4 หน่วยงาน ร่วมลงนามพัฒนาองค์กรผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งการคุ้มครองผู้บริโภคไทย
Source - ข่าวสด (Th)

Monday, March 26, 2018  03:12
26162 XTHAI XGEN DAS V%PAPERL P%KSD

          15 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล เพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิของตนเอง หลายๆ หน่วยงานมองเห็นความสำคัญและร่วมกันผลักดันเรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภค ในบริบทต่างๆ มากมาย เพื่อสร้างมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มแข็ง
          ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครอง ผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง "การพัฒนาระบบรับรององค์กรผู้บริโภคและการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค" เพื่อร่วมกัน ผลักดันบทบาทขององค์กรผู้บริโภคต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
          ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการ ผู้ช่วยผู้จัดการ และผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน การควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2549 จัดตั้งศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เพื่อสนับสนุนแผนงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภค และเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในการส่งเสริมบทบาท และพัฒนากลไกโครงสร้างภาคประชาชน และกระบวนทัศน์ผู้บริโภคในด้านสุขภาพ โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 ได้ก่อตั้งแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เพื่อร่วมจัดการ ความรู้ทางวิชาการ และพัฒนาแนวทางจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และองค์กรผู้บริโภคพัฒนาระบบรับรองคุณภาพองค์กรผู้บริโภค รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกคุ้มครองผู้บริโภค
          "ในการลงนามครั้งนี้ สสส. และศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ (คคส.) มีบทบาทในการพัฒนา และรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ทั้งในด้านการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ รวมถึงการทรัพยากรต่างๆ จัดทำ ฐานข้อมูลองค์กรผู้บริโภค ที่ผ่านการรับรองคุณภาพในระดับต่างๆ โดยองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึง และนำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดจนร่วมวางแผน ด้านการสื่อสารให้เกิดการรับรู้และภูมิคุ้มกัน ด้านสิทธิผู้บริโภคแก่ประชาชน" ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
          ด้าน นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า บทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้ขยายและก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ในระดับนโยบายภาครัฐที่เน้นการดำเนินงานในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อประกันและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทำให้ปัญหาการร้องเรียนของประชาชนผู้บริโภคยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบผู้บริโภคถูกโกง ถูกหลอกจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ถึงร้อยละ 32 สคบ. จึงได้เปิดช่องทางร้องทุกข์ออนไลน์ให้ผู้บริโภคส่งสำเนาและสแกนไฟล์รูปภาพ สินค้า และใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการแจ้งความ เพื่อให้ สคบ. ดำเนินการแก้ไขการเอาเปรียบและการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์
          นายพิฆเนศ กล่าวอีกว่า องค์กรผู้บริโภค เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้บริโภค ที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสิทธิ ผู้บริโภคให้ขยายครอบคลุมทั่วถึง โดยการลงนามครั้งนี้ สคบ. จะสนับสนุนเชิงนโยบาย ให้องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ได้มีบทบาทร่วมในกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และในระดับท้องถิ่น สนับสนุนการพัฒนา และรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ทั้งในด้านการให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เข้มแข็ง
          มาที่ ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 วรรคสาม กำหนดว่า "องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ" ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรผู้บริโภค (เอกชน) หลายองค์กรแต่ยังไม่มีกระบวนการพัฒนาหรือประเมินระดับความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองอย่างเป็นระบบและชัดเจน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่ได้ร่วมกันพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนั้นให้มีความเข้มแข็ง โดยในส่วนของมูลนิธิฯ ก็จะนำข้อมูลวิชาการที่มาร่วมพัฒนาระบบรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ผ่านการจัดหลักสูตรอบรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรผู้บริโภคให้มีคุณภาพ สร้างพลังในการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของประชาชนไทยอย่างเข้มแข็ง
          เพราะทุกคนคือ "ผู้บริโภค" การทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จึงไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การลงนามความร่วมมือนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมสร้างมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันในฝั่งของประชาชนก็ควรศึกษาเรื่องของสิทธิผู้บริโภคเพื่อสร้างภูมิคคุ้มกันแก่ตนเอง คิดให้ดี ตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อจะดีที่สุด

          บรรยายใต้ภาพ
          ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ
          นายพิฆเนศ ต๊ะปวง
          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด