ฎีกาคุก5ปี2ผัว-เมียรุกป่าฯ ตัดตอน‘ทุนใหญ่’ลอยนวล
Source - เว็บไซต์ไทยโพสต์ (Th)

Wednesday, May 03, 2017  06:56
37352 XTHAI XPOL POL V%NETNEWS P%WTP

          ศาลฎีกาจำคุก 5 ปีผัว-เมีย จ.กาฬสินธุ์ บุกรุกป่าสงวนฯ มีไม้สัก ไม้กระยาเลย 1,148 ท่อนเป็นของกลาง เผยพิรุธใบรับรองแพทย์อ้างป่วยประสาทไม่ดีจากอุบัติเหตุจึงรับสารภาพแบบไม่สมัครใจ เกิดหลังวันขึ้นศาลแล้ว ชี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการลักลอบตัดไม้ พฤติการณ์ร้ายแรง "Police Watch" กังขาต้นธารกระบวนการยุติธรรมตัดตอนนายนายทุนใหญ่ลอยนวล  จี้ปฏิรูปตำรวจ
          เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีที่ 456/2560 ที่พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอุดม ศิริสอน และนางแดง ศิริสอน จำเลยที่ 1-2 ในความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ กรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภรรยาถูกจับในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ โดยพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 2 คนละ 10 ปี แต่ลดเหลือคนละ 5 ปี
          ตามฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์โดยการทำไม้ป่าระแนง ต.คลองขาม จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 72 ไร่ และใช้อุปกรณ์เครื่องมือใดไม่ปรากฏชัด ตัดและโค่นไม้สัก ไม้กระยาเลย ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ออกจากต้น 700 ต้น อยู่ในเขตที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าตามกฎหมายไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมมีไม้สัก ไม้กระยาเลย อันยังมิได้แปรรูป อันเป็นไม้หวงประเทภ ก. จำนวน 1,148 ท่อน รวมปริมาตร 65.69 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงินค่าภาคหลวง 552,160 บาท โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุทั้งหมดเกิดที่ ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เจ้าพนักตรวจยึดไม้สักกับไม้กระยาเลยอันยังมิได้แปรรูป 1,148 ท่อน เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 8, 11, 54, 69, 72, ตรี, 73, 74 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 8, 9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของก
ลางทั้งหมด และให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากป่าสงวนที่เข้าไปครอบครอง
          คดีนี้ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ กระทั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 30 ปี ลดโทษเหลือ 15 ปี และประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์เมื่อปี 2557 โดยปฏิเสธว่าไม่ได้ตัดไม้ ในวันเกิดเหตุได้เข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนเท่านั้น ขอให้ศาลลดโทษ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น จำคุก 14 ปี 12 เดือน ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่หลงเชื่อบุคคลภายนอกว่ารับสารภาพแล้วศาลจะปรับจำเลยทั้งสอง โดยนายอุดม จำเลยที่ 1 มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ได้รับการรักษาตัวที่ รพ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ จากนั้นได้มารักษาตัวที่คลินิกหมอเปตรง เขียนแม้น ก็ยังอาการไม่ดีขึ้น การที่ศาลชั้นต้นถามจำเลยทั้งสองว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ค่อยจะได้ยิน เมื่อถามหลายครั้งก็ก้มหัวเท่านั้น ศาลก็เลยบอกว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพ เมื่อถามคำให้การของนางแดง จำเลยที่ 2 ก็บอกว่าให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้สมัครใจให้การรับสารภาพนั้น
          ศาลเห็นว่า ข้ออ้างอาการป่วยของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างเพิ่มขึ้นในชั้นฎีกา แตกต่างกับข้ออ้างในชั้นอุทธรณ์ที่อ้างเพียงว่ามีคนบอกจำเลยทั้งสองให้รับสารภาพเสียค่าปรับแล้วกลับบ้านได้ นอกจากนี้ อาการป่วยของจำเลยที่ 1 ยังขัดแย้งกับใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ป่วยในระหว่างวันที่ 3-10 ต.ค.2554 ด้วยอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ หลังจากนั้นมีอาการปวดและเวียนศีรษะเป็นบางครั้ง ซึ่งอาการป่วยดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ 26 ก.ย.2554 ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น ส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองพยายามปรุงแต่งข้ออ้างอาการเจ็บป่วยของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นพิรุธ และเมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่สมัครใจแต่อย่างใด ความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองสมัครใจให้การรับสารภาพโดยชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาจึงขัดกับคำให้การในชั้นพิจารณา ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ขบวนการลักลอบตัดไม้
          ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบ เพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำความผิดตามฟ้องให้จำเลยทั้งสอบทราบนั้น ศาลเห็นว่า ตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารท้ายฎีกาของจำเลยทั้งสองก็ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบโดยครบถ้วน ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธอันแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาเป็นอย่างดีแล้ว การสอบสวนจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฎีกาฟังไม่ขึ้น
          ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า ตามรายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสอง สำนวนการสอบสวนที่ศาลฎีกาเรียกมาจากโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาได้ความว่า ในวันเกิดเหตุคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3-4 คน กำลังช่วยกันใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงจำนวนมาก เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่จึงวิ่งหนี และมีพยานเห็นจำเลยทั้งสองวิ่งหนีจากที่เกิดเหตุ พื้นที่เกิดเหตุเป็นแปลงปลูกสวนป่า ปี 2527, 2531, 2532, 2536 มีการตัดโค่นไม้สักสักกับไม้ กระยาเลย ขนาดโตประมาณ 30 ถึง 90 ซม. อายุประมาณ 15 ถึง 20 ปี ที่กำลังโต
          โดยเป็นการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนการเดียวกันได้ประโยชน์ด้วยอันเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยทั้งสองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าวด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด คงมีแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นยอมเข้ามอบตัวเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไป และสมัครใจรับสารภาพตามฟ้อง
          "กรณีมีเหตุผลสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยทั้งสองให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะแก่รูปคดี แต่ตามพฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยทั้งสองส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน"
          อนึ่งระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 6 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
           ด้านนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีกระแสความคิดในหมู่ประชาชนว่าคดีนี้ศาลลงโทษคนชราที่ทำผิดเล็กน้อย และต้องเข้าคุก ทำให้เกิดความสะเทือนใจจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ นายสืบพงษ์กล่าวว่า คดีนี้ขณะกระทำผิดตายายอายุ 48 ปี ไม่ใช่คนชรา และขณะเป็นผู้ต้องหาก็ได้รับการแจ้งสิทธิ์ว่าต้องการพบทนายความหรือไม่ เมื่อถูกฟ้องศาล จำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจต่อหน้าศาล ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 บอกว่าในคดีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไม่เกิน 5 ปี ศาลลงโทษได้โดยไม่ต้องสืบพยานประกอบ
กังขานายทุนลอยนวล
          "และกฎหมายให้ถามว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและต้องการศาลจะจัดให้ตามมาตรา 176 แต่จำเลยทั้งสองไม่ต้องการ ศาลจึงไม่มีข้อเท็จจริงจากฝ่ายจำเลย จึงพิพากษาไปตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ดังนั้นคดีนี้รูปคดีไม่มีข้อมูลจากฝ่ายจำเลย เมื่อยื่นฎีกาเข้ามาก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงรับฟังไม่ได้"
          นายสืบพงษ์กล่าวด้วยว่า ขอให้สังคมตระหนักว่า เมื่อถูกจับเป็นผู้ต้องหาควรรู้สิทธิเบื้องต้น หากไม่รู้ก็ถามญาติหรือใครก็ได้ เพื่อให้พาไปพบกรมคุ้มครองสิทธิฯ หรือพบทนายความประจำโรงพักทั่วประเทศ หรือปรึกษาพบทนายจากสภาทนายความในเบื้องต้น หรือไปที่ศาลพบเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ส่วนเรื่องที่ทนายจำเลยบอกว่าจะรื้อฟื้นคดีนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หากมีพยานหลักฐานชิ้นใหม่ก็ไปร้องรื้อฟื้นคดีตามสิทธิได้ ส่วนเรื่องพักโทษ หากได้รับโทษมาแล้วหนึ่งในสาม และเป็นผู้ชราก็ขอพักโทษได้ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของกระทรวงยุติธรรม
          นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) กล่าวถึงคดีดังกล่าวว่า เป็นบทเรียนสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยเฉพาะต้นธาร คือระบบการสอบสวนของตำรวจ ที่ทำให้ศาลต้องสั่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน โดยข้อสงสัยของคดีนี้คือ ไม้ที่ถูกตัดโค่นกว่าพันท่อน จะเป็นฝีมือของสองตายายตามลำพังได้อย่างไร อาจจะเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่บันทึกการจับกุมแต่แรก และหากเกี่ยวข้องก็น่าจะเป็นการตัดตอนคดี เพราะน่าเชื่อว่าจะต้องมีขบวนการที่ใหญ่กว่านั้น ร่วมกันตัดไม้ส่งขายให้นายทุน แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบผู้กระทำผิดที่แท้จริง โดยเฉพาะกล่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกตัดไม้ในป่าสงวนคดีนี้ รวมไปถึงการดำเนินคดีอื่นๆ ที่มีปัญหาการสอบสวนในลักษณะเดียวกันอีกมากมาย
          เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจเห็นว่า ต้องปฏิรูประบบงานสอบสวนโดยด่วน โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนี้ 1.กำหนดให้มีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพและเสียงในห้องสอบสวน และการสอบปากคำบุคคลต้องกระทำในห้องนี้เท่านั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด 2.ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีอาญาที่มีโทษจำคุกเกินสิบปี หรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี 3. จัดตั้งสำนักงานสอบสวนคดีอาญาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงยุติธรรม โอนงานและหน่วยสอบสวนคดีอาญาของสำนักงานตำรวจแห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาอยู่ในสังกัด สร้างหลักประกันความยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นให้กับประชาชน
          "ที่ผ่านมาคนจนไม่รู้กฎหมาย จึงกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ขาใหญ่ลอยนวลเพราะหลักฐานไปไม่ถึง ที่ชาวบ้านเปรียบเปรยไว้ว่าคุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น แต่คนรวยมักรอดคดี หรืออาจเตะถ่วงคดีล่าช้าเหมือนคดีทายาทกระทิงแดง จึงถูกกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติในคดีคนจนกับคดีคนรวยต่างกันเรื่อยมา" นายเมธาระบุ.

          ที่มา: www.thaipost.net