สคบ.หวั่น'บุหรี่ไฟฟ้า'ทะลัก แอบขายจับได้ฟันไม่เลี้ยง
Source - เดลินิวส์ (Th)

Monday, September 18, 2017  05:11
46701 XTHAI XECON MIDD DAS V%PAPERL P%DND

          พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า เตรียมทำหนังสือให้เจ้าหน้าที่ สคบ. และเครือข่าย สคบ.ทั่วประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้จับตาการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น เพราะตอนนี้เกรงว่าอาจมีผู้บริโภคบางส่วน โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่หันไปเลือกซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้เห็นชอบอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่อาจทำให้บุหรี่มีราคาสูงขึ้นมาก โดยถ้าหากตรวจพบก็ให้จับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
          "เดี๋ยวจะมีหนังสือสั่งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจอย่างเข้มข้นมากกว่าช่วงที่ผ่านมาที่เข้มข้นอยู่แล้ว เพราะ สคบ. ได้ออกคำสั่งห้ามขายสินค้าประเภทดังกล่าวไป แต่ยังพบว่ามีการลักลอบขายอยู่ ซึ่งจากนี้ไปต้องปราบให้หมด โดยเฉพาะช่วงนี้ก็เป็นห่วงว่า ถ้าบุหรี่ซองราคาสูงขึ้น ก็อาจทำให้ผู้บริโภคไปเลือกซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาสูบเพิ่มขึ้น และ สคบ. เองก็ขอความร่วมมือผู้บริโภคช่วยกันชี้เบาะแส หากพบที่ใดมีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภท"
          สำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้น ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น ที่มักปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลาย โดยผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว ถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการระงับ ยับยั้ง การบริโภคสินค้าดังกล่าวที่มีขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วได้ อีกทั้งยังนำความเสี่ยงของโรคต่างๆ มายังผู้บริโภค เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการสูบที่มักจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสูบ เช่นเดียวกับสินค้าบารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า ที่ได้รับความนิยม
          ทั้งนี้จากการตรวจสอบสินค้าพบว่า มีสารที่เป็นอันตรายปนเปื้อนอยู่ในตัวน้ำยา และอาจเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ได้ ดังนั้น สคบ.จึงมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้ สคบ. เป็นผู้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ผู้ผลิต ผู้สั่งหรือผู้นำเข้า ผู้ขาย และผู้ให้บริการสินค้าบารากู่ ล่าสุดได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ สคบ.เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบร้านให้บริการและร้านขายสินค้าบารากู่ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งหากได้รับแจ้งเบาะแส ทางหน่วยปฏิบัติการพิเศษจะรีบลงพื้นที่ไปตรวจสอบและจับกุมทันที
          ส่วนของข้อกฎหมายที่ ใช้ควบคุมสินค้าดังกล่าว แยกความผิดเป็น 2 กรณี คือ ผู้ขายสินค้าดังกล่าวมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้ม ครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 โดยผู้ขายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเมื่อพบผู้กระทำความผิดแล้วเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เชื่อว่า หากมีความเข้มงวดในการจับกุม การกระทำผิดจะลดลงต่อเนื่อง.

          บรรยายใต้ภาพ
          พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์
--จบ--

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ก.ย. 2560 (กรอบบ่าย)--