คอลัมน์: สกู๊ปหน้า 1: จากเอาเปรียบถึงทิ้ง! 'ปัญหาฟิตเนส'คุมสัญญาก็'ยังเกิด?'
Source - เดลินิวส์ (Th)

Friday, June 30, 2017  02:07
33680 XTHAI XOTHER XFRONT DAS V%PAPERL P%DND

          กรณี "ดราม่าฟิตเนส" กรณีที่มีฟิตเนสชื่อดังบางแห่งปิดกิจการปุบปับ "ลอยแพสมาชิกฟิตเนส" จนเกิดกระแสเซ็งแซ่ในสังคมและในโลกออนไลน์เมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น กับเรื่องทำนองนี้...เป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีที่เพิ่งเซ็งแซ่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดกรณี "ฟิตเนสลอยแพสมาชิก" อยู่เนือง ๆ ซึ่งกับธุรกิจทางด้านนี้...ก็มี "เสียงสะท้อน" จากลูกค้า...
          จากมุม "ผู้ใช้บริการ" กับ "ธุรกิจฟิตเนส"
          ที่มีประเด็นน่าคิดมิใช่น้อย...กับแวดวงนี้...
          'เทรนด์ฟิตแอนด์เฟิร์มที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้เม็ดเงินในธุรกิจฟิตเนสมีมูลค่ามหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจด้านนี้มีการแข่งขันรุนแรงไม่แพ้ธุรกิจด้านอื่น ๆ ดูได้จากการแข่งกันหาลูกค้า โดยเฉพาะจากการหาลูกค้าสมาชิกรายปี เพราะถ้าที่ไหนมีลูกค้าประเภทนี้มาก ก็จะมีรายได้ที่แน่นอน" ...เป็น ภาพการแข่งขัน ของธุรกิจนี้ ที่ทาง นิค-สราวุธ วัย 38 ปี สมาชิกฟิตเนสแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สะท้อนไว้กับ "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์"
          พร้อมสะท้อน "กลยุทธ์ฟิตเนส" ว่า...การหาสมาชิก ส่วนใหญ่จะใช้พนักงานขาย หรือเซลส์ โดย เน้นให้สมัครประเภทรายปีเป็น หลัก ด้วยการใช้ ราคา-โปรโมชั่น ดึงดูดให้รีบตัดสินใจ และส่วนใหญ่เซลส์ก็จะเหมือนกันทุกที่คือ พูดเก่ง-โน้มน้าวดี รวมถึงมักย้ำทุกครั้งที่เสนอขายว่า "สมัครแพ็กเกจนี้แล้วคุ้มค่า" ...เป็นกลยุทธ์หาลูกค้าของฟิตเนสยุคนี้
          "รูปแบบสมาชิกฟิตเนส" นั้น นิค แหล่งข่าวรายเดิมอธิบายว่า...จะแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ คือ...รายเดือน, ราย 6 เดือน, รายปี, ราย 3 ปี และแบบถาวรตลอดชีพ โดยยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เช่น...หากเป็นสมาชิกรายเดือน จะต้องจ่ายค่าสมาชิกที่ประมาณ 2,500-3,000 บาท บวกด้วยค่าแรกเข้ากับค่าทำบัตรสมาชิกอีกราว 300-400 บาท ถ้าสมัครประเภทรายปี จะตกอยู่ที่ 20,500 บาท แต่จะ "ได้โปรโมชั่น"โดยได้เวลาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก 1 เดือน เท่ากับสามารถใช้บริการได้ทั้งหมด 13 เดือน เฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่เดือนละแค่ 1,500 บาท ซึ่งถูกกว่าสมาชิกรายเดือนมาก ...นี่เป็นจุดโน้มน้าวให้สมัครรายปี
          และถ้าสมัครสมาชิกแบบถาวรตลอดชีพ ราคาก็จะยิ่งถูกลงไปอีก ทำให้บางคนที่มีฐานะ มีกำลังจ่าย ยอมควักเงินก้อนโตเพื่อสมัครสมาชิกประเภทตลอดชีพนี้ ซึ่งก็ถือเป็นการจ่ายซื้อบริการที่คุ้มค่าถ้าไม่มีกรณี "ถูกฟิตเนสลอยแพ" เกิดขึ้น!!
