โกงคนจนลาม อมงบฯนิคม300ล.อีก ประยุทธ์กร้าวตรวจสอบ เหมาหมดทุกกระทรวง
Source - เดลินิวส์ (Th)

Wednesday, March 14, 2018  03:26
64941 XTHAI XOTHER XFRONT DAS V%PAPERL P%DND

          "บิ๊กตู่" กร้าว ประ ณามคนโกงเงินคนจน น่าอาย เริ่ม บานปลายสั่ง ป.ป.ท. ลุยตรวจการใช้งบฯ ทุกกระทรวง ยันคุ้มครองพยานเปิดโปงกลโกง ขณะที่ เลขาฯ ป.ป.ท. ชี้ ไม่เกิน 2 สัปดาห์เห็นโฉมหน้าไอ้โม่ง คนนอกศูนย์ฯ งาบงบคนจน พร้อมส่ง ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงินโยงศูนย์ไร้ที่พึ่ง แฉซ้ำ พบโกงภาค 2 ทุจริต งบ 300 ล้านจัดสรรให้นิคมสร้างตนเอง ส่วน "บิ๊กป๊อก" เผยยังไม่ได้รับรายงาน อปท.โกงเงินคนจน ลั่นหากพบทุจริตฟันไม่เลี้ยงชี้ทุจริตทำชาติเดินไม่ได้ ด้าน ผวจ.ขอนแก่นชี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปผลสอบสวนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขาดหลักฐานชัดแจ้งที่จะเอาผิดทางวินัย
          ด้าน "น้องแบม" เดินสายเป็นวิทยากร วอนกำนัน ผญบ. ประชาชนทั่วไปเป็นตาสับปะรดแจ้งเบาะแสคนโกง นักข่าวรอเก้อกว่า 5 ชั่วโมงอธิการบดี มมส. ชิ่งหนีไม่ลงมาชี้แจงเรื่องสอบข้อเท็จจริง "น้องแบม" ถูก อจ.ทุบหลัง และสั่งกราบ ขณะที่ "การุณ" เดินหน้าแจ้งความ ดำเนินคดีญาติข้าราชการซี 8 และพวกรวม 5 คนร่วมกันยักยอกเงินกองทุนเสมาฯ โดยโอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลอื่น 22 บัญชีกว่า 88 ล้านบาท ด้าน ป.ป.ง. จ้องไล่ยึดทรัพย์ทั้ง 2 คดี
          กรณี น.ส.ปณิดา หรือ น้องแบม ยศปัญญา อายุ 23 ปี นิสิตชั้นปี 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการพัฒนาชุมชนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล อายุ 26 ปี อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นร่วมเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นจนสั่นสะเทือนวงการข้าราชการถึงขั้นเกิดเป็นกระแสสังคมทำให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังจนมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่เพื่อเปิดทางให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าตรวจสอบพบความผิดปกติ 44 จังหวัดรวมงบประมาณ 97,842,000 บาท รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว 7 จังหวัดประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด และ น่าน ส่วนอีก 37 จังหวัดอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท. รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงกระทั่ง ป.ป.ท.พบหลักฐานสำคัญ คลิปวิดีโอ ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครพนม ออกมาล็อบบี้ชาวบ้านให้การเท็จ เพื่อปกปิด และทำลายหลักฐานการทุจริต ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
          โกงเงินคนจนบานปลาย
          เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงภาพรวมปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ว่า มีหลายหน่วยงานที่ปรากฏปัญหาการทุจริตออกมา แต่รัฐบาลไม่ได้ปล่อยปละละเลยเพราะได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาสอบสวนซึ่งกระบวนการสอบสวนในบางครั้งมีความล่าช้ามากเกินไป ตนจึงสั่งการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ท.) ไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ทุกโครงการที่พบว่ามีปัญหาทุจริต โดยจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนและความเป็นธรรมซึ่งการที่ตนเน้นย้ำเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นการใช้งบประมาณโดยตรงจากรัฐ อาทิ การจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง โครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพอบรมฝึกวิชาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย การทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีมานานและตนเคยบอกแล้วว่ามันอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ประชาชนส่วนหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์เข้าไปร่วมมือกับเขาหรืออีกกรณีหนึ่งคือการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใครให้อะไรมาก็เอาหมด
          คนไทยร่วมป้องทุจริต
          นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่าอย่างไรก็ตามยังมีความโชคดีที่มีผู้ออกมาเปิดเผยให้ข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชมเชยและนี่คือเป็นหน้าที่คนไทยควรร่วมมือกัน เมื่อมีหลักฐานการทุจริตก็ควรนำออกมาพูดทั้งทางลับหรือเปิดเผยก็ได้ ตนรับข้อมูลทั้งหมดโดยตอนนี้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต 3 กรณีดังกล่าว ถือว่าเขามีความกล้า และไม่ร่วมขบวนการทุจริตอีกต่อไปทั้งนี้ตนพร้อมให้การคุ้มครองดูแลผู้ที่มาเป็นพยาน เรื่องพวกนี้มันสะสมมายาวนานอยากให้ทุกคนไปทบทวนดูว่ารัฐบาลนี้เอามาเปิดเผยกี่เรื่องแล้วมีคดีใหญ่และคดีเล็กมาหมด รัฐบาลไม่ได้ละเลย แต่ต้องมีการสอบสวน หาสาเหตุหาหลักฐานทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคลต่าง ๆ มาให้ได้ แต่คนส่วนใหญ่กลัว ไม่กล้ามาเป็นพยาน ไม่ต้องกลัวหรอก ผมดูแลคุ้มครองให้ และใครที่ไปทำร้ายคนเหล่านี้ผมถือว่าแย่มากที่ร่วมรังแกไปเอางบประมาณที่ต้องไปถึงมือคนจน คนด้อยโอกาส ผมคิดว่าคนที่ทำแบบนี้มันน่าอับอาย ในทางศีลธรรมก็ทำไม่ได้
          บิ๊กป๊อกยันในมท.ไม่มี
          ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เปิดเผยถึงกรณีที่มีการทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในหลายจังหวัดในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหรือไม่ว่าตนยังไม่ได้รับรายงานในส่วนดังกล่าว ส่วนความร่วมมือในการตรวจสอบนั้นยืนยันให้ประชาชนทราบว่าการทุจริตเป็นปัญหาของประเทศชาติทำให้ประเทศชาติเดินไม่ได้ ดังนั้นทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย หากพบเห็นที่ใดก็ต้องสอบสวน หากทุจริตก็ต้องรับโทษที่รุนแรงถึงขั้นไล่ออก ไม่ได้บำเหน็จบำนาญ หากตรวจสอบพบไม่ว่าที่ใดก็ไม่เอาไว้ ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นสิ่งดีที่ตรวจเจอเพราะยิ่งจับได้มากก็ลงโทษได้มากจะได้เป็นบรรทัดฐานและเป็นเยี่ยงอย่างให้คนอื่นได้เห็นและอย่าทำ
          ป.ป.ท.ยังไม่สอบผอ.
          ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบการทุจริตเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งล่าสุดซึ่งปรากฏคลิป ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครพนม ช่วยเจรจากับชาวบ้านเพื่อขอให้การกับเจ้าหน้าที่ป.ป.ท.ว่าได้รับเงินช่วยเหลือตรงตามตัวเลขที่ระบุไว้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการเชิญตัวผอ.โรงเรียนคนดังกล่าวมาสอบปากคำเนื่องจากยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน แต่เชื่อว่าอยู่ในข่ายที่ต้องถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตามหากผู้ถูกกล่าวหามีหลักฐานก็สามารถนำมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ได้โดยพร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนการตรวจสอบปัญหาการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 44 จังหวัด ขณะนี้เริ่มปรากฏตัวบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการทุจริตเงินดังกล่าวจำนวน 97 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลที่อยู่นอกศูนย์คนไร้ที่พึ่ง ขณะนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับศูนย์คนไร้ที่พึ่งบางแห่ง คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ข้อมูลจะปรากฏชัดเจน
          พบงบฯ300ล้านส่อพิรุธ
          พ.ท.กรทิพย์ กล่าวอีกว่านอกจากนี้จากการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ยังพบข้อมูลว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในนิคมสร้างตนเองซึ่งได้รับงบจัดสรรจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 300 ล้านบาท มีแนวโน้มส่อจะมีปัญหาการทุจริต โดยระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงใน จ.ขอนแก่น และอุดรธานี พร้อมทั้งจะหารือกับ กอ.รมน.เพื่อหาแนวทางการทำงานและตรวจสอบร่วมกัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ได้ขอความร่วมมือไปยัง ผวจ.มหาสารคาม และเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแลความปลอดภัยให้กับน.ส.ปณิดา ยศปัญญา ด้วยเนื่องจากขณะนี้นักศึกษาได้ย้ายจาก จ.ขอนแก่น ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงเกรงว่าจะมีมือที่สามอาศัยช่องว่างก่อเหตุทำร้าย น.ส.ปณิดาได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดผล กระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมการไว้ก่อน สำหรับการประชุมบอร์ด ป.ป.ท. ในวันนี้ยังไม่ได้มีการเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มเติมในจังหวัดอื่น ๆ
          ขอนแก่นพร้อมช่วยป.ป.ท.
          ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น ได้เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการร้องเรียนเรื่องการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มี รายได้น้อยฯ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.ขอนแก่น เป็นเท็จ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. ตอนนี้ได้รับรายงานบทสรุปแล้วจากนางสุจิตรา พินดวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นประธานกรรมการ รายงานว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่นเป็นหน่วยงานส่วนกลาง เมื่อหน่วยสอบสวนได้ลงไปในพื้นที่ต้องขอความร่วมมือจากข้าราชการในระดับส่วนต่าง ๆ ในระดับพื้นที่มาให้ความช่วยเหลือจึงได้ข้อมูลสอดคล้องกับ ป.ป.ท.เขต 4 ที่ลงไปตรวจสอบก่อนหน้านั้นทำให้ได้ข้อมูลสอดคล้องกันกับ ป.ป.ท.เขต 4 โดยไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนเข้าไปมีส่วนร่วม หรือไปยุ่งเหยิงพยาน จึงไม่ได้เอาผิดทางด้านวินัย
          สัมมนาป้องกันโกง
          ด้าน น.ส.ปณิดา ยศปัญญา และ น.ส.ณัฎกานต์ หมื่นพล ได้มาเป็นวิทยากรในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "เครือข่ายประชาชนป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบสังคมไม่ทนต่อการทุจริต" จัดโดย น.ส.จิรดา พูลสวัสดิ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น ณ ห้องภูพาน ชั้น 2 โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งมี นายธีระพงษ์ โสดาศรี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายฉัตรชัย อุ่นเจริญ นายอำเภอเมืองขอนแก่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไปใน จ.ขอนแก่น เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวจำนวนมาก หลังจากนั้นได้มีการลงนาม MOU ระหว่างสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ขอนแก่น กับ เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เมืองขอนแก่นเพื่อขยายผลนโยบายรัฐบาลที่มีนโยบายผลักดันให้มีการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ความสำคัญกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและ ส่วนราชการในรูปแบบต่าง ๆ
          ชิ่งหนีสื่อเบี้ยวแถลง
          ส่วนความคืบหน้า กรณีสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยื่นต่อมหาวิทยาลัยฯให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่น.ส.ปณิดา ร้องเรียนถึงพฤติกรรมของอาจารย์ประกอบด้วย ร่วมกันปกปิดการปลอมแปลงเอกสารเบิกเงินไม่ให้แจ้งความ แต่กลับนำไปไกล่เกลี่ย และบังคับข่มขืนใจให้ก้มกราบผู้กระทำผิด การใช้มือฟาดนิสิต การเรียกนิสิตมา สอบสวน และกระบวนการสอบสวนโดยคณะใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่ มีการละเมิดสิทธินิสิตหรือคุกคามหรือไม่ การห้ามแชร์ข่าวและห้ามนิสิตแชร์ข่าวเป็นการละเมิดสิทธิของนิสิตหรือไม่โดยครบกำหนดการตรวจสอบข้อเท็จจริงวันที่ 12 มี.ค. ด้าน ผศ.ดร.วิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินการสอบอาจารย์ที่เกี่ยวข้องทุกคนเสร็จแล้วแต่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แท้จริงตามที่เสนอข่าวมาโดยตลอดนั้น
          ที่อาคารกองกิจการนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีสื่อมวลชนมาติดตามทำข่าวสอบข้อเท็จจริงประเด็นทุบหลังและสั่งกราบ ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามไม่ยอมออกมาชี้แจงหรือแถลงข่าว โดยได้แจ้งผ่านเจ้าหน้าที่กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ ว่าจะไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยฝากข้อความมาว่า "การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีของนิสิตกับอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตามที่เป็นข่าวแพร่หลายในสื่อ ต่าง ๆ มาแล้วนั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อดังกล่าวไปแล้วนั้น บัดนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ส่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงมายังมหาวิทยาลัยมหาสารคามแล้ว พร้อมทั้งได้มีการสั่งการในขั้นตอนต่อไป และได้รายงานผลการดำเนินการเบื้องต้นนี้ ไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อทราบแล้ว"
          ยันเปิดเผยไม่เป็นผลดี
          ผศ.ดร.วิรัติ ปานศิลา ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การที่อธิการบดีไม่ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อทางมหาวิทยาลัยฯ หากออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็จะเป็นผลดีมากกว่าปกปิด ถึงแม้จะอ้างว่าได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษาแล้ว ซึ่งในเรื่องของการตรวจสอบ 6 ประเด็นที่ทางสภาคณาจารย์ได้ยื่นหนังสือถึงทางมหาวิทยาลัย ผลการสอบเป็นการสรุปว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ไม่มีการตัดสินว่าใครผิดใครถูก ส่วนประเด็นการฟาดหลัง หรือทุบหลัง ก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ซึ่งผลที่ออกมาอธิการบดีควรออกมาแถลงต่อสาธารณชนให้ทราบ ไม่น่านิ่งเฉย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจมาก มีผลกระทบต่ออาจารย์ ต่อมหาวิทยาลัยมาก
          ปลัด ศธ.พบตำรวจ
          ส่วนกรณี การตรวจสอบภายในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตรวจสอบบัญชีงบประมาณ ประจำปี 2560 ของสำนักงานปลัด ศธ. เปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมของข้าราชการระดับ 8 และพวกรวม 5 คน ร่วมกันทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยโอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลอื่น 22 บัญชี ตั้งแต่ปี 2551-2561 รวมเป็นเงินทั้งหมด 88,846,640 บาท แทนที่จะโอนให้แก่เด็กหญิงในภาวะยากลำบากที่อยู่ในโครงการตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น
          เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมเจ้าหน้าที่นิติกรสำนักงานปลัด ศธ. เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.บำเพ็ญ ไวยรจนา สารวัตรสอบสวน สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อเครือญาติข้าราชการซี 8 ศธ. พร้อมกับนำหลักฐานเอกสารการเปิดบัญชีต่าง ๆ ของเครือญาติมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจประกอบสำนวนการพิจารณาดำเนินคดี หลังพบหลักฐานเพิ่มเติมให้เครือญาติเปิด 22 บัญชีถ่ายโอนเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดย นายการุณ กล่าวว่า มาแจ้งความดำเนินคดีกับเครือญาติของข้าราชการซี 8 ศธ. เพราะถือว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันในการรับการโอนเงินจากกองทุนนี้ เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่าการถ่ายโอนเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตจะเข้าบัญชีทั้ง 22 บัญชีเหล่านี้แบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ ตลอด 10 กว่าปี ดังนั้นตนเชื่อมั่นว่าเครือญาติทั้งหมดของข้าราชการซี 8 จะต้องมีส่วนร่วมรู้เห็นด้วยแน่นอน ขณะเดียวกันตนจะมอบหมายให้สำนักนิติการของสป. ดำเนินการตามระเบียบพิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการซี 8 ศธ.ตามกระบวนการ
          โยงอดีต10ปลัดศธ.
