ห้ามอ้างค่าไฟขึ้นราคาสินค้า สั่งพาณิชย์จังหวัดตรวจเข้ม ขู่พบจำคุก7ปีปรับ1.4แสนบ.
Source - เว็บไซต์ไทยโพสต์ (Th)

Monday, July 17, 2017  06:56
49489 XTHAI XECON ECO V%NETNEWS P%WTP

          “พาณิชย์” แจงปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวด ก.ย.-ธ.ค.นี้ อีก 8.87 สตางค์ต่อหน่วย พบกระทบต้นทุนสินค้าเพียงแค่หลักสตางค์ ขู่ผู้ประกอบการห้ามเอาเปรียบใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคาสินค้า พบมีโทษหนักจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท เผยประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ได้
          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการศึกษาโครงสร้างต้นทุนของราคาสินค้า หากมีการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2560 เพิ่มขึ้น 8.87 สตางค์ต่อหน่วย โดยพบจะมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าน้อยมากแค่ 0.0001-0.1886% หรือแทบจะไม่มีผลกระทบเลย จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้า
          ทั้งนี้ ผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า เช่น อาหารปรุงสำเร็จ (ข้าวกะเพรา) จานละ 35 บาท มีผลกระทบ 0.06% หรือเพิ่มขึ้นจานละ 0.02 บาท ปลากระป๋อง กระทบ 0.0198% หรือกระป๋องละ 0.0033 บาท แชมพูสระผม กระทบ 0.0024% หรือขวดละ 0.0014 บาท กระดาษชำระ กระทบ 0.0692% หรือม้วนละ 0.0091 บาท แบตเตอรี่ กระทบ 0.0593% หรือลูกละ 1.3587 บาท สังกะสี กระทบ 0.0098% หรือแผ่นละ 0.0019 บาท น้ำมันหล่อลื่น กระทบ 0.0005% หรือกระป๋องละ 0.0029 บาท และเครื่องแบบนักเรียน กระทบ 0.0132% หรือตัวละ 0.0222 บาท
          “ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินการตรวจสอบการค้าขายทุกช่วงการค้าอย่างใกล้ชิด ทั้งจากโรงงานไปถึงตัวแทนจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา และยังได้จัดส่งสายตรวจออกตรวจสอบราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยในกรุงเทพฯ มี 9 สาย และในต่างจังหวัดมอบพาณิชย์จังหวัด และค้าภายในจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ” นางอภิรดีกล่าว
          อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบว่ามีการปรับราคาจำหน่ายสินค้าสูงขึ้น ขอให้ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ซึ่งกรมการค้าภายในจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบทันที และหากพบการกระทำความผิดจริง จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ในช่วงปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.2559-มิ.ย.2560) มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 1,891 ราย โดยเป็นการร้องเรียนหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีราคาแพงสูงสุดถึง 770 ราย รองลงมา คือหมวดของใช้ส่วนบุคคล 326 ราย หมวดเกษตรกรรม 226 ราย บริการ 96 ราย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 75 ราย ยานยนต์และอุปกรณ์ 28 ราย ของใช้ประจำบ้าน 27 ราย วัสดุก่อสร้าง 20 ราย กระดาษและเครื่องเขียน 17 ราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 16 ราย และอื่นๆ 290 ราย
          “เมื่อรับเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว ขอให้มีการไปตรวจสอบทุกกรณี และหากพบพ่อค้าแม่ค้ามีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจริง ก็ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง และให้รู้ว่ากระทรวงฯ เอาจริงในการดูแลปัญหาปากท้องให้กับประชาชน” นางอภิรดีกล่าว
สนอ.ยันลอยตัวน้ำตาลไม่กระทบผู้บริโภค.

          ที่มา: www.thaipost.net