กรมการขนส่งทางบกยืนยันไม่มีการประกาศปรับอัตราค่าโดยสารรถ พร้อมตรวจจับกุมรถตู้โดยสารที่เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่กำหนด
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Thursday, July 13, 2017  09:45
63313 XTHAI XETHIC XGOV SOC V%WIREL P%PRD

          จากกรณีสื่อมีการนำเสนอข่าวว่านับตั้งแต่กรมการขนส่งทางบก ได้บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการ และเจ้าของรถตู้โดยสารทุกคัน เพื่อปรับปรุงแก้ไขการจัดวางที่นั่งผู้โดยสารในรถตู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทให้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง พบว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการบางราย ได้เรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 5 บาท เช่น รถตู้ปรับอากาศ ของรถร่วม ขสมก. บางเส้นทาง ฯลฯ  แม้ว่าสื่อนำเสนอข่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารปรับอากาศปรับขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด แต่ก็มีผู้เสียหายร้องเรียนผ่านทางสื่อโซเชียล ระบุว่าประสบปัญหาดังกล่าวจริง และรถตู้โดยสารสาธารณะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารจริงในหลายเส้นทาง
          นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม  ชี้แจงว่ากรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่ในการควบคุม กำกับและดูแล การขนส่งสาธารณะให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยกำหนดนโยบายบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เด็ดขาด กับรถทุกประเภท กรณีที่พบการนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงมาใช้งาน ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัย การเดินรถไม่เป็นไปตามจำนวนเที่ยว รวมทั้ง "การเก็บค่าโดยสารเกินราคา" หรือการกระทำผิดอื่น ๆ จะทำการลงโทษขั้นสูงสุดในทุกกรณีความผิด อีกทั้งยังได้ทำการบันทึกประวัติการกระทำความผิด เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบอนุญาตขับรถ อีกด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าว กรมการขนส่งทางบกได้กำชับให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัดปฏิบัติให้มีความเข้มข้นและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
          ยกระดับโทษความผิดตามคำสั่ง คสช.ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งกำหนดให้มีอำนาจในการสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับการใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ในกรณีการฝ่าฝืนไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถ ปล่อยให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินหรือเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนดนั้น นอกจากโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายแล้ว สามารถที่จะสั่งระงับใช้รถได้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือนอีกด้วย ซึ่งเป็นการยกระดับความเด็ดขาดของการบังคับใช้กฎหมาย และกรมฯได้ประกาศพร้อมบังคับใช้ตามมาตรการนี้แล้วตั้งแต่ 12 เม.ย 60 อย่างเข้มงวดเป็นต้นมากับรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทาง ทั้งระหว่างจังหวัดและใน กทม.ทั้ง รถของ บขส.,ขสมก.,รถร่วมบริการ หรือโดยผู้ประกอบการเอกชน เช่นเดียวกัน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ
          อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงต่อไปว่า  ประเด็นการร้องเรียนจากผู้โดยสารกรณีรถตู้โดยสารประจำทางมีการปรับเพิ่มค่าโดยสาร กรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่า ยังไม่มีการประกาศปรับอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางแต่อย่างใด ในขณะนี้ไม่ว่าจากปัจจัยกรณีใดๆ  แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการและเป็นหน่วยงานกลาง สำหรับรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร ให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงจากทุกประเด็นปัจจัยองค์ประกอบในทุกมิติ  เพื่อให้สามารถบริหารการเดินรถได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประกอบการได้อย่างเหมาะสมซึ่งต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน ก่อนเสนอพิจารณาเชิงนโยบาย ควบคู่การสร้างการยอมรับ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ การประชาสัมพันธ์ ทุกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนให้ทราบโดยทั่วกันก่อนที่จะประกาศกำหนดจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
          อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกโดยกองตรวจการขนส่งทางบก ขนส่งจังหวัดทุกพื้นที่ ร่วมกับคณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ คือ กรมการขนส่งทางบก บขส. ขสมก. ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ ร่วมตรวจและจับกุมรถตู้โดยสารที่เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่กำหนด ทั้งบริเวณอนุสาวรีย์ชัย รังสิต และมีนบุรี ที่เป็นประเด็นข่าว รวมพื้นที่ กทม.และระหว่างจังหวัดทุกเส้นทางด้วยมาตรการเด็ดขาดสูงสุดอย่างต่อเนื่องต่อไป
          อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก, พล.ม.2 รอ., กองบัญชาการตำรวจนครบาล, บขส., ขสมก., กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานจังหวัด ได้ดำเนินการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยดำเนินการยกระดับทุกมาตรการตามแผนปฏิบัติการร่วมมาโดยตลอด
          เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยของรถตู้โดยสารสาธารณะ กรมการขนส่งทางบกได้มีโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” กำหนดให้ต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์ระบุตัวผู้ขับรถ (โดยใช้ใบขับขี่) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับ ควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถ ผ่านศูนย์ GPS ของกรมการขนส่งทางบกที่ส่วนกลางและศูนย์ GPS สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์ GPS ของผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนสามารถติดตามผ่าน Application: DLT GPS โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 ซึ่งรถโดยสารสาธารณะทุกคันจะติดตั้งครบถ้วนภายในปี 2560 และรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 (เส้นทางกรุงเทพ-ต่างจังหวัด) ทุกคันต้องติดตั้งให้ครบถ้วนทุกคันภายใน 31 มีนาคม 2560 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 ติดตั้ง GPS ครบถ้วนแล้ว
          ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ กำหนดให้รถตู้โดยสารสาธารณะต้องมีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 13 ที่นั่ง และจะต้องมีช่องทางออกด้านท้าย เพื่อให้ผู้โดยสารใช้เป็นทางออกฉุกเฉินกรณีที่รถพลิกคว่ำ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติในการปรับปรุงรถตู้โดยสาร เป็นขั้นตอน ตามระยะเวลาที่เหมาะสมและปฏิบัติได้โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อให้รถตู้โดยสารที่ยังคงใช้งานอยู่ในระบบมีความปลอดภัยมากขึ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการระบบรถโดยสารสาธารณะ และได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการปรับปรุงตัวรถและนำรถเข้ารับการตรวจสภาพตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 90% โดยภาพรวมจากจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะทั้งหมด
          กรณีประชาชนพบรถตู้โดยสารสาธารณะให้บริการไม่ปลอดภัย บรรทุกเกิน เก็บค่าโดยสารเกิน สามารถแจ้งกับผู้ตรวจการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ผ่านทางเว็บไซต์, ทาง E-mail หรือร้องเรียนผ่านทาง application หรือทาง facebook  นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนผ่านทาง LINE ID ในชื่อ “1584dlt” หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง ณ กรมการขนส่งทางบกหรือ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด โดยระบุรายละเอียดรถและผู้ขับรถคันที่กระทำความผิด เช่น หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ วันเวลาสถานที่เกิดเหตุ ให้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้กระบวนการติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
          อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงถึงการดำเนินการในอนาคตว่า การยกระดับมาตรฐานรถโดยสาร กรมการขนส่งทางบกให้ที่ปรึกษาโดยสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาความปลอดภัยในการใช้รถตู้โดยสารประจำทาง ซึ่งจากผลการศึกษาที่เสนอให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสารซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างพิจารณาแผนดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตลอดจนการสร้างความเข้าใจสร้างการมีส่วนร่วม การยอมรับ ความร่วมมือ และการประชาสัมพันธ์ก่อน เสนอเชิงนโยบายและประกาศแผนดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เป็นขั้นตอน รวมถึงการวางแผนในมาตรการช่วยเหลือเยียวยา รองรับการประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมและเป็นไปตามกรอบกฎหมายกำหนด เช่นมาตรการทางด้านการเงิน การคลัง เป็นต้น
          กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างดำเนินการ “โครงการศึกษาการพัฒนาความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง โดยพิจารณาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการ และแนวทางการอุดหนุน (Subsidy)” เป็นการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาข้อมูลต้นทุนการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถโดยสารประจำทางระหว่างเมือง และรถโดยสารประจำทางส่วนภูมิภาค โดยพิจารณาต้นทุนจากปัจจัยในทุก ๆ ด้าน ทั้งต้นทุนตัวรถ ต้นทุนในการเดินรถที่สัมพันธ์กับจำนวนผู้โดยสาร/จำนวนเที่ยว ต้นทุนการใช้ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการบริหารจัดการรถ เช่น ต้นทุนระบบ GPS ต้นทุนระบบ e-Ticket เป็นต้น ต้นทุนด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ทั้งด้านต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลถึงความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการ เพื่อนำไปใช้กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการที่จะสามารถบริหารการเดินรถได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย รวมทั้งเป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้บริการด้วย
          กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างกระบวนการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการแต่ละรายโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งที่ประสงค์จะเดินรถ จะต้องนำเสนอแผนบริหารจัดการการเดินรถเชิงคุณภาพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นในระบบรถโดยสารสาธารณะ สภาพรถได้มาตรฐาน มีระบบจัดการเดินรถตรงเวลา จำนวนรถเพียงพอ สม่ำเสมอ เกิดการแข่งขันเชิงคุณภาพของผู้ให้บริการ นำ Intelligent System มาใช้ (เช่น Application บนสมาร์ทโฟน GPS Tracking แบบ Real – Time) นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ (เช่น ระบบตั๋วร่วม e-Ticket System) เพื่อลดต้นทุนการเดินรถ ยกระดับคุณภาพการให้บริการรถโดยสาร มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th