คอลัมน์: สายตรวจระวังภัย: 'เฟซบุ๊ก'โซเชียลมีเดียยอดนิยมคนโกง!
Source - คมชัดลึก (Th)

Friday, April 20, 2018  03:34
60398 XTHAI XENV XWEATHER XHEALTH DAS V%PAPERL P%KCL

          ทีมข่าวอาชญากรรม
          อินเทอร์เนตทำให้ชีวิตประจำวันของคนเราสะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนไม่รู้จักก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโลกโซเชียล มีเดีย อาทิ
          เฟซบุ๊ก แอพพลิ เคชั