คอลัมน์: มุมบริการ: ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ พร้อมบริการและดูแล ผู้ด้อยโอกาส
Source - มติชน (Th)

Friday, June 16, 2017  06:03
801 XTHAI XEDU XREL MIDD DAS V%PAPERL P%MTCD

          ปัญหาของผู้ด้อยโอกาสในสังคมส่วนใหญ่จะถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ขาดการยอมรับจากสังคม กรมการปกครอง ซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน จึงได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอขึ้นเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนและให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ยังรวมถึงการดูแลผู้ด้อยโอกาส คนพิการ หรือครอบครัวยากจน ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ด้วย เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับการดูแลช่วยเหลือตามสมควร และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้แจ้งแนวทางให้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอปฏิบัติ ดังนี้
          1) สำรวจผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ครอบครัวยากจนที่ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
          2) วิธีการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสสามารถดำเนินการได้โดย2.1 ขึ้นทะเบียนรายชื่อแล้วส่งชื่อให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมาย เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพต่างๆ เป็นต้น
          2.2 ประสานกาชาดจังหวัดหรือมูลนิธิการกุศลหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
          2.3 หากพื้นที่มีบริษัทเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจที่มีงบดูแลช่วยเหลือสังคม (CSR) ให้ประสานบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น เช่น นำรถเข็นคนพิการมามอบหรือแจกมือแขนเท้าเทียม เป็นต้น หรืออาจมอบทุนการศึกษา
          2.4 ตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับบัตรประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าหรือไม่ แล้วประสานสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่มาดำเนินการ
          2.5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่งอาจมีการตั้งงบดูแลผู้ด้อยโอกาสไว้แล้ว จึงให้ประสานงานว่าคนด้อยโอกาสเหล่านั้นได้รับการบริการความช่วยเหลือหรือไม่
          นอกจากนี้ อำเภอยังมีชุดปฏิบัติการตำบล (ชปต.) ที่มีข้าราชการในตำบลและผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น อันได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งอาสาสมัครต่างๆ ได้ร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมอำนวยการศูนย์ดำรงธรรมอำเภอที่มีนายอำเภอเป็นผู้บริหารจัดการ
--จบ--

          --มติชน ฉบับวันที่ 17 มิ.ย. 2560 (กรอบบ่าย)--