ได้ข้อสรุปจับ “แท็กซี่รถบ้าน” ขึ้นทะเบียน
Source - เว็บไซต์ไทยรัฐ (Th)

Friday, February 09, 2018  10:30
6047 XTHAI XECON ECO V%NETNEWS P%WTR

          นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ทีดีอาร์ไอได้ส่งผลการศึกษาเรื่องระบบร่วมเดินทาง (Ride Sharing) เช่น แกรบ (GRAP) และอูเบอร์ ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) แล้ว โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้พิจารณาตัวอย่างจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ก่อนสรุปเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย
          โดยได้เสนอแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม 4 ด้าน ได้แก่ 1. ผู้ให้บริการ แอพพลิเคชั่นไรด์แชริ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับภาครัฐเพื่อให้มีการกำกับดูแล เช่น การเก็บค่าใช้จ่ายและค่าโดยสาร การจัดการข้อร้องเรียน 2.ผู้ให้บริการไรด์แชริ่งต้องมีใบขับขี่สาธารณะ เพราะไม่ได้ขับรถยนต์ส่วนบุคคลอย่างเดียว 3.รถที่ให้บริการไรด์แชริ่งต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งฯ และต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากการจ่ายภาษีปกติเล็กน้อย เช่น 500-1,000 บาทต่อคันต่อปี 4.ขอให้แอพพลิเคชั่นไรด์แชริ่งต่างๆ เพิ่มมาตรการความปลอดภัย เช่น ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการเดินทาง หรือเพิ่มปุ่มฉุกเฉินในแอพพลิเคชั่น คล้ายกับโครงการรถแท็กซี่โอเค หรือวีไอพีของกรมการขนส่งฯ
          “จากผลการศึกษามั่นใจว่าจะลดความเหลื่อมล้ำเรื่องต้นทุนระหว่างไรด์แชริ่งและรถแท็กซี่แบบดั้งเดิม เพราะรถแท็กซี่มีภาระต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบ ชุดละ 20,000-30,000 บาทต่อคัน อายุใช้งาน 9-10 ปี หรือมีต้นทุนติดตั้งเฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อปี แต่ไรด์แชริ่งไม่มีภาระนี้ ภาครัฐจึงควรเก็บค่าธรรมเนียมจากรถบ้านที่ให้บริการไรด์แชริ่งเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้เก็บในอัตราสูงเท่ารถแท็กซี่ เพราะไรด์แชริ่งให้บริการเป็นบางเวลาเท่านั้น ซึ่งเท่ากับให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย โดยขั้นตอนจากนี้จะหารือกับกรมการขนส่งฯ ว่ามีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไร จากนั้นจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งประชาชน ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นไรด์แชริ่ง กลุ่มรถแท็กซี่ คาดใช้เวลาอีก 2-3 เดือน”.

          ที่มา: www.thairath.co.th