สคบ.เล็งรื้อก.ม.สะสางร้องเรียนอสังหาฯ3พันคดี
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Sunday, July 30, 2017  08:23
38068 XTHAI XOTHER XFRONT XECON ICOPY V%PAPERL P%KT

          กรุงเทพธุรกิจ สคบ.เดินหน้าสะสางเรื่องร้องเรียนตกค้าง ระบุเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอสังหาฯครองแชมป์สูงสุดกว่า 3 พันคดี เผยเตรียมลุยปรับปรุงกฎหมายคุมเข้มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
          นายทรงฤทธิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรการเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคด้านอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) เปิดเผยวานนี้ (29 ก.ค.) ว่าที่ประชุมคคบ.ได้เตรียมออกมาตรการมาแก้ไขปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างครบวงจร เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวจากผู้บริโภคมาเป็นจำนวนมาก
          โดยเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องร้องเรียนที่ติดอันดับสูงสุดของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด โดยในจณะนี้มีเรื่องร้องเรียนที่ตกค้างมากถึง 3,000 คดี จึงจำเป็นต้องออกมาตรการมาควบคุมโดยด่วน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดไป
          ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้รายงานให้ที่ประชุมคคบ.รับทราบแนวทางการควบคุมตามมาตรการดังกล่าวแล้ว โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 เรื่องหลัก คือ ปรับปรุงข้อกฎมายที่เกี่ยวข้องให้ควบคุมการประกอบธุรกิจตั้งแต่ต้นทาง โดยบูรณาการทำงานในด้านกฎหมายของหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าด้วยกัน ทั้งของสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ดูแลเรื่องของการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          ส่วนด้านต่อมาคือการบูรณาการหน่วยงานกำกับดูแลให้ทำงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
          ขณะเดียวกันยังเสนอให้สคบ.พิจารณามอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ทำดี ไม่เอาเปรียบ หรือไม่เคยได้รับการร้องเรียน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง และยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากบริษัทที่ดี มีมาตรฐาน
          พร้อมกันนี้ยังเสนอให้สคบ.หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกระเบียบบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกโครงการต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยให้กับลูกค้าด้วย เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับลูกค้าว่าจะได้รับการดูแลปัญหาอย่างแน่นอน หรืออาจตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายขึ้นมาช่วยดูแลผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย
          แหล่งข่าวสคบ. ระบุว่าในการประชุมคคบ. คร้งที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการแก้ปัญหาอสังหาฯ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ 2 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์แรกเป็นการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีกลยุทธ์ด้านมาตรการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมออกกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