ดับเสียงร้องคลังสั่งเข้มคุม'ลีสซิ่ง'
Source - มติชน (Th)

Wednesday, March 14, 2018  03:28
39340 XTHAI XOTHER XFRONT DAS V%PAPERL P%MTCD

          ดับเสียงร้องคลังสั่งเข้มคุม'ลีสซิ่ง'
          จากเสียงร้องเรียนที่หนาหูขึ้นเรื่อยๆ ถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนที่ไปใช้บริการธุรกิจลีสซิ่ง, การรับจำนำทะเบียนรถ, แฟกตอริ่ง และเช่าซื้อ
          ที่มีการทำสัญญาโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยคิดดอกเบี้ยและเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ สูงมาก โดยที่ไม่มีหน่วยงานไหนกำกับดูแล ช่วยเหลือประชาชน
          อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จึงสั่งให้เร่งยกร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินนอกการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ "นอนแบงก์"เพื่อจัดระเบียบ เช่น ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ (ลีสซิ่ง) รับจำนำทะเบียนรถ ธุรกิจสินเชื่อรับซื้อลูกหนี้การค้า (แฟกตอริ่ง) และการปล่อยสินเชื่อรายย่อยทั้งพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์
          เดิมทีธุรกิจลีสซิ่ง รับจำนำทะเบียนรถ และแฟกตอริ่ง ดำเนินการภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (ปว.58) หากจะประกอบธุรกิจไม่ต้องมาขออนุญาตก่อน เพียงแค่ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที ซึ่งการควบคุมดูแลไม่เข้มงวด เพราะไม่มีหน่วยงานด้านกำกับการเงิน-การคลังเข้าไปควบคุมดูแล จะมีเพียงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบหากมีการร้องเรียนจากผู้บริโภค
          ปัจจุบันมีธุรกิจประกอบธุรกิจลีสซิ่ง จำนำทะเบียนรถ แฟกตอริ่ง ไม่น้อยกว่า 30 บริษัท มีทั้งบริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทรายย่อยในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีบุคคลธรรมดาทำธุรกิจนี้ด้วย
          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะหน่วยงานร่างกฎหมายอยู่ระหว่างหารือกับผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเตรียมเปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย หลังจากนั้นนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป คาดกฎหมายแล้วเสร็จในปี 2561 นี้
          พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษก สศค.ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันกฎหมายที่ให้อำนาจในการออกใบอนุญาตนอนแบงก์มีหลายฉบับ บางฉบับเป็น ปว.ที่ใช้มานานแล้ว แม้กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการ ดังกล่าว แต่ในแง่ทางกฎหมายเรื่องการกำกับดูแลยังไม่มีความชัดเจน
          "เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการเหล่านั้นเกิดความชัดเจน และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงจำเป็นต้องยกเป็นร่างกฎหมาย เพื่อกำกับควบคุมกิจการเหล่านั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจกำหนดให้จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการเหล่านั้นให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด"พรชัยแจกแจงถึงเหตุการร่างกฎหมายดังกล่าว
          ขณะที่แกนนำเครือข่ายลูกหนี้เผยว่า กฎหมายดังกล่าวจะทำให้บรรดาลูกหนี้ที่ตกเป็นเหยื่อธุรกิจเหล่านี้รู้สึกมีความหวัง แม้อาจจะช้าไป แต่ก็ยังดีกว่าจะปล่อยให้ประชาชนถูกเอาเปรียบไปเรื่อยๆ จากธุรกิจเหล่านี้ ที่บางรายเป็นถึงลีสซิ่งชื่อดังของเมืองไทย มีพอร์ตใหญ่ระดับ 4-5 หมื่นล้านบาท หรือบางรายเป็นถึงบริษัทลูกของแบงก์ใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ
          ประชาชนทั่วไปที่กำลังเดือดร้อน ไม่มีใครฉุกคิดว่า สัญญากู้ยืมเงินที่ทำกับธุรกิจปล่อยเงินกู้-เช่าซื้อ หรือเต็นท์รถทั้งหลายเหล่านี้มีข้อสัญญาหมกเม็ดและเอาเปรียบมาอย่างยาวนาน
