รายงานพิเศษ : การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Friday, September 08, 2017  20:15
46734 XTHAI XETHIC XGOV SOC V%WIREL P%PRD

          ปัจจุบันพลาสติกหุ้มฝาขวด หรือแคปซีล ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ล่าสุดประเทศไทยเดินหน้ากำจัดขยะจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มทุกประเภทแล้ว
          นับตั้งแต่ปี 2543 ผู้ผลิตน้ำดื่ม ริเริ่มใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด หรือแคปซีล(CAP SEAL) โดยระบุเหตุผลว่าทำให้น้ำในขวดสะอาดปลอดภัย ทว่าปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิดล่าสุดหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน อินโดนีเซียและสิงค์โปร์ เลิกใช้แคปซีลแล้ว สำหรับประเทศไทยกรมควบคุมมลพิษเดินหน้ากำจัดขยะจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มทุกประเภทพร้อมกับหารือผู้ผลิตน้ำดื่มหลายบริษัทแล้ว โดยตั้งเป้าภายใน 1 ปี ประเทศไทยจะปราศจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มทุกประเภท เท่ากับว่าจะลดปริมาณขยะได้ถึง 520 ตันต่อปีพลาสติกหุ้มฝาขวดหรือ แคปซีล (CAP SEAL) น้ำหนักเพียง 0.2 กรัม แต่ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นสูงถึง 10 สตางค์ ผู้ผลิตโฆษณาชวนเชื่อว่าน้ำในขวดจะปลอดภัยจากการปนเปื้อนมากขึ้น ขวดที่หุ้มแคปซีลสะอาดกว่าจริงหรือไม่ความจริงเพียงแค่ฝาขวดปิดแน่นสนิทก็สะอาดเพียงพอแล้ว ดังนั้นแคปซีลไม่ได้ทำให้น้ำในขวดสะอาดขึ้น แต่ยังเป็นขยะ แคปซีลมีขนาดเล็กจัดเก็บยากและกระจัดกระจาย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตันบางส่วนลงสู่ท้องทะเล มีสัตว์ทะเลกินเข้าไปและตายเป็นจำนวนมากหากแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆจะกลายเป็นไมโครพลาสติกและเมื่อโดนความร้อนก็ยังก่อสารพิษในอากาศ
          นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากพลาสติกหุ้มฝาขวดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทะเล กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด ระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติกสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และผู้ประกอบการน้ำดื่มบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่ม ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
          ในส่วนของประชาชน ในฐานะผู้บริโภค เมื่อถามเหตุผลของการเลือกซื้อน้ำดื่ม ส่วนใหญ่จะเลือกจากยี่ห้อที่คุ้นเคยปริมาณน้ำดื่ม ลักษณะของขวดซึ่งไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นๆ จะมีพลาสติกหุ้มฝาขวดหรือไม่และเมื่อทราบว่า พลาสติกหุ้มฝาขวด เป็นขยะชิ้นเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นข้อมูลที่ดีต่อการตัดสินใจครั้งต่อไป ที่จะเลิกซื้อน้ำดื่มที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด
          ปัจจุบันประเทศไทยผลิตน้ำดื่มปีละ 4,400 ล้านลิตร กรมควบคุมมลพิษกำลังเดินหน้ากำจัดขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ทั้งหมดในประเทศ คาดว่าภายใน 1 ปีประเทศไทยจะปราศจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มทุกประเภทอย่างแน่นอน ซึ่งในเบื้องต้น ที่ประชุมร่วมกำหนดวันที่มีผลบังคับ “น้ำดื่มบรรจุขวดทุกยี่ห้อไม่มีการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (No Plastic Bottle Cap Seal)” ในวันที่ 1 มกราคม 2561

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th