แฉหมดเปลือก! "เหยื่อพาร์ตเนอร์ผี agoda" สูญเงินแสนห้าจองโรงแรมผี ไม่มีจริง!!
Source - ผู้จัดการรายวัน 360 องศา (Th)

Wednesday, December 06, 2017  03:23
37666 XTHAI XOTHER XFRONT XLIFE DAS V%PAPERL P%ASMD

          แฉหมดเปลือก! "เหยื่อพาร์ตเนอร์ผี agoda"
          ยิ่งกว่าถูกผีหลอก!! ลูกค้าขาประจำผู้ใช้แอปฯ agoda แฉแหลก หลังท่องราคาห้องพัก แต่ดันกดผิดถูกปุ่ม "จ่ายและจองทันที" กลายเป็นความซวยครั้งใหญ่ ระบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิตเฉียด "150,000 บาท" แม้จะรีบ โทร.แก้ไขข้อผิดพลาด แต่ agoda ไม่ช่วย พยายามติดต่อโรงแรมก็ติดต่อไม่ได้ สุดท้าย ลงพื้นที่เองจึงถึงกับขนหัวลุก เมื่อห้องที่สั่งจองเป็นแค่ "โรงแรมผี" ไม่มีอยู่จริง แถมยังไม่มีวี่แววว่าใครจะช่วยระงับการตัดเงินได้ ล่าสุดเหยื่อสาวยังไม่ถอดใจ บอกทีมข่าวอย่างหนักแน่นว่า จะทำทุกทางให้เรื่องนี้ถูกตีแผ่ออกไปให้ได้มากที่สุด!!
          โรงแรมผี-ห้องพักไร้ตัวตน นี่ agoda ตรวจสอบบ้างไหม!!?
          "ไม่ได้ตั้งใจจะจองห้องพักเลยค่ะ เราแค่เข้าไปเช็กราคาตามปกติค่ะว่าอีก 3 เดือนเราจะมีไปพักที่ไหนบ้าง แต่ประวัติของเราเอง ก็เคยหาข้อมูลโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ ด้วย ทำให้ระบบของแอปฯ agoda มันบันทึกเอาไว้ด้วยว่า มีการเข้าพักในเรตประมาณไหน แล้วก็เรียงลำดับราคาห้องพักและโรงแรมมาให้เราดู
          แต่ด้วยความที่เราใช้หน้าจอสัมผัส มันก็ผิดพลาดกันได้ ระบบมันดึงไปที่หน้า "การจองและจ่าย" เรากะจะกดปุ่ม "ย้อนกลับ" แต่ดันกดพลาด เพราะปุ่มมันถูกออกแบบมาไว้อยู่ติดกับปุ่ม "จ่ายและจองทันที" โดยที่ไม่ได้มีให้เรากรอกรหัสให้เราคอนเฟิร์มอีกที"
          แตน-สุลาวัลย์ รักชลธี สาวผู้ดูแลธุรกิจรับเหมา, ออกแบบ, ซ่อมบำรุงระบบทำความเย็น ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวผู้จัดการ Live เกี่ยวกับราคาความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวที่เธอต้องกลายเป็นคนติดหนี้ถึง "144,393.99 บาท" จากการจองห้องพักขนาด 4 ห้องนอน จากโรงแรม "Private Club In The Heart of Bangkok" เป็นเวลาถึง 3 วัน โดยที่ยังไม่อาจมีใครช่วยเธอแก้ไขเรื่องนี้ได้
          เธอพยายามลองแก้ไขทุกวิถีทาง ตั้งแต่พยายามหาทางติดต่อโรงแรมนั้น แต่เบอร์ที่ให้ไว้ในแอปฯ กลับเป็นเบอร์ ต่างประเทศ หาหลักแหล่งไม่ได้ พอโทร.ไปขอความช่วยเหลือจากฝ่ายบริการลูกค้า (Customer Service) ของ agoda เจ้าของแอปฯ จองที่พักชื่อดัง ก็ได้รับคำตอบเพียงแค่ว่า "ทางโรงแรมที่จอง ไม่ยินยอมให้ยกเลิก" ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ ระดับสูง ช่วยต่อรองกับทางโรงแรมเท่านั้น
          เมื่อดูท่าว่าจะไม่ได้การ แตนจึงหันหน้าเข้าพึ่งธนาคาร ผู้ดูแลวงเงินในบัตรเครดิตที่กำลังจะถูกตัดของเธอ แต่ก็ทำได้เพียงระงับการใช้วงเงินเอาไว้ได้เพียง 90 วันเท่านั้น ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มันเป็นเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ตัวช่วยเรื่องระงับเงินจึงหมดลงไปแล้ว หนทางสุดท้ายที่เธอจะช่วยตัวเองได้ จึงคือการเดินทางไปหาโรงแรมแห่งนั้น ตามแผนที่ที่ระบุพิกัดเอาไว้ในแอปฯ agoda แต่กลับยิ่งทำให้เจอปมใหญ่เรื่อง "โรงแรมผี" เพิ่มเข้าอีก!!"ล่าสุดแตนไปลงพื้นที่กับพี่สาว และคุณแม่ค่ะ แล้วก็ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนที่เดินทางมาหาโรงแรมจริง ตามพิกัดที่เขาลงเอาไว้ในแอปฯ บอกว่าโรงแรมอยู่ใน ซ.43 แต่ก็ไม่เจอโรงแรมที่ชื่อ "Private Club In The Heart of Bangkok" ที่อ้างไว้ พอเดินมาดูซอยอื่นๆ ถึงได้เจอโรงแรม ที่หน้าตาใกล้เคียงกับภาพที่ลงใน agoda ไว้มากที่สุด ชื่อ โรงแรม "The Cabochon Hotel" ที่ตั้งอยู่ ซ.49 ถึงได้รู้ว่าข้อมูลที่ลงในแอปฯ นั้น มันไม่มีข้อมูลจริงอยู่เลย
          จากการสอบถามกับทางโรงแรมที่ถูกนำไปอ้าง พนักงานเขาบอกว่าคนที่เอาข้อมูลไปลงใน agoda เคยเป็นลูกค้าของโรงแรม มาถ่ายรูปโรงแรม และเอารูปภาพไปลงขายห้อง โดยที่ทางโรงแรมไม่เคยรับรู้อะไรด้วยเลย ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ การจองห้อง กลายเป็นคนที่เอาข้อมูลไปลง ที่ถูกตั้งสถานะให้เป็นพาร์ตเนอร์กับ agoda คือคนที่แอบอ้างข้อมูลของโรงแรมเอาไปใช้โดยพลการ เป็น "สแกมเมอร์ (มิจฉาชีพสร้างกลลวง หลอกรีดเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ต)" ที่มาหากินแบบนี้"คำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าโรงแรมดังกล่าวเป็น "มิจฉาชีพแอบอ้าง" อย่างที่ตั้งสมมติฐานกันไว้จริง แล้วทำไมทางฝ่ายบริการลูกค้าของ agoda ยังคงปกป้องสิทธิประโยชน์เรื่อง "การยกเลิกห้องพัก" และทางทีมงานผู้ดูแลแอปพลิเคชันชื่อดังตัวนี้ มีความจริงจังแค่ไหนในการตรวจสอบพาร์ตเนอร์ของ ตัวเอง ที่มาลงโฆษณาที่พักให้ลูกค้าของตัวเอง
          "แตนมองว่ามันเป็นภัยสังคมที่ใหญ่นะคะ ก่อนที่ทาง agoda จะรับพาร์ตเนอร์มาร่วมลงในข้อมูลซื้อขาย ทางทีมงานควรจะมีการตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดอีกทีว่า เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้แค่ไหน หรือเป็น "พาร์ตเนอร์ผี" หรือเปล่า อย่างครั้งนี้ก็ "ไม่มีตัวตน" ติดต่อไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน แล้วก็ไปเอาห้องพักจากไหนมาอ้างก็ไม่รู้ ดังนั้น ทีมงานผู้รับผิดชอบควรจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จริงเสียก่อน ไม่งั้นมันก็จะกลายเป็นความเสียหายและเป็นภัยสังคม
          ตอนนี้ทาง agoda เขาก็รับเรื่องไปแล้วค่ะ กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ส่วนเรื่องเงินเป็นแสนที่กดจองไป ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบชัดเจนเลยค่ะว่า แตนต้องจ่ายจริงไหม หรือทางนี้เขาจะดูแลให้ ต้องรอให้เขาดำเนินการส่งเรื่องไปถึงผู้บริหาร และจัดการเรื่องนี้อีกทีค่ะ แต่ปัญหาก็คือ ตอนนี้ทางธนาคาร เขามีใบเรียกเก็บเงินจำนวนนั้นมาที่เราแล้ว"
          ถูกบีบให้ต้องจ่าย ขอร้องเรียนให้ถึงที่สุด!!
