เอกซเรย์ 3 เรื่องจริง ที่พนักงานแบงก์ไม่ค่อยได้บอกคุณลูกค้า
Source - เว็บไซต์ไทยรัฐ (Th)

Wednesday, May 17, 2017  07:22
1170 XTHAI XECON ECO V%NETNEWS P%WTR

          หากคุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้ เมื่อก้าวเข้าไปทำธุรกรรมการเงินที่ธนาคาร
          "ลูกค้าคะ สนใจทำบัตรเดบิตที่มีประกันอุบัติเหตุไหมค่ะ"
          "คุณคะ การขอสินเชื่อบ้านของเรามี 2 แพ็กเกจนะคะ ถ้าซื้อประกันชีวิตกับเราจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่านี้นะคะ"
          "คุณพี่ครับ สนใจแบ่งเงินฝากมาฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง พร้อมกับความคุ้มครองชีวิตไหมครับ"
          หลายคนมีคำถาม "เราจำเป็นต้องซื้อ หรือต้องทำตามที่เขาแนะนำหรือไม่" วันนี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" มีคำตอบมาฝากกัน
          ประเด็นแรก การทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต นั้น เราสามารถปฏิเสธ และมีสิทธิเลือกบัตรที่ไม่มีการขายประกันชีวิต หรือ ประกันอุบัติเหตุได้ แต่หากใครมองว่า ความคุ้มครองที่พ่วงมากับบัตรเป็นประโยชน์ และมีราคาไม่แพงก็สามารถทำได้
          ประเด็นที่สอง สินเชื่อบางประเภทที่ธนาคารกำหนดให้ทำประกันนั้น เราสามารถเลือกที่จะซื้อประกันประเภทดังกล่าวได้กับบริษัทประกันใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อกับพนักงานธนาคาร
          ประเด็นที่สาม ต้องเข้าใจก่อนว่า ประกันชีวิตไม่ใช่เงินฝาก แม้จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก แต่ต้องไม่ลืมว่า คุณต้องส่งเงินประกันให้ครบตามจำนวนปีที่กรมธรรม์ระบุไว้ ถึงจะได้เงินพร้อมผลตอบแทน แต่ถ้าเราส่งเงินประกันไม่ถึงตามที่ระบุ แน่นอนว่าเงินที่ได้รับคืนนั้นจะน้อยกว่าเงินที่จ่ายไป
          สำหรับ ประกันที่ธนาคารส่วนใหญ่จะเสนอขายนั้น จะเป็นรูปแบบกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกัน เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาเอาประกันภัย
          ทั้งนี้ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ซึ่งการออมทรัพย์ คือเงิน หรือ ส่วนที่ผู้เอาประกันภัย จะได้รับเงินคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด?
          อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการที่ยกเลิกประกันก่อนกำหนด เงินที่ได้รับคืนจะน้อยกว่าเงินที่จ่ายไป แต่หากยกเลิกภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ เราจะได้รับเบี้ยประกันภัยคืน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายฉบับละ 500 บาท และถ้าหากมีค่าตรวจสุขภาพ ก็จะต้องจ่ายคืนด้วย
          'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' อยากจะบอกกับผู้อ่านที่รักทุกคนว่า การซื้อประกัน เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเรา แต่อย่างไรก็ตาม การซื้อประกันที่ดีนั้น จะต้องมี 3 ข้อหลัก ที่เราควรจะเข้าใจก่อนที่จะตกลงกับคนขายประกันก่อน
          1. ต้องเข้าใจตัวเราเองก่อน ว่าจะซื้อประกันไปเพื่ออะไร เช่น คุ้มครองสุขภาพ คุ้มครองหากเกิดอุบัติเหตุ คุ้มครองหากเกิดไฟไหม้ คุ้มครองเพื่อคนที่คุณรัก หรือ คุ้มครองภาระหนี้สินที่เรามีไว้
          2. ศึกษารูปแบบประกัน บริษัทประกัน และตัวแทนประกันชีวิตให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อ ท่องจำไว้เสมอว่า อย่าซื้อเพราะเกรงใจคนขาย ต้องซื้อเพราะผลประโยชน์ของตัวเรา
          3. หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย ติดต่อโดยตรงกับบริษัทประกัน แต่หากปัญหาเหล่านั้น ไม่ได้รับการแก้ไข สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ใกล้บ้านท่าน หรือ โทร 1186
          ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

          ที่มา: www.thairath.co.th