คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย: สุนัขบ้าพุ่ง ต้องเอาจริง จัดระเบียบสุนัขจรจัด
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)

Monday, March 26, 2018  03:41
40229 XTHAI XECON XOTHER XCLUSIVE DAS V%PAPERL P%PTD

          ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
          ช่วงนี้ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ มีหลายเรื่อง แต่เลือกที่จะเขียนหัวข้อนี้ เพราะอยากให้แง่คิด เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในหลายสิบจังหวัด และอีก 42 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง แต่เดิมสื่อมวลชนให้ความสนใจต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือน แต่บานปลายไปจนถึงกรณีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันโรคนอกจากจะไม่พอแล้ว ยังมีปัญหาหลายหน่วยงานเกี่ยงกันว่าใครจะรับผิดชอบ แถมพ่วงความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
          ก่อนอื่นต้องให้เห็นความเชื่อมโยงของสุนัขบ้า ซึ่งต้นเหตุเกี่ยวกับ สุนัขจรจัดของไทยซึ่งน่าจะมีจำนวนสูงติดอันดับโลก จากการสำรวจของ สำนักงานปศุสัตว์ จำนวนสุนัข ของไทยเมื่อ 3 ปี ก่อนมีถึง 8.5 แสนล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของเพ่นพ่านไปทั่วถึง 7.5 แสนตัว เฉพาะใน กทม.อาจมีมากกว่า 1.5 แสนตัว
          ปัญหาสุนัขจรจัดถึงวันนี้น่าจะมีมากกว่า 1 ล้านตัว กลายเป็นปัญหาระดับชาติเดินเกะกะเร่ร่อน ตามถนน ตรอกซอกซอย หมู่บ้าน วัดวาอาราม หรือส่วนราชการ แม้แต่หน้าร้าน เซเว่นฯ ก็ยังเห็นนอนเฝ้าเป็นประจำ นอกจากสร้างความรำคาญยังมีผลต่อสุขอนามัย แค่อุจจาระเกลื่อนถนนรวมกันวันละไม่น้อยกว่า 100 ตัน เป็นพาหะนำโรคมากมาย ที่ไม่น่าเชื่อจากการสุ่มหัวกะโหลกสุนัขพวกนี้ไปตรวจพบว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้าในอัตราสูงซึ่งยังไม่ออกฤทธิ์แฝงอยู่ ประเด็นที่น่าตกใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่าสุนัขจรจัดซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนมีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น
          โรคพิษสุนัขบ้าได้รับความสนใจ เพราะปีนี้มีการระบาดมากกว่าทุกปี จังหวัดต่างๆ กว่าครึ่งของประเทศประกาศเป็นพื้นที่สีแดงและสีเหลือง การแก้ปัญหามีความซับซ้อน เพราะคนไทยเป็นคนใจบุญ เมตตาสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก มีการนำอาหารมาเลี้ยงนอกบ้าน แต่ไม่ยอมนำไปเลี้ยงกลายเป็นว่าไปสร้างปัญหาให้สังคมใน กทม.แต่ละปี มีการร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 เรื่อง อีกทั้งกฎหมายป้องกันทารุณสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ (พ.ศ. 2557) ซึ่งออกมาแบบไปลอกฝรั่งมาไม่หมด ไม่ได้กำหนดโทษของผู้ที่เลี้ยงสัตว์แล้วไม่ดูแลไปปล่อยเร่ร่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่กล้าที่จะไปจับหรือดำเนินการจัดระเบียบ เพราะมีโทษถึงติดคุกติดตะราง แถมมีคนคอยถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียถูกด่าฟรีๆ สู้ไม่ทำอะไรเลยสบายใจดีกว่า
          ศูนย์พักพิงสัตว์มีอยู่ในหลายจังหวัด แต่ละแห่งก็ทุลักทุเลเพราะมีพื้นที่จำกัด ใน กทม.ใช้งบค่าอาหาร ปีละ 15-20 ล้านบาท ไม่รวมค่าวัคซีน ค่าทำหมัน ค่าแรงเจ้าหน้าที่ ค่าบำรุงรักษาอาคารต่อปีไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ปีนี้มีการของบประมาณ 231 ล้านบาท ไปปรับปรุงศูนย์พักพิงที่เขตประเวศ ซึ่งปัจจุบันรับสุนัขเร่ร่อนได้ ไม่เกิน 1,000 ตัว เมื่อจับมาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากมากักขังไว้เลี้ยงดูจนกว่าจะตายไปเองตามอายุขัย แต่ละปีมีสุนัขตายไม่เกิน 150 ตัว มีคนใจบุญขอไปเลี้ยงประมาณ 100 ตัว แต่สุนัขที่อยู่นอกศูนย์มีเป็นหลักแสน จึงได้กล่าวแต่ต้นว่าเรื่องนี้คงต้องมาดูกันจริงจัง
          ปัญหาไม่ได้จบอยู่แค่นั้น ยังเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐออกมาเกี่ยงกันว่าใครจะรับผิดชอบ ตัวกฎหมายมอบให้กรมปศุสัตว์ สังกัด กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ดูแล แต่ก็ต้องดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสัตว์ ตั้งแต่ไก่ หมู วัว ควาย ยกเว้นเสือดำคงไม่เกี่ยว เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ค่อยมีคนและเวลาที่จะมาดูแลเรื่องหมาๆ แมวๆ ขณะที่โรคพิษสุนัขบ้าการดูแลสเปกของวัคซีนเป็นเรื่องของ อย.
          อีกทั้งทางสาธารณสุขดูแลเรื่องการจัดซื้อและเป็นผู้ไปฉีดวัคซีน แต่สุนัขจรจัดเป็นปัญหาสังคมกระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่นต่างเข้าไปดูแลทั้งด้านจัดซื้อและฉีดยา แต่ละปีมีการ นำเข้าวัคซีน 8 ล้านโดส ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ออกมาติงว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะเป็นหน้าที่กรมปศุสัตว์บานปลายไปจนถึงขั้นวัคซีนขาดแคลน จนภายหลังตกลงกันได้ แต่ก็ยังมีเรื่องของการทุจริตความไม่โปร่งใส เช่น วัคซีนไม่ได้คุณภาพหรือหมดอายุ นี่เป็นแค่เรื่องย่อๆ เท่านั้น
          ปัญหาสุนัขจรจัดน่าจะยกระดับเป็นวิกฤตของประเทศ ประเด็นคือถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐและประชาชนจะต้องใส่ใจและมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง การมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์แบบครึ่งๆ กลางๆ จนไม่มีหน่วยงานรัฐหรือใครกล้าไปแตะ แค่จับไปกักขังก็เสี่ยงเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ ศูนย์ต่างๆ มีไม่พอเพียง นับวันสุนัขเร่ร่อนเหล่านี้ก็จะเพิ่มจำนวนและอาจกระทบไปจนถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และต้องอย่าลืมว่าเราเป็นเมืองท่องเที่ยวของโลก
          คงไม่ช้าเกินไปในการที่จะต้องมีกฎหมายโดยเฉพาะ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนสัตว์และคนเลี้ยง สถานที่ ความสามารถในการดูแล การนำสุนัขไปปล่อยนอกบ้าน ข้างถนน หรือในวัด ต้องมีโทษทั้งปรับและอาญา เรื่องเหล่านี้ต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อีกทั้งการฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จะทำได้อย่างไร การดูแลไม่ให้สุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณแค่ทำหมันคงไม่พอและไม่ทันกับจำนวนที่เพิ่มขึ้น ปัญหาพวกนี้ปล่อยปละหมักหมมมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้เชียร์ให้ไปฆ่าหรือไปรมแก๊สพวกน้องหมานะครับ (สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์
www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์