ปฏิรูปพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)

Friday, March 16, 2018  02:20
45963 XTHAI XECON DAS V%PAPERL P%PTD

          อนัญญา มูลเพ็ญ
          เมื่อวันที่  13  มี.ค. 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ไปเป็นที่เรียบร้อยเหลือขั้นตอน การเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ต่อไป
          หนึ่งในด้านสำคัญที่เป็นที่จับตาจากทั้งหมดคือการปฏิรูปด้านพลังงานในฐานะภาคที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของภาคพลังงานมีสัดส่วนต่อ จีดีพีสูง 16% มีการลงทุนปีกว่า 5 แสนล้านบาท พลังงานเป็นต้นทุนการผลิตของทุกสาขาการผลิตรวมทั้งครัวเรือน 12% มีการสร้างรายได้ให้ภาครัฐปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท
          "พรชัย รุจิประภา" ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ ส่งผลต่อการการใช้และการจัดหาพลังงาน จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่งได้รับการยอมรับของประชาชน ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การหยุดชะงักของการลงทุน โดยหลังแผนปฏิรูปเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน เม.ย.นี้ หน่วยงานต่างๆ จะต้องเริ่มแอ็กชั่นแพลน 17 ประเด็นปฏิรูปใน 6 ด้าน ทันที
          "กรรมการปฏิรูปจึงจัดทำโรดแมป การปฏิรูประยะ 5 ปี (2561-2565) เพื่อปรับการบริหารจัดการพลังงานของภาครัฐใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน แยกบทบาทหน่วยนโยบาย กำกับ และปฏิบัติ ออกจากกันเพื่อลดการแทรกแซงเชิงนโยบาย ดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้  ปรับรูปแบบการวางแผนจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น พัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนมีอิสระด้านพลังงานในการผลิตเองใช้เอง ผลักดันการสร้างฐานรายได้ใหม่ของประเทศจากอุตสาหกรรมพลังงาน" พรชัย กล่าว
          สำหรับการปฏิรูปทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการพลังงานของประเทศสาระสำคัญอยู่ที่การปฏิรูปองค์กรด้านพลังงานจะปรับโครงสร้างองค์กร นโยบาย-กำกับ-ปฏิบัติ โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ จะพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศด้านพลังงานให้สมบูรณ์เชื่อมโยงเป็นบิ๊กดาต้า ซึ่งหน่วยงานที่ทำข้อมูลนี้จะต้องเป็นองค์กรอิสระเพื่อการยอมรับของข้อมูลจากทุกฝ่าย โดยต้องสามารถให้บริการภายในปี 2562
          ประเด็นที่ 2  ด้านไฟฟ้า ปฏิรูปโครงสร้างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) คำนึงถึงความสมดุลรายภาค ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า ส่งเสริมกิจการไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในชุมชน  ด้านที่ 3 ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี  จัดหาก๊าซธรรมชาติให้มีความต่อเนื่อง และพัฒนาปิโตรเคมี ระยะที่ 4
          ด้านที่ 4 พลังงานทดแทน  การบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล  ส่งเสริมการนำขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ติดตั้ง โซลาร์รูฟเสรี และปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่ง ด้านที่ 5 อนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้าย ด้านที่ 6 เทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน ส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศและส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน
          "หากสามารถเดินตามโรดแมป การปฏิรูปพลังงานจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ผ่านการขยายการลงทุนทั้งโครงสร้าง พื้นฐานภาครัฐ และการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานของเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่นปิโตรเคมี ระยะที่ 4 ระบบกักเก็บพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะมีมูลค่าลงทุนเพิ่มอีกอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท ใน 2-3 ปี ผลักดัน ให้ไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง คือรายได้ต่อหัวเฉลี่ยมากกว่า 1.5 หมื่นดอลลาร์  หรือประมาณ 471,300 บาท/ปี จีดีพีโตเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 5%" พรชัย  กล่าว

          บรรยายใต้ภาพ
          พรชัย  รุจิประภา--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์