เปิดเหตุผลคลายปม'5ประเด็นเห็นต่าง'แก้ พ.ร.บ.บัตรทอง
Source - มติชน (Th)

Saturday, June 24, 2017  06:02
3543 XTHAI XOTHER XCOMMENT MIDD DAS V%PAPERL P%MTCD

          วารุณี สิทธิรังสรรค์          Waruneecat11@gmail.com
          นาทีนี้หากไม่พูดถึงประเด็นปมเห็นต่างแก้ "กฎหมายบัตรทอง" หรือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 คงไม่ได้
          ถือเป็นประเด็นฮอตฮิตเวลานี้
          เห็นจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่แสดงออกไม่เอาการแก้กฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน
          ตั้งแต่วอล์กเอาต์เวทีประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภาค หนักสุดปิดเวทีที่ จ.ขอนแก่น ขณะที่กรุงเทพฯก็วุ่นวายตรงภาคประชาชนบอกว่า มีชายนิรนามไม่ทราบฝ่ายเข้าล็อก นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนหลักประกันสุขภาพ เพราะไม่ให้มีการ ไฮด์ปาร์ก คู่ขนานเวทีประชาพิจารณ์ งานนี้ยังดีเวทีหลักยังเดินต่อไปได้ มาจนถึงวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมากับเวทีปรึกษาสาธารณะ เวทีสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็นนัดพิเศษ ซึ่งเพิ่มเติมขึ้นมาเฉพาะให้เห็นถึงข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม ปรากฏว่าก็เกิดเหตุอีก ภาคประชาชนไม่ยอมเข้าร่วม แต่ตั้งกลุ่มเปิดประเด็นข้อเสนอแนะ และนำไปสู่การยื่นหนังสือชี้แจงแนวทางการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้กฎหมาย
          สรุปคือ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายบัตรทอง เพียง 4 ประเด็น อีก 5 ประเด็นเห็นต่าง และอีก 7 ประเด็นสำคัญแก้แล้วดีขึ้น แต่ต้องแก้อย่างเหมาะสมตามข้อเสนอของกลุ่มนั่นเอง
          โดยต้องการยื่นแก่ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ.. แต่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ เป็นผู้รับ พร้อมทั้งบอกว่า ข้อเห็นต่างของกลุ่ม คือ ต้องการให้มีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นขึ้น ซึ่ง สช.จะดำเนินการให้ แต่จะทำได้ในปีงบประมาณหน้าเพราะครั้งนี้ไม่ทัน แต่ขณะเดียวกันข้อเห็นต่างก็จำเป็นต้องใส่ไว้เพื่อรวบรวมไปพร้อมกับความคิดเห็นอื่นๆ ให้แก่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
          แสดงว่าความเห็นต่างที่ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพตั้งไว้ 5 ประเด็น ยังคงต้องเสนอคณะกรรมการ ชุด รศ.วรากรณ์ และแน่นอนว่า รศ.วรากรณ์ บอกแล้วว่า จะมีการแนบความเห็นต่างส่งไปกับรายงานทั้งหมดให้แก่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่วนจะมีการตั้งทีมพิจารณาอีกชุดเกี่ยวกับประเด็นนี้หรือไม่คงต้องติดตาม
          งานนี้ นายนิมิตร์มองว่าจะให้โอกาส และจะรอการพิจารณาของคณะกรรมการ ชุด รศ.วรากรณ์ว่า จะพิจารณาอย่างไรในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ แน่นอนว่า หากไม่เป็นไปตามข้อเสนอ ภาคประชาชนเคลื่อนไหวอีกเป็นแน่
          นับจากนี้ไม่ใช่ว่าจะจบลงง่ายๆ แต่เป็นช่วงเวลาที่รอการปะทุ เนื่องจากหากพิจารณา 5 ประเด็นที่เห็นต่าง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เพราะถือเป็นหัวใจหลักปมปัญหาระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขมานาน ทั้งนี้ หากพิจารณาประเด็นเห็นต่าง 5 ข้ออย่างพอสังเขปจะพบว่า
          ประเด็นแรก ที่เห็นต่างคือ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองว่า ไม่ควรเพิ่มคำว่า "เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ" ตามมาตรา 3 เนื่องจากการเพิ่มนิยามคำนี้ จะเป็นการขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนในมาตรา 38 ที่ระบุว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ แต่การแก้ไขกลับเพิ่มนิยามที่จะส่งผลให้ไปจำกัดความหมายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม การจัดบริการ ซึ่งสามารถสนับสนุนรูปแบบอื่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะตัวเงิน เช่น สนับสนุนเป็นยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น
          รวมทั้งไม่เห็นด้วยเรื่องการแก้ไขนิยาม "สถานบริการ"ตามมาตรา 3 เพราะหลักการแล้วนอกจากมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการด้านสุขภาพของประชาชน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เสนอให้เพิ่มนิยามใหม่ คือ "องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร"
          ขณะที่เอกสารของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ได้จัดทำเอกสารเหตุผลต่างๆ อย่าง กรณีนี้ ให้เหตุผลว่า ตาม พ.ร.บ.เดิมเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ สามารถจ่ายให้แก่หน่วยบริการ สถานบริการ ผู้รับบริการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่พบว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ จ่ายให้หน่วยงาน องค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย ซึ่งทำให้หน่วยตรวจสอบภาครัฐตั้งข้อสังเกตว่า สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งต่อมา คสช.ได้ออกคำสั่งที่ 37/2559 กำหนดให้หน่วยงาน องค์กรมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการภาครัฐ จึงทำให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เงินกองทุน สามารถจ่ายให้แก่ผู้ให้บริการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกัน เป็นต้น