          แต่เมื่อพิจารณาสัญญากู้ยืมดังกล่าวอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าล้วนแต่เป็น "สัญญาเงินกู้แบบมีหลักประกัน" ที่กำหนดเงื่อนไข "มัดมือชก" ให้ลูกหนี้ต้องนำทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ จักรยานยนต์ หรือทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ มาค้ำประกันด้วยกันทั้งนั้น ไม่ต่างไปจากเข้าโรงรับจำนำ
          ไม่ใช่เช่าซื้อหรือลีสซิ่งตามปกติ และไม่ใช่การปล่อยสินเชื่อ "นาโน หรือพิโก้ ไฟแนนซ์"ซึ่งเป็นสินเชื่อไร้หลักประกัน ที่เจ้าหนี้ไม่สามารถจะบังคับยึดสินทรัพย์ ยึดเอารถรามาเป็นทรัพย์ค้ำประกันได้ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ขูดรีดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เอาเปรียบลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่
          อย่างไรก็ตาม สัญญาที่จัดทำขึ้นถือเป็นสัญญาเงินกู้ปกติ ที่บังคับเอาหลักประกันจากลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2561) ไม่ใช่มั่วนิ่ม โขกดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมกัน 30-40-50%
          "บางรายจัดโปรโมชั่น โชว์หราบนหน้าเว็บไซต์ ประกาศอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถทั้งที่โอนกรรมสิทธิ์และไม่โอนกรรมสิทธิ์ในอัตรา 2-2.5% ต่อเดือน หรือ 40-51% ต่อปี เห็นได้ชัดเจนว่ามีการทำเป็นสัญญาเงินกู้แบบมีหลักประกัน ที่พร้อมจะบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปขายทอดตลาด หากลูกหนี้ผิดนัดชำระค่างวด ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัด พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา" ตัวแทนเครือข่ายลูกหนี้ระบุ
          ด้าน ธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฝากข้อสังเกตเบื้องต้นง่ายๆ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อ หรือลูกหนี้เงินด่วนทั้งหลาย หากเป็นสินเชื่อหรือเงินกู้รายย่อย นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล จะเป็นสินเชื่อ "ไร้หลักประกัน" ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการบังคับยึดหลักประกันแนบท้าย
          "แต่หากเป็นสัญญาเงินกู้โดยทั่วไปที่บังคับให้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน จะถือเป็นสัญญาเงินกู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ไม่สามารถ คิดดอกเบี้ยเกิน 15%" ธิดายืนยัน ตัวแทนเครือข่ายลูกหนี้ยังเผยว่า อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่ทำถูกต้องแต่น้อยมาก เช่น บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ในเครือธนาคารทิสโก้ ที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถ โดยกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระค่างวดตามสัญญามาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่แยกแยะให้เห็นอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต และมีการโอนกรรมสิทธิ์รถกันชัดเจน
          แต่ทว่าลีสซิ่งหรือเช่าซื้อแทบจะทุกรายทำเป็นสัญญาเงินกู้แบบมีหลักประกัน บังคับให้ลูกหนี้นำสินทรัพย์มาค้ำประกัน หากลูกหนี้ผิดนัดชำระ ค้างค่างวด 3 งวด ก็จะถูกยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด แม้แต่บริษัทลีสซิ่งรายใหญ่ชื่อก้องเมืองไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังทำสัญญาในลักษณะนี้ ซึ่งมีประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อมากกว่า 1 ล้านคน
          พอร์ตสินเชื่อเงินกู้เหล่านี้ทั้งระบบน่าจะมีมากกว่า 1 แสนล้านบาท หากคิดเฉพาะดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการเหล่านี้เอาเปรียบประชาชน มีมูลค่าหลายพันล้านบาท
          ขณะที่ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากภาษีแวต ปีละหลายพันล้านบาทเช่นกัน ดังนั้น หากกระทรวงการคลังเร่งออกกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้โดยเร็ว นอกจากจะช่วยให้ความเป็นธรรมกับประชาชนแล้ว ยังจะช่วยให้ภาครัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

          บรรยายใต้ภาพ
          อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
          พรชัย ฐีระเวช--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน