรตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการขายตรงและตลาดแบบตรงที่ได้รับใบอนุญาตจาก สคบ.ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้เองจากเว็บไซต์ ขณะที่ภายในของ สคบ.จะมีการขึ้นบัญชีแยกกลุ่มธุรกิจเทา ดำ เพื่อเฝ้าระวังอีกทางหนึ่ง
          ทั้งนี้ย้ำว่าการขายตรงรายได้หลักต้องมาจากตัวสินค้า ขณะที่แชร์ลูกโซ่ไม่มีที่มารายได้จากสินค้า แต่เน้นโอ้อวด ทั้งนี้ เรื่องการให้รางวัลจากการขาย ในการขายตรงนั้นทำได้โดยจะมียอดจำหน่ายชัดเจนเป็นตัวกำกับ ตรงข้ามหากเป็นแชร์ลูกโซ่จะไม่พูดเรื่องของสินค้า แต่ให้ความสำคัญกับการหาสมาชิกเท่านั้น
          จากข้อมูลขณะนี้ เลขาธิการ สคบ. ระบุว่ามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับ สคบ.ประมาณ 800 ราย ที่ผ่านมา สคบ.เน้นอำนวยความสะดวกเรื่องความรวดเร็วให้กับผู้ประกอบการ แต่หลังจากนี้จะมีการชะลอความเร็วและเน้นการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ทั้งสถานประกอบการที่ต้องมีหลักแหล่งและมีสภาพเป็นสถานประกอบการจริง ไม่ใช่การใช้ที่พักอาศัยที่มีถิ่นฐานเป็นท้องไร่ท้องนามาจดทะเบียน หรือการอ้างสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง
          หนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาการแอบอ้างขายตรงคือการร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการวางเงินประกันของผู้ประกอบการ เพื่อยืนยันว่ามีการประกอบธุรกิจจริง รวมถึงการเข้มงวดให้ต้องรายงานผลการประกอบธุรกิจทุก 6 เดือน เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว เชื่อว่ามาตรการวางเงินประกันจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจหายไปเกือบครึ่ง เหลือเพียงผู้ที่ประกอบกิจการจริงจัง โดยสัดส่วนการวางเงินประกันอาจมาจากยอดทุนจดทะเบียนหรืออาจมาจากการจำหน่ายสินค้าต้องมีการหารือให้มีความเหมาะสมและไม่กระทบกับผู้ประกอบธุรกิจด้วย
          "ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎกระทรวงกรณีที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบ การที่ขึ้นทะเบียนขายตรงกับสคบ.ต้องมีเงินประกัน เพื่อวางหลักประกันเพิ่มความมั่นใจ กรณีที่มีการทำผิดเงื่อนไขหรือสินค้าไม่ได้มาตรฐานจะได้นำเงินจากหลักประกันดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้ผู้บริโภคได้บ้าง" เลขาธิการ สคบ. กล่าว
          ทั้งนี้ มีรายงาน 4 ธุรกิจเข้าข่ายเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หลังพบการร้องเรียนมากขึ้น ประกอบด้วย ธุรกิจขายตรงการตลาดแบบตรง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม ปัจจุบันพบข้อมูลการจดทะเบียนขายตรงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1,150 ราย ขณะที่ สคบ.มีรายงานการจดทะเบียน 789 ราย ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวมีการจดทะเบียน 7,114 ราย แต่กรมการท่องเที่ยวรายงานว่ามีการจดทะเบียน 12,400 ราย ธุรกิจอาหารเสริม จดทะเบียนนิติบุคคล 4,900 ราย ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซจดทะเบียนนิติบุคคล 3,564 ราย.
          แชร์ลูกโซ่..สังเกตง่าย
          จากคู่มือหายนะ..เหยื่อแชร์ลูกโซ่ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยข้อสังเกตสัญญาณบอกเหตุแชร์ลูกโซ่ ประกอบด้วย
          -แหล่งประกอบการ ไม่มีความมั่นคง ถาวร เป็นเพียงการเช่าตึก ไม่มีทรัพย์สินมีแต่สำนักงาน ไม่มีโรงงานผลิตสินค้าของตัวเอง มีแต่สินค้าที่ไม่ระบุแหล่งผลิต
          -ไม่ได้จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เก็บค่าสมาชิกสูงมาก บังคับซื้อสินค้าพร้อมค่าสมัครแพง แต่ไม่มีสินค้าหรือบังคับให้ต้องลงทุนพร้อมสมัครเป็นจำนวนเงินสูง
          -ผู้ประกอบการไม่เน้นขายสินค้าเป็นหลัก แต่เน้นสร้างทีม หาสมาชิก ผู้ลงทุนรายใหม่ พยายามย้ำถึงการหาสมาชิกว่ายิ่งมากยิ่งได้ค่าตอบแทน
          -ใช้สินค้าบางอย่างบังหน้า กันข้อสงสัย แต่เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีแหล่งผลิต และอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
          -รายได้เทียบกับเงินลงทุนแล้วไม่สมเหตุผล ลงทุนต่ำ รายได้สูง-จ่ายค่าตอบแทนเร็วเกิน รับผู้ลงทุนแบบไม่จำกัด ระดมทุนแบบหิวกระหายเพียงมีสัญญาณข้อใดข้อหนึ่งในจำนวนนี้ก็ให้สงสัยเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ได้เลย

          บรรยายใต้ภาพ
          พล.ต.ต.ประสิทธิ์
          พ.ต.ต.วรณัน
--จบ--

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2560 (กรอบบ่าย)--