คอลัมน์: รายงาน: กฟน.เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้ออุปกรณ์ประหยัดไฟ เผยวิธีการประหยัดค่าไฟฟ้าดีที่สุดคือพฤติกรรมการใช้งาน
Source - สยามรัฐ (Th)

Sunday, July 23, 2017  02:45
33965 XTHAI XECON DAS V%PAPERL P%SRD

          การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับการโฆษณาจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีอุปกรณ์ประหยัดไฟชนิดใดสามารถช่วยลดอัตราการใช้ไฟฟ้าได้ โดยขณะนี้มีผู้ใช้ไฟฟ้าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อหลายรายกฟน.จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพดังกล่าว อย่างไรก็ตามวิธีการประหยัดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ปิดทุกครั้งเมื่อไม่ใช้ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียล ตลอดจนเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง
          นายวิชชา ชาครพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)เปิดเผยว่า ในขณะนี้มีการจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยกล่าวอ้างว่าสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้กว่าร้อยละ 50 จนมีผู้ใช้ไฟฟ้าหลงเชื่อสั่งซื้อไปใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายรายซึ่งทางกฟน. ยืนยันว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้จริงตามที่กล่าวอ้าง และอยากแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง ซึ่งแม้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าจะมีอยู่จริง แต่ตามปกติจะใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเรียกเก็บค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์เท่านั้น แต่สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น อาจเข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภค
          กฟน.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครนนทบุรี และสมุทรปราการ มีความห่วงใยประชาชนต่อประเด็นการจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งแม้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าจะมีอยู่จริง
          แต่ตามปกติจะใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเรียกเก็บค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์เท่านั้น เช่น กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ หรือกิจการเฉพาะอย่าง ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทั่วไปแทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากการติดตั้งเครื่องประหยัดไฟฟ้าเหล่านี้ แต่สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น อาจเข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภค โดย กฟน.ตรวจสอบพบมี 3 ลักษณะคือ 1.เป็นกล่องหรือตู้ที่มีสายไฟสำหรับเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่ภายในเป็นเพียงตัวเก็บประจุ และประเภทที่ภายในไม่มีส่วนที่เป็นวงจรไฟฟ้าเลยมีเพียง
          วัสดุสำหรับถ่วงน้ำหนักบรรจุไว้เท่านั้น 2.เป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรงและ3.เป็นบัตรสำหรับติดหรือแปะกับตู้จ่ายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า
          โดยจากการทดสอบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น หลอดไฟ พัดลม ด้วยอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าแบบเต้าเสียบ พบว่า กระแสไฟฟ้าลดลง แต่กำลังไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น ซึ่งการคำนวณค่าไฟของกฟน.นั้นไม่ได้คิดตามกระแสไฟฟ้า แต่คิดตามกำลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
          ทั้งนี้ กฟน.ได้มีการแนะนำให้สังเกตพฤติกรรมผู้ที่เข้าข่ายหลอกลวงที่มักอ้างคำศัพท์เทคนิคชั้นสูง หรือศัพท์เชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ รวมถึงการอ้างผลการทดสอบจากสถาบันต่างๆ ซึ่งอาจมีการทดสอบจริงแต่ไม่ใช่ในเรื่องของการประหยัดพลังงานและการโอ้อวดสรรพคุณที่เกินจริง กรณีนี้ กฟน.ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง หากอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าไม่สามารถลดค่าไฟฟ้าได้จริง แนะนำให้ประชาชนไปร้องเรียนกับ สคบ.และแจ้งความเอาผิดกับผู้จำหน่าย
          อย่างไรก็ตามวิธีการประหยัดไฟฟ้าที่เหมาะสมที่สุดและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าโดยเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งานและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน และการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส หรือการเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟฟ้าชนิด LED เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