          นายการุณ กล่าวว่าเรื่องนี้จะโยงไปถึง 10 ปลัด ศธ.ในฐานะละเลยปล่อยให้ข้าราชการในสังกัดยักยอกเงินด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ต้องดูตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งเท่าที่ทราบปลัด ศธ.แต่ละคนก็อยู่ในตำแหน่งคราวละ 1-2 ปี เท่านั้น อีกทั้งผู้กระทำความผิดก็ได้จัดทำเอกสารเท็จขึ้นมานำเสนอเพื่อขออนุมัติเงินกองทุนในแต่ละครั้งดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ได้ว่าเกิดการยักยอกเงินเกิดขึ้นสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ตนและคณะกรรมการกองทุนฯจะต้องกลับมาพิจารณากันว่าจะยกเครื่องระบบตรวจสอบภายในของ ศธ. และการดำเนินงานของกองทุนอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและรัดกุมมากยิ่งขึ้นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าระบบการตรวจสอบอาจจะยังมีจุดบกพร่อง อยู่ อย่างไรก็ตามในเร็ว ๆ นี้จะมีการประชุม คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนของสำนักงานปลัด ศธ. โดยจะมีการเสนอให้พิจารณาโทษความผิดร้ายแรงกับข้าราชการระดับ 8 ทันทีเพราะถือว่าเป็นความผิดชัดแจ้งที่เจ้าตัวสารภาพจึงไม่ต้องมีการสอบสวนวินัยอีกและก็ถือว่าเป็นไปตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย
          ขอดูพยานหลักฐานก่อน
          พ.ต.ท.บำเพ็ญ กล่าวว่า ในการดำเนินคดีกับเครือญาติข้าราชการซี 8 ศธ. นั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้ ซึ่งจะต้องขอดูพยานหลักฐานต่าง ๆ ก่อนเนื่องจากบัญชีที่เปิดไว้มีหลายบัญชีมาก อีกทั้งจะต้องดูด้วยว่าเครือญาติของข้าราชการซี 8 ศธ.มีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้ หรือญาติได้ประโยชน์จากส่วนนี้ด้วยหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจเห็นว่าเป็นญาติกันอาศัยความคุ้นเคยก็ไม่ได้คิดอะไรจึงไปเปิดบัญชีให้ ซึ่งทั้งหมดจะต้องว่ากันไปตามหลักฐานและต้องดูที่เจตนาดังนั้นจึงยังไม่สามารถบอกอะไรได้มากกว่านี้ แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกระบวนกฎหมายอย่างแน่นอน
          นายกฯกำชับให้ติดตาม
          ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี กำชับให้ติดตามเรื่องปัญหาที่เกี่ยวกับการทุจริตอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกกระทรวงที่มีปัญหาในลักษณะดังกล่าวจะต้องดำเนินการทุกอย่างโดยเร็วและตรงไปตรงมา เพราะบางที่ข้าราชการตรวจสอบกันเองก็อาจจะทำให้ล่าช้า ทั้งนี้ นายกฯ จะส่งคณะทำงานมาติดตามในเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องการที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้จัดทำข้อมูลและตรวจพบข้อมูลเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่มีการซ้ำซ้อนอยู่ประมาณ 1 แสนกว่าคนนั้นเราคงต้องไปดูว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการดำเนินการที่ผ่านมาเมื่อเกิดการซ้ำซ้อนของเงินอุดหนุนรายหัวก็จะมีการแจ้งกลับมายัง ศธ. อยู่แล้ว ไม่ใช่การทุจริตซึ่งก็จะเป็นในส่วนของเงินเหลือจ่าย แต่ก็คงต้องมีการตรวจสอบการดำเนินการที่ผ่านมาด้วย
          ขีดเส้นเสร็จใน 3 เดือน
          ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการกล่าวภายหลังการประชุมองค์กร หลักของ ศธ. ว่า ตนได้แจ้งข้อสั่งการของ นายกฯ เรื่องการดำเนินการตรวจสอบปัญหาการทุจริตที่ถูกร้องเรียนว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ นายกฯ จะให้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาดำเนินการตรวจสอบควบคู่ไปด้วย
          สำหรับขณะนี้คดีที่สังคมกำลังให้ความสนใจได้แก่ ทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่ง ปปง. จะประสานทุกหน่วยงานเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไป.--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์