ผู้เสียหาย”ทรูฟิตเนส- ทรูสปา -ทรูเอส” ร้องปปง. ตรวจกลุ่มทรูกรุ๊ป หวั่นซ้ำรอย”แคลิฟอร์เนีย ว้าว”
Source - สปริงนิวส์ (Th)

Friday, June 16, 2017  21:42
34742 XTHAI XLEGAL XETHIC CRIM V%WIREL P%SPNO

          กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้บริการของบริษัท ทรูฟิตเนส จำกัด บริษัท ทรูสปา จำกัด และ ทรูเอสคลินิกเวชกรรม จำนวน 30 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินบริษัทในกลุ่มทรูกรุ๊ป ต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพาณิช เลขานุการปปง. เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียนและกล่าวว่า จะดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่าบริษัททรูฟิตเนส และบริษัทที่เกี่ยวข้องกระทำความผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
          วันที่ 16 มิถุนายน 2560- น.ส.ประภารัตน์ พิริยะอนันตกุล แกนนำผู้เสียหายกล่าวว่า ผู้เสียหายที่มายื่นเรื่องนั้นมีทั้งรับบริการออกกำลังกายและบริการสปา ได้จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้าไปแล้วมูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท
          “อยากให้ปปง.ตรวจสอบการเงินและหากมีทรัพย์สินที่จะสามารถอายัดไว้ก่อน อยากให้มีการดำเนินการอายัด และชดใช้ให้กับสมาชิกที่เสียหายก่อนบางส่วน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้เสียหายในกลุ่ม” น.ส.ประภารัตน์กล่าว
          น.ส.นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การนำผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือที่ปปง.วันนี้เพราะ กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากทราบว่ากรรมการบางท่านที่อยู่ในทรูฟิตเนส เคยเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน)
          “มีผู้บริโภคเข้าร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 72 ราย มูลค่าความเสียหาย3 ล้านบาท หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทฯ เพื่อผู้บริโภคจะได้ทราบว่าเงินค่าสมาชิกถูกนำไปใช้ในส่วนใดบ้าง หรือถูกโอนถ่ายเงินไปต่างประเทศ เช่นกรณีแคลิฟอร์เนียว้าว ที่ตรวจพบว่ามีการโอนเงินไปต่างประเทศแล้ว และอยากให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเข้าร้องเรียน ซึ่งสามารถร้องเรียนได้ ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว
          ทั้งนี้จากการสอบถามกลุ่มผู้เสียหายพบว่า สาเหตุที่สมัครสมาชิกเพราะทางตัวแทนขายได้เสนอแพ็คเกจ 3 ปี แถมบริการอีก 6 เดือน และยังพบว่าผู้เสียหายบางรายสมัครแพ็คเก็จตั้งแต่ปี 2015 มูลค่ากว่า 4 แสนกว่าบาท และเพิ่งจะสมัครเพิ่มเมื่อพ.ค. 2560 จำนวน 2 หมื่นบาท และยังไม่ได้ใช้บริการ และยังมีอีกหลายรายที่เจอเหตุการณ์เดียวกัน

          ที่มา: www.springnews.co.th