          ผู้ที่นิยมเข้าฟิตเนสแบบเป็นสมาชิกคนเดิมบอกอีกว่า...ความจริงตนเองก็ตั้งใจจะสมัครสมาชิกแบบรายปี แต่แฟนได้เตือนสติว่า...ค่าแรกเข้า และค่าบัตรสมาชิก ก็เป็นแบบตลอดชีพอยู่แล้ว อีกทั้งกิจวัตรและการงานประจำวันก็ทำให้ไม่สามารถเข้าใช้บริการฟิตเนสได้ทุกวัน แถมวันที่เข้าใช้ก็จะใช้เวลาอยู่แค่เพียงครั้งละ 1-2 ชั่วโมง แฟน จึงแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกแบบรายเดือน เพราะไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ ซึ่งถ้าเรารู้ตัวว่าเดือนไหนจะไม่ว่าง ไม่ได้เข้าฟิตเนส ก็ไม่ต้องจ่ายในส่วนนี้
          'เราเลยสมัครแบบรายเดือน จ่ายระยะสั้น แต่ก็เห็นใจหลาย ๆ คน เพราะหลาย ๆ คนก็อยากออกกำลังกายประจำ จึงยอมจ่ายเงินก้อน ก็ยิ่งน่าเห็นใจถ้าสุดท้ายไม่ได้เล่นแบบที่ตั้งใจ ต้องเจ็บใจที่ถูกลอยแพ" ...นิค กล่าว
          ด้าน จิน-จินตนา พนักงานบริษัทเอกชน วัย 31 ปี สมาชิกฟิตเนสในกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง ก็สะท้อนว่า...พนักงานหรือเซลส์ฟิตเนสมักมี เทคนิคการขาย จิตวิทยา อาทิ นำเทรนเนอร์มานั่งแนะนำลูกค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมจูงใจด้วยการให้ทดลองใช้ฟรีก่อน 1 ครั้ง ซึ่งด้วยเทคนิค ด้วยกลยุทธ์ทำนองนี้ ทำให้ลูกค้าตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกของฟิตเนสได้ไม่ยากนัก
          'ตอนแรกก็ตั้งใจจะสมัครแค่รายเดือน แต่ตอนไปลองเล่นฟรีมีเทรนเนอร์มาแนะนำอย่างใกล้ชิดดีมาก อีกทั้งก็ชอบบรรยากาศด้วย จึงตัดสินเป็นสมาชิกแบบรายปีเลย" ...เป็นคำบอกเล่าจากผู้ที่เป็นสมาชิกฟิตเนสรายนี้ และ...
          'ตอนนั้นมัวแต่สนใจเรื่องราคาที่ถูก และโปรโมชั่นที่แถมด้วย จึงมองข้ามเรื่องบริการหลังการขาย และความคุ้มค่าในการไปใช้บริการไปเลย ซึ่งพอตอนหลัง ๆ เราก็เริ่มจะไม่ค่อยได้ไปใช้บริการ แถมตอนนี้ผ่านมา 4 เดือนแล้วก็ยังจ่ายหนี้บัตรเครดิตที่รูดซื้อคอร์สแบบรายปีไม่หมดเลย ก็ถือเป็นบทเรียนที่ต้องจำ" ...จิน ระบุ
          ทั้งนี้ กรณีหว่านล้อมให้ลูกค้าเป็นสมาชิกรายปี กรณีที่หลัง ๆ บริการไม่น่าประทับใจ นั่นก็ว่ากันไป ขณะที่กับกรณีที่ถึงขั้น "ลอยแพลูกค้า" เลยนั้น ก็มีข้อมูลของทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่สรุปได้ว่า...เรื่องนี้ได้มีการออก ประกาศเรื่องการให้ธุรกิจให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2554 ซึ่งธุรกิจฟิตเนส โรงยิม สถานบริการออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ ที่ให้ใช้สถานที่และอุปกรณ์เพื่อการค้า เป็น "ธุรกิจที่ต้องถูกควบคุมสัญญา" จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งหากฟิตเนสมีการกระทำไม่ถูกต้องก็ต้องถูกดำเนินการเอาผิด
          อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโยคะ ศิลปะป้องกันตัว และกีฬาที่จัดโดยหน่วยงานราชการ สมาคม องค์กรที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นการค้า รวมถึงการให้บริการแก่ลูกค้าของธุรกิจโรงแรม ได้รับการยกเว้น โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ประกาศตามกฎหมายนี้ ซึ่งจากข้อมูลของทาง สคบ. ก็มีการ เน้นย้ำไว้ว่า...การดำเนินการเรื่อง 'ธุรกิจที่ต้องถูกควบคุมสัญญา" นี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความคุ้มครองมากขึ้น เนื่องจากเดิมนั้น มีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ อยู่บ่อย ๆ
          ก็น่าคิด...ฟิตเนสเป็นธุรกิจที่ต้องถูกควบคุมสัญญา
          กับกรณี...'ฟิตเนสปิดกิจการลอยแพลูกค้าดื้อ ๆ"
          กรณีเช่นนี้มีเกิดขึ้น...'จะมีอีกบ่อย ๆ หรือไม่??".--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์