สคบ.คุมเข้มธุรกิจเสริมความงาม
Source - ไทยโพสต์ (Th)

Thursday, June 08, 2017  08:25
50674 XTHAI XGEN IKEY V%PAPERL P%TPD

          สคบ.ติดตามข้อร้องเรียนสถานเสริมความงามพบปัญหา บริการไม่ตรงกับโฆษณา คุณภาพการบริการไม่มาตรฐาน ตลอดจนไม่มีแพทย์เฉพาะทางอยู่บริการประจำ ส่งผลเสี่ยงแก่ผู้ใช้บริการ พร้อมกำหนดมาตรฐานการป้องกันแก้ไขปัญหา เน้นย้ำ 6 ข้อสำคัญ เตือนผู้ใช้บริการสังเกตข้อมูลข้อเท็จจริง อย่าตกเป็นเหยื่อสถานเสริมความงาม เสี่ยงเสียเงิน เสียโฉม หรืออันตรายถึงชีวิต
          สคบ.ขยายประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมา ปัญหาธุรกิจสถานเสริมความงามเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน จากข้อมูลสถิติการร้องเรียนกับ สคบ.พบว่า ปี 56 จำนวน 36 ราย ปี 57 จำนวน 185 ราย ปี 58 จำนวน 373 ราย และปี 59 จำนวน 453 ราย เห็นได้ชัดว่ามีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีกรณีความเสียหาย ที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ หรือผลการตกแต่งไม่สวยงามเหมือนที่โฆษณาไว้ จนบางครั้งรุนแรงถึงแก่ชีวิต ซึ่งได้มีการแยกประเภทของปัญหาไว้ 2 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 ประเภทการเสริมความงามโดยแพทย์ เช่น ศัลยกรรมตกแต่ง เสริมจมูก หน้าอก ทำตา ๒ ชั้น ฉีดโบทอกซ์ ดูดไขมัน การลดความอ้วนโดยใช้เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ พบปัญหาร้องเรียนหลายกรณี อาทิ จมูกเบี้ยว หน้าอกไม่ได้ขนาด ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน เกิดการอักเสบหลังทำศัลยกรรม หรือได้รับความเสียหายจากการทำศัลยกรรม สถานประกอบการไม่มีแพทย์ประจำ, ไม่ได้ผลตามที่ตกลงหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล หรืออยู่ระหว่างขอใบอนุญาตแต่เปิดให้บริการก่อน, ไม่มีแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะด้านเป็นผู้ให้บริการโดยตรง เป็นต้น และประเภทที่ 2 คือการเสริมความงามที่ไม่ใช่โดยฝีมือแพทย์ เช่น ทรีทเมนท์บำรุงผิว การลดความอ้วนโดยไม่ใช้เครื่องมือแพทย์กระชับสัดส่วนฯลฯ มีประเด็นร้องเรียน เช่น เสนอขายคอร์สเสริมความงามเกินวงเงิน เช่น ชำระ 100,000 บาท แต่สามารถใช้บริการได้ในวงเงิน 300,000 บาท, ไม่ได้ผลตามที่ตกลงหรือไปเป็นตามโฆษณา, ไม่จำกัดระยะเวลาการใช้บริการ แต่ไม่สามารถใช้บริการได้ตามที่ตกลง, ไม่ระบุวัน เดือน ปี เริ่มต้นและสิ้นสุดคอร์ส, โฆษณาเกินจริงว่าหากใช้บริการแล้วจะเห็นผลทันที เป็นต้น
          จากข้อร้องเรียนต่างๆ จะสังเกตได้ว่า ปัญหาเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการที่ไม่ตรงกับที่ได้โฆษณา รองลงมาจะเป็นปัญหาด้านพนักงานที่ให้บริการไม่มีความชำนาญ ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการ นอกจากนี้จะเป็นในด้านของการควบคุมคุณภาพการให้บริการซึ่งอาจส่งผลถึงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพโดยรวม เช่น ปัญหาเรื่อง "หมอกระเป๋า" ที่เคยเป็นข่าว ที่ให้บริการฉีดโบทอกซ์ หรือสารเคมีอื่น ๆ นอกสถานที่เมื่อเกิดปัญหาผิดพลาดจึงไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน เพราะไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉิน หรือแพทย์ผู้ชำนาญในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
          พลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฉลิมวุมิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหานี้อย่างตรงจุด สคบ.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรงคือ แพทยสภา, กรมการแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดมาตรการแก้ไข และป้องกัน 6 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1.จะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานเสริมความงามจากกระทรวงสาธารณสุข 2. จะต้องจัดแพทย์เฉพาะทางที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และรักษาผู้รับบริการในทุกสาขา โดยมีการติดประกาศรายชื่อแพทย์ผู้ทำการรักษาในแต่ละวันไว้ที่สถานประกอบการอย่างชัดเจน 3. เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นต้องแก้ไขไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำขึ้นอีก 4. กำหนดราคาค่าบริการที่เป็นธรรม โดยใช้มาตรฐานราคากลางเป็นหลัก ซึ่งแพทยสภาได้มีการกำหนดมาตรฐานราคาค่าบริการไว้แล้ว 5. ใช้ข้อความโฆษณาที่เป็นธรรม ไม่ใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า และดำเนินการโฆษณาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด 6. กรณีผู้ใช้บริการอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
          หากผู้บริโภคมีข้อสงสัย หรือพบเห็นการให้บริการที่ไม่ถูกต้องกับหลักเกณฑ์นี้ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน สคบ.1166--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์