          ขณะที่สถานบริการ หมายความว่า สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ของเอกชน และของสภากาชาดไทย หน่วยบริการ การประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ และสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
          ประเด็นเห็นต่างที่ 2  คือ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 องค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ (บอร์ด สปสช.) กรณีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน เพราะขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ และให้คงจำนวนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเดิม และเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการในระดับต่างๆ จำนวน 5 คน เป็นต้น
          เหตุผลของการแก้ไขมาตรานี้ คือ ความไม่สมดุลในองค์ประกอบ จำนวน และอำนาจหน้าที่ของบอร์ด สปสช. ทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการกองทุน จนมีข้อทักท้วงจากหน่วยตรวจสอบ ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ในประเด็นการออกประกาศระเบียบ ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ทำให้หน่วยบริการได้รับผลกระทบ
          ประเด็นที่ 3  คือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่มีการระบุเพียงให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย โดยให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และให้เพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย เพื่อลดการฟ้องคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม
          เหตุผลที่แก้ไขของคณะกรรมการ คือ ที่ผ่านมาเงิน กองทุน จ่ายให้เฉพาะผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ส่วนผู้ให้บริการไม่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งในความจริงผู้ให้บริการมีความเสี่ยงด้วย ต่อมา คสช.มีคำสั่งกำหนดให้ช่วยเหลือผู้ให้บริการได้ จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ
          ประเด็นที่ 4 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 46 แยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่าย
          หนังสือพิมพ์มติชนรายวันรายหัว เพราะจะกระทบต่อการกระจายบุคลากร และในการแก้ไขมาตรานี้มีนัยสำคัญที่จะส่งผลต่อประชาชนด้านการเข้าถึงบริการ เพราะหากบุคลากรไม่เพียงพอ หากจะแก้ไขต้องมีการศึกษาด้านวิชาการประกอบการพิจารณามาตรานี้
          เหตุผลของการแก้ไข คือ เนื่องจากได้มีการนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี ส่งผลให้เงินกองทุน ที่ใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนลดน้อยลงไป เกิดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข สร้างความสับสน ทำให้ไม่สามารถประเมินความเพียงพอของเงินกองทุน และไม่สะท้อนปัญหาทางการเงินที่แท้จริงของหน่วยบริการ ภาครัฐ จึงต้องมีการแก้ไขโดยยกเลิกมาตรานี้ และให้นำเงินเดือนและค่าตอบแทนออกเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการ
          ประเด็นที่ 5 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 48(8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพ และผู้ให้บริการ เนื่องจากจะเป็นการลดสมดุลกรรมการในการพิจารณากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้ป่วย ซึ่งในกฎหมายเดิม สัดส่วนผู้ให้บริการมีมากอยู่แล้ว ขณะที่สัดส่วนผู้ป่วยกลับมีสัดส่วนน้อย จึงควรเพิ่มตัวแทนภาคประชาชน สัดส่วนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการตามมาตรา 50(5) และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
          เหตุผลการแก้ไขคือ ที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สามารถขับเคลื่อนการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขได้ระดับหนึ่ง อัตราราคากลางยังไม่เป็นปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนต้นทุนการให้บริการที่แปรผันตามสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โรค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และการจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมให้แก่หน่วยบริการ จึงแก้ไขเพิ่มเติมในองค์ประกอบจำนวนและอำนาจหน้าที่ ให้สามารถขับเคลื่อนการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขได้ เป็นต้น
          ทั้งหมดเป็นข้อเห็นต่าง และเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายฉบับนี้ แน่นอนว่า สุดท้ายยังไม่รู้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับรับฟังความคิดเห็นจะออมมารูปแบบใด แต่ทั้งหมดหากยึดประชาชนเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง หากเจตนาดี ไม่มีประโยชน์แอบแฝง เชื่อว่าจะผ่านพ้นไปได้
--จบ--

          --มติชน ฉบับวันที่ 25 มิ.ย. 2560 (กรอบบ่าย)--