          จากความผิดพลาดครั้งนี้ แตนเตรียมตัวร้องเรียนเอาไว้เป็นอย่างดี โดยตั้งใจว่าจะยื่นต่อ สคบ.เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ 4 ข้อด้วยกัน คือ 1. สาเหตุที่ทำให้ผิดพลาด เป็นเพราะปุ่มกด "ย้อนกลับ" และ "จองและจ่ายทันที" อยู่ใกล้กันมาก 2. เธอมิได้นิ่งเฉยในข้อผิดพลาด ได้ดำเนินการแจ้งกลับทันที 3. ความคลางแคลงใจเรื่องข้อมูลบัตรเครดิตที่ถูกบันทึกในแอปฯ agoda โดยอัตโนมัติแบบไม่ถามไถ่ และ 4. ทางแอปฯ ไม่ได้ถามรหัสความปลอดภัย "CVV" (ตัวเลข 3 ตัว ที่อยู่หลังบัตรเครดิต ใช้ในการยืนยันตัวตนของผู้ถือบัตร) เพื่อยืนยันจ่ายเงินเป็นครั้งสุดท้าย
          ยืนยันชัดเจนว่าเธอไม่ใช่ลูกค้ารายใหม่ แต่เป็นลูกค้า ขาประจำที่ใช้แอปฯ agoda มาได้ 2-3 ปีแล้ว ใช้จนเก็บแต้ม ไปได้ประมาณ 20,000 กว่าแต้มแล้ว แต่ตอนนี้กลับต้องกลายเป็นลูกค้าใน Black List ทำให้ฝันที่จะเอายอดสะสมไปแลกห้องพักที่เยอรมันต้องดับสูญ ไปพร้อมๆ กับการวุ่นวายหาทางแก้ไขปัญหาครั้งใหญ่ครั้งนี้ ทั้งยังขอสะท้อนปัญหามิจฉาชีพ ผ่านประสบการณ์ตรงเอาไว้ให้เป็นอุทาหรณ์ของทุกๆ คนด้วย
          "แตนใช้บริการของเว็บ agoda มานานแล้ว ใช้มาตั้งแต่สมัยยังไม่มีแอปฯ ต้องซื้อผ่านคอมพิวเตอร์ มาจนเปลี่ยนเป็นมีแอปฯ ในมือถือเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเป็นครั้งแรกๆ ของการใช้ ระบบจะมีการถามว่า เรายินยอมให้มีการบันทึกเลขรหัส 3 ตัวหลังบัตรไหม แต่พอแอปฯ พัฒนามาช่วงหลังๆ มันจะไม่ถามความสมัครใจเราแล้ว มันจะบันทึกเอาไว้เลย
          ในฐานะผู้ใช้แอปฯ นี้ และได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น แตนมองว่าการมีระบบที่ถามรหัสซ้ำ ให้กรอกอีกครั้ง ยังไงมันก็ดีกว่า ปลอดภัยกว่าแน่นอน เพราะเว็บไซต์อื่นๆ ก็มีระบบการบันทึกข้อมูลเหมือนกัน แต่สุดท้าย เขาก็ยังต้องให้เรากรอกรหัส 3 ตัวหลังของบัตรเครดิตอยู่ดี เพื่อให้มีความปลอดภัยเวลาทำธุรกรรมทุกครั้ง หรืออย่างบางเว็บไซต์ เขาจะมีขั้นตอนการ Verify บัตรด้วย คือจะให้ส่งหมายเลขยืนยันเข้ามาในอีเมล หรือในเบอร์โทรศัพท์ที่เราลงทะเบียนไว้
          ส่วนเรื่องวิธีการระวังเรื่องมิจฉาชีพ ถ้าให้วัดการครั้งนี้ จะเห็นว่าโรงแรมที่แอบอ้าง เขาจะระบุที่อยู่ห้องพักไม่ บอกว่าจะบอกรายละเอียดทั้งหมด ก็ต่อเมื่อเราได้ทำการจองไปแล้ว พอเจอเข้ากับตัวเองก็ทำให้คิดได้ว่า จุดนี้แหละค่ะที่น่าจะเป็น จุดสังเกตว่า ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่า ห้องพักพวกนี้ไม่มีอยู่จริง ก็อยากจะเตือนคนอื่นเอาไว้ด้วยค่ะ ให้ระวังดีๆ
          ในส่วนของธนาคารที่ถูกบัตรเครดิตไว้ ก็อยากจะให้เขาช่วยเหลือลูกค้า และฟังลูกค้าบ้างว่าเราเดือดร้อนจริงๆ เรา ไม่ได้ตั้งใจที่จะโกงหรือว่าอะไร แต่มันเป็นความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ แต่มันกลายเป็นว่าทางธนาคารฟังแค่ทางฝั่ง agoda ฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่เราก็เป็นลูกค้าบัตรเครดิตชั้นดีมาตลอด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ธนาคารรับฟังและรับทราบความเคลื่อนไหวของลูกค้าว่า เรากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินเรื่อง ให้ช่วยพักชำระหนี้ไปก่อนจะได้ไหม อย่าเพิ่งมาเร่งรัดเลย
          ตอนนี้ก็ได้แต่รอดูค่ะว่า เรื่องนี้จะตีแผ่ออกไปได้ขนาดไหน? คืออย่างน้อยๆ ถ้าแตนไม่ได้รับความช่วยเหลือ ยังไงก็ต้องจ่ายเงิน 150,000 บาท อุทาหรณ์ครั้งนี้มันก็จะได้เป็นจุดสะท้อนปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ และเรื่องระบบความปลอดภัยหลายๆ อย่างที่อยากให้แก้ไข
          นี่ก็คิดไว้ว่าจะไปเคลื่อนไหว ไปร้องทุกข์กับทาง สคบ.ด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะช่วยเราได้แค่ไหนนะคะ ถ้าเขาแค่ รับเรื่อง และดำเนินการไม่ได้ในทันที ก็คิดไว้ว่าอาจจะต้อง ทำถึงขนาดเขียนหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ด้วย เพราะเว็บไซต์ agoda ก็น่าจะขึ้นตรงหรือเกี่ยวข้อง กับการท่องเที่ยวเหมือนกัน คือเราต้องทำทุกทางแล้วล่ะค่ะ ตอนนี้".--จบ--

          ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา