พม. แจง "กรณีการก่อสร้างบ้านประชารัฐริมคลอง ล่าช้า"
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Monday, July 17, 2017  07:40
44252 XTHAI XETHIC XGOV SOC V%WIREL P%PRD

          นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการดำเนินงานโครงการ “บ้านประชารัฐ ริมคลอง” ของชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 และชุมชนคนรักถิ่น เขตหลักสี่ มีปัญหาความล่าช้าในขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน นั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (พอช.) ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่า ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 ริมคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ เดิมชุมชนแห่งนี้ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านบนที่ดินริมคลองประชากร ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุโดยไม่ได้เช่าอย่างถูกต้อง อยู่อาศัยกันมานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี ชาวบ้านมีแผนงานที่จะทำโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อจะได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องกับกรมธนารักษ์ โดยรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนก่อสร้างบ้าน มีสมาชิก 93 ครัวเรือน
          เมื่อมีข่าวว่า กทม.จะมีการก่อสร้างเขื่อนฯ ในคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร ในช่วงปี 2558 โดย พอช. จะสนับสนุนชาวบ้านเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง ชาวบ้านในชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 จึงอยากที่จะทำโครงการนี้ เพื่อที่จะได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับกรมธนารักษ์ เนื่องจากที่ตั้งของชุมชนอยู่ติดถนนใหญ่ และเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการหลายแห่ง สามารถทำมาค้าขายได้ โดยการรื้อบ้านที่รุกล้ำแนวคลองแล้วก่อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม เริ่มก่อสร้างบ้านเฟสแรกในเดือนพฤศจิกายน 2558 จำนวน 9 หลัง (เฟสแรกมีทั้งหมด 17 หลัง) ซึ่งชาวบ้านใช้เงินออมของตัวเองมาเป็นทุนในการก่อสร้างบ้าน (จ้างบริษัทรับเหมาหลังละประมาณ 310,000 บาท และค่าก่อสร้างฐานรากอีกหลังละ 40,000 บาท) วางเงินมัดจำให้บริษัทก่อสร้างงวดแรกจำนวน 500,000 บาท เมื่อเริ่มก่อสร้างบ้านได้ไม่นาน ได้มีกลุ่มชาวบ้านและอดีตผู้สมัคร ส.ส.ในเขตหลักสี่ มาคัดค้านการก่อสร้างบ้านและไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับทางสำนักงานเขตหลักสี่ว่าชาวบ้านแจ้งวัฒนะ 5 ก่อสร้างบ้านโดยไม่ได้ขออนุญาตการก่อสร้าง สำนักงานเขตหลักสี่ จึงนำคำสั่งมาปิดประกาศห้ามก่อสร้างบ้าน ส่วนเหตุผลในการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านและอดีตผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้เสียหายโดยตรงนั้น คาดว่าชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวกลัวว่าหากโครงการสร้างเขื่อนฯ และสร้างบ้านริมคลองเดินหน้าไปได้ บ้านเรือนของตัวเองก็จะต้องถูกรื้อย้ายและเสียผลประโยชน์ด้วย เพราะโครงการบ้านประชารัฐริมคลองจะให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่จริงและจะได้ขนาดที่ดินเท่ากัน จึงต้องคัดค้านขัดขวางการสร้างบ้านประชารัฐริมคลองทุกวิถีทาง
          นอกจากนี้ ตามแผนงานการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำของ กทม. ในช่วงแรก (ปี 2559-2562) จะดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อก่อน  ส่วนคลองเปรมประชากร คาดว่าจะดำเนินการในช่วงต่อไป ประกอบกับมติของคณะขับเคลื่อน 5 (คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน) ในเดือนสิงหาคม 2559  ให้ชะลอโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองเปรมประชากรออกไปก่อนจนกว่าจะดำเนินการในคลองลาดพร้าวแล้วเสร็จ  ดังนั้นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจึงยังไม่ได้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองเปรมประชากร  ขณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้สร้างบ้านให้แล้วเสร็จ เนื่องจากถูกคำสั่งระงับการก่อสร้างจากทางเขตหลักสี่ และยังค้างค่าก่อสร้างกับบริษัทรับเหมาสร้างบ้าน
          นายณรงค์  กล่าวต่อไปว่า สำหรับชุมชนคนรักถิ่น เขตหลักสี่ ได้เริ่มก่อสร้างบ้านจำนวน 4 หลัง เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2558  และถูกกลุ่มคัดค้านกลุ่มเดียวกันไปแจ้งเรื่องร้องเรียนที่สำนักงานเขตหลักสี่ ต่อมาสำนักงานเขตหลักสี่ได้นำคำสั่งปิดประกาศห้ามก่อสร้างมาปิดประกาศ ชาวบ้านจึงหยุดก่อสร้าง แต่ก็ได้ต่อเติมมาเรื่อยๆ จนพอเข้าอยู่อาศัยได้ ส่วนประเด็นการมีหนี้สิน จากเมื่อก่อนอยู่อาศัยโดยไม่เสียเงินนั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านทั้งหมดที่อาศัยอยู่ริมคลอง ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินราชพัสดุ จึงถือว่าเป็นการอยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้อง หรือบุกรุกที่ดินราชพัสดุ แต่เมื่อมีโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง กรมธนารักษ์จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ระยะเวลา 30 ปี  ในอัตราผ่อนปรน ตารางวาละ 1.50 -3.00 บาทต่อปี  ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก
          อย่างไรก็ตามในการผ่อนส่งบ้านจากการใช้สินเชื่อของ พอช. ก่อนการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง รวมทั้งโครงการบ้านประชารัฐริมคลองในพื้นที่ต่างๆ พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อมูลครัวเรือน รายได้-รายจ่าย รวมทั้งความสามารถในการผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้าน ซึ่งผลจากการสำรวจส่วนใหญ่พบว่า ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนสามารถผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้านได้ครัวเรือนละ 2,000-2,500 บาทต่อเดือน ดังนั้นงบประมาณในการก่อสร้างบ้านจึงใช้ฐานรายได้ของชาวบ้านเป็นหลัก โดยชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านและสามารถเลือกขนาดและแบบบ้านได้ตรงกับขนาดของครอบครัวและความสามารถในการผ่อนชำระ ตัวอย่างเช่น ที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ มีแบบบ้านให้เลือก 3 แบบ  คือ 1. บ้านชั้นเดียว ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 183,000 บาท 2.บ้านสองชั้น ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 285,000 บาท และ 3. บ้านสองชั้น ขนาด 6 x 6 เมตร ราคาประมาณ 360,000 บาท ผ่อนส่งประมาณเดือนละ 1,388-2,500 บาทเศษ ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี ทั้งนี้ พอช. ยังได้จัดงบประมาณสนับสนุนชาวบ้านในการพัฒนาสาธารณูปโภค งบอุดหนุน งบช่วยเหลือ ฯลฯ เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งประมาณ  140,000 บาท นอกจากนี้ในการก่อสร้างบ้านใหม่ชาวบ้านสามารถนำวัสดุเก่า เช่น ไม้ ประตู หน้าต่าง ฯลฯ มาใช้ในการก่อสร้างจะทำให้ช่วยลดค่าก่อสร้างได้

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th