ไล่ต้อน 'นันแบงก์' จัดระเบียบห้ามโขกดอกเบี้ย
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)

Tuesday, February 27, 2018  02:06
55057 XTHAI XECON XOTHER XCOMMENT DAS V%PAPERL P%PTD

          ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์
          ไล่ต้อน'นันแบงก์' จัดระเบียบห้ามโขกดอกเบี้ย
         
          ปัญหาร้องเรียนประชาชนถูกโขกดอกเบี้ยสูง ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินนอกระบบ การใช้บริการเช่าซื้อรถยนต์ รวมไปถึงการจำนำทะเบียนรถยนต์  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน จะต้องดิ้นรนหาทางออกเอง เนื่องจากมี "ช่องว่าง" ขาดเจ้าภาพหรือองค์กรหน่วยงานที่กำกับดูแล อย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์  ผู้ประกอบการบัตรเครดิต ก็จะ มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็น ผู้กำกับดูแล
          ส่วนธุรกิจประกันก็จะมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม
          การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดูแล แม้แต่สหกรณ์ก็ยังมีกรมส่งเสริมสหกรณ์กำกับดูแล
          แม้แต่กลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบ รัฐบาลยังจัดระเบียบสนับสนุนจัดตั้ง พิโกไฟแนนซ์ (บริษัทให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ)
          "ช่องโหว่" การกำกับดูแลบางธุรกิจ ทำให้ดูเหมือนว่าประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ และเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่รู้จะหันหน้าไปร้องเรียนใครได้  ถูกโยนและปัดหน้าที่ความรับผิดชอบกันไป  โดยเฉพาะการให้บริการทาง การเงิน
          นี่จึงน่าจะเป็นตัวจุดชนวนความคิดกระทรวงการคลังที่จะจัดตั้งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการ ที่ดำเนินธุรกิจคล้ายสถาบันการเงินที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.)
          สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาบอกว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเห็นชอบให้มีการ ยกร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน โดยในกฎหมายนี้จะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลกิจการ ที่ดำเนินธุรกิจคล้ายสถาบันการเงิน ที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานอื่นๆ
          ปลัดกระทรวงการคลังยกตัวอย่างธุรกิจที่น่าจะต้องมาอยู่ภายใต้การตั้งองค์กรใหม่นี้ จะมีธุรกิจลีสซิ่ง ธุรกิจการรับจำนำทะเบียนรถ แฟกตอริ่ง เช่าซื้อ รวมถึงพิโกไฟแนนซ์ เพื่อกำกับดูแล ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าปกติ และดูแลให้การให้บริการทางการเงินมีคุณภาพ
          และเป็นธรรม (Market Conduct)  แก่ประชาชน
          แม้ว่าธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ที่ตั้งขึ้นโดยกระทรวงการคลังนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ถูกกำกับอย่างเป็นทางการโดยกฎหมาย เพียงแต่ออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน่วยงานรับพิจารณาจัดตั้งพิโกไฟแนนซ์คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  จึงทำให้ยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร  ดังนั้นการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมากำกับดูแลหน่วยงานที่คล้ายสถาบัน การเงินนี้ ก็จะรวมเอาพิโกไฟแนนซ์ มาไว้ในการดูแลด้วย
          ปลัดกระทรวงการคลังยังมองการณ์ไกลว่า กฎหมายใหม่นี้ยังเปิดช่องที่หากในอนาคตมีหน่วยงานที่ดำเนินการคล้ายสถาบันการเงินเกิดขึ้นใหม่และไม่ถูกควบคุม ก็จะเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ หรือหน่วยงานที่คล้ายสถาบันการเงินที่ถูกกำกับโดยหน่วยงาน
          หนึ่ง แต่ต้องการโอนมาให้กระทรวง การคลังดูแล ก็จะถูกควบคุมตามกฎหมายใหม่ที่จะมีขึ้นด้วยเช่นกัน  โดยเฉพาะที่มีการพูดถึงกันคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ถือว่าเป็นสถาบันการเงิน
          จะว่ากันไปแล้ว บริษัทที่ทำธุรกิจลีสซิ่ง แฟกตอริ่ง เช่าซื้อ จำนำทะเบียน ส่วนใหญ่ธุรกิจจะอยู่ภายใต้ประกาศ ปว.58 ขณะที่การจัดตั้งไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เพียงแค่ไปจดทะเบียน จัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์
          หากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการ ให้บริการหรือการถูกเอารัดเอาเปรียบนั้น ช่องทางเดียวที่ทำได้ คือร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภค (สคบ.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบในกรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนเท่านั้น  ซึ่งบทลงโทษต่างๆ ก็จะพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          ในส่วนการถูกรีด "ดอกเบี้ยมหาโหด" นั้น ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการปัดฝุ่น พ.ร.บ.ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 ที่กำหนดไม่ให้ เจ้าหนี้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี หากลูกหนี้พบว่าถูกเก็บเกินสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที  มีโทษทั้งจำและปรับ โดยจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีผู้บริโภคคนไหนที่จะไป ฟ้องร้องดำเนินคดีเลย
          ด้านการถูกเอารัดเอาเปรียบ ด้านสัญญานั้น สคบ.ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และ รถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับ ใช้วันที่ 1 ก.ค. 2561 วัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถ
          จากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียน จากประชาชนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อค่อนข้างเอารัดเอาเปรียบ
          หลักๆ ที่แก้ไขจะเป็นเรื่องการ คิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมที่เป็นดอกเบี้ย MRR  ของธนาคารกรุงไทย บวก 10%  หรือประมาณ 17% ต่อปี โดยจะเปลี่ยนมาเป็นไม่เกิน 15% ต่อปี
          โดยเฉพาะขณะนี้เริ่มมีกระแสร้องเรียนการรับจำนำทะเบียนรถยนต์ห้องแถวที่ระบาดอย่างหนักคิดอัตราดอกเบี้ยสูง และมีสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งยังไร้หน่วยงานรัฐมาดูแล
          ซึ่งมีประชาชนที่เคยตกเป็นเหยื่อ มีการร้องไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  แต่ก็ไม่สามารถจะจัดการอะไรกับธุรกิจเหล่านี้ได้ หลายหน่วยงานได้แต่อ้างว่า ไม่มีอำนาจตรวจสอบหรือกำกับดูแลโดยตรง อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยก็อ้างว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่สถาบันการเงินแต่เป็นธุรกิจนันแบงก์ ไม่ได้อยู่ในกำกับของแบงก์ชาติ ขณะที่ สคบ. ก็ดูแต่เรื่องของสัญญาเช่าซื้อของธุรกิจลีสซิ่งเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึง การปล่อยเงินกู้
          ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะจัดระเบียบผู้ให้บริการทางการเงิน มีการตั้งองค์กรอิสระมากำกับและดูแลกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่มีเจ้าภาพดูแลอยู่นั้น อย่างน้อยประชาชน ยังพอมีที่พึ่งอยู่บ้าง และมีหน่วยงานของรัฐที่จะออกกฎระเบียบไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ  ดีกว่า ปล่อยไปตามยถากรรม--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์