แนะวัดทั่วประเทศตื่นตัวทำบัญชี การันตีความโปร่งใสทรัพย์สิน-ลดปัญหาทุจริต
Source - ข่าวสด (Th)

Monday, July 10, 2017  05:03
37342 XTHAI XREL MIDD DAS V%PAPERL P%KSD

          นายอินทพร จันเอี่ยม ผอ.สำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินวัด ที่อาคารราชวิริยาลังการ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม ว่า การให้ความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีทรัพย์สินวัดเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยในปี 2561 ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้กำหนดตัวชี้วัดการจัดทำบัญชีวัดขึ้นใหม่ต้องรายงานบัญชีรายรับรายจ่ายแบบมาตรฐาน คือ ต้องมี ผู้ตรวจบัญชีที่ละเอียดซับซ้อน ซึ่งวัดส่วนใหญ่ทั่วประเทศไม่สามารถทำได้ และจะเกิดปัญหาตามมา ดังนั้น สำนักพุทธฯ กำลังต่อรองกับทาง ก.พ.ร. ขอให้วัดจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่ายเช่นที่ทำอยู่ปัจจุบัน พร้อมแสดงใบสำคัญรับจ่ายเงินก็จะไม่เป็นปัญหาแก่วัดทั่วประเทศ เพราะวัดใหญ่นั้นไม่มีปัญหาเพราะสามารถว่าจ้างนักบัญชีมืออาชีพมาทำได้ แต่วัดเล็กๆ รายได้ไม่ได้มีทุกวันย่อมเกิดปัญหาแน่นอน แต่ ก.พ.ร.ก็ยังยืนยันให้ใช้บัญชีแบบมาตรฐานอยู่ ขณะเดียวกัน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เห็นแย้ง ก.พ.ร.ว่า หากวัดทำบัญชีมาตรฐานคงไม่เหมาะ เพราะต้องอาศัยนักบัญชี ซึ่งวัดส่วนใหญ่ไม่มีกำลังดำเนินการได้
          นายอินทพรกล่าวต่อว่า สำหรับการรายงานบัญชีวัดประจำปี 2560 ก.พ.ร.ได้กำหนดให้ทุกวัดจำนวน 40,000 วัด ต้องรายงานบัญชีให้ครบทั้งหมด หากไม่ครบ 100% ตัวชี้วัดเรื่องบัญชีทรัพย์สินของวัดก็จะถือว่าตกมาตรฐาน คือ ไม่ผ่านเกณฑ์ของ ก.พ.ร. ซึ่ง ก.พ.ร.จะต้องนำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อรัฐบาล เมื่อตกมาตรฐานก็คงต้องรอดูว่า รัฐบาลจะออกกฎหมายหรือมาตรการอะไรออกมาบังคับวัดทั่วประเทศเกี่ยวกับการรายงานบัญชีทรัพย์สินของวัด นอกจากนี้ ขอชี้แจงวัดทั่วประเทศว่า สำนักพุทธฯ ไม่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบบัญชีของวัดที่ส่งเข้ามา ทางสำนักพุทธฯ มีหน้าที่เพียงรวบรวมแล้วรายงานจำนวนของวัดที่ส่งบัญชีให้แก่ ก.พ.ร.เท่านั้น และก.พ.ร.อาจจะมีมาตรการในการสุ่มตรวจบัญชีวัดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
          "ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินวัดในขณะนี้มีอย่างต่อเนื่อง และมีการร้องเรียนเข้ามายังสำนักพุทธฯ เป็นระยะเกี่ยวกับความโปร่งใสของการใช้เงินวัด ซึ่งเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา สำนักพุทธฯ ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ โดยใช้วิธีการตรวจสอบจากบัญชีของวัด ดังนั้น หากวัดทั่วประเทศมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ก็จะเป็นเครื่องการันตีความโปร่งใสของการใช้เงินงบประมาณวัดได้ นอกจากนี้ขอเน้นย้ำต่อไวยาวัจกรว่า ไวยาวัจกรไม่สามารถทำอะไรอำเภอใจได้ จะดำเนินการอะไรที่เกี่ยวกับวัดต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ.2511 และเจ้าอาวาส และไวยาวัจกรถือเป็นบุคคลที่จะต้องเข้าใจการจัดทำบัญชีวัด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินวัดเกิดประสิทธิภาพ" ผอ.สำนักงานศาสนสมบัติกล่าว
--จบ--

          --ข่าวสด ฉบับวันที่ 11 ก.ค. 2560 (กรอบบ่าย)--