กรมควบคุมมลพิษชี้แจงการจัดการปัญหาขยะบนเกาะสีชัง
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Monday, July 31, 2017  07:20
9532 XTHAI XAGRI XENV XGOV AGRI V%WIREL P%PRD

          จากรายงานข่าวกรณีนายดำรง เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง ได้ประชุมกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ได้ร้องเรียนสภาพปัญหาขยะ เนื่องจากมีการถ่ายขยะจากเรือสินค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นขยะอันตราย โดยกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบ แต่กลับไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันพบว่าเรือสินค้าต่างประเทศเข้าออกเกาะสีชังประมาณปีละ 1,000 ลำ แต่ละลำ สร้างปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 2-3 ตัน และมีขยะที่ต้องกำจัดเฉลี่ย 10-15 ตันต่อวันนั้น
          นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า เกาะสีชัง มีขยะเกิดขึ้นบนเกาะวันละประมาณ 10-15 ตัน  อย่างไรก็ตาม ยังคงปรากฏว่ามีขยะอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากเกาะสีชัง มีปริมาณการขนส่งทางทะเลสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย การขนถ่ายสินค้าโดยเฉพาะการขนถ่ายระหว่างเรือต่อเรือในทะเลบริเวณพื้นที่ระหว่างเกาะสีชังและอำเภอศรีราชาจะมีการขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลขนาด 20,000 - 120,000 ตัน  ซึ่งไม่สามารถเข้าจอดที่ท่าเรือได้จึงต้องทำการขนถ่ายสินค้าบริเวณนอกฝั่ง โดยจะมีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ จำนวน 60-80 ลำในแต่ละวัน มาจอด แล้วนำเรือโป๊ะหรือเรือลำเลียงสินค้าขนาดเล็กมาเทียบแล้วใช้เครื่องตัก (grab) หรือสายพานในการลำเลียงสินค้า สินค้าที่ขนถ่ายมีทั้งแบบบรรจุหีบห่อหรือถุงและประเภทเทกอง ชนิดของสินค้าที่ขนถ่ายได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ปุ๋ยเคมี เป็นต้น ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ได้แก่ ฝุ่นละอองจากการขนถ่ายสินค้าเทกอง ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล น้ำเสียจากเรือ ความเสื่อมโทรมของตะกอนพื้นทะเล
          นายจตุพร กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษกรณีการขนส่งสินค้าบริเวณเกาะสีชัง เพื่อประเมินศักยภาพและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการเป็นเขตขนส่งสินค้าระดับภูมิภาคเพื่อรองรับการขยายตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ปี พ.ศ. 2557) ซึ่งพบว่าในเรือสินค้าและเรือโป๊ะ (เรือลำเลียงสินค้า) แต่ละลำจะมีขยะทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือโป๊ะ จะมีการทิ้งขยะลงในทะเลโดยมิได้ทำการคัดแยก ในปริมาณ 1.6 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน รวมทั้งของเหลือทิ้งจากการขนถ่ายสินค้าและของเสียที่เกิดขึ้นจากเรือสินค้าเดือนละประมาณ 3.1 ตัน และได้มีการเสนอให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
          1.ภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีระบบการจัดเก็บขยะและสิ่งตกค้างจากการขนถ่ายสินค้าโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจกถุงขยะให้เรือแต่ละลำ เช่น มีเรือเก็บขยะมารับขยะจากเรือโป๊ะ โดยมีช่วงเวลาการเก็บขยะที่แน่นอน และให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะจากเจ้าขอบริษัทไม่ใช่เรียกเก็บจากผู้ควบคุมเรือ เนื่องจากผู้ควบคุมเรือมีรายได้ไม่มากนัก
          2.มีทุ่นลอยสำหรับเป็นที่ทิ้งขยะจากเรือที่จอดรวมกลุ่มกันหลายลำ แต่ในช่วงที่มีคลื่นลมแรงอาจมีปัญหาขยะกระจัดกระจายออกจากแนวทุ่นลอย
          3. จากผลการศึกษาทราบว่าชาวเรือตระหนักดีถึงผลเสียของการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงสู่ทะเล แต่การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงสู่ทะเล อาจจะดำเนินการได้ยาก เนื่องจากเรือแต่ละลำมีพื้นที่ไม่มากนัก ดังนั้น จึงไม่สะดวกในการกักเก็บและอาจเกิดกลิ่นเหม็นในส่วนที่พักอาศัยของผู้ที่อยู่บนเรือได้
          นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล ภายใต้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ เพื่อกำหนดแนวทางควบคุมมลพิษทางน้ำทางอากาศรวมทั้งขยะและกากของเสียที่เกิดขึ้นจากการขนส่งสินค้ากลางทะเล นอกจากนี้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีความเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวด การพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการเพิ่มโทษการลักลอบทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงทะเลในพื้นที่เฉพาะบริเวณนี้ การพิจารณากำหนดให้มีหน่วยเฉพาะกิจ (โดยกรมเจ้าท่า) และภาคประชาสังคมเพื่อติดตามตรวจสอบการลักลอบทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในบริเวณดังกล่าวต่อไป

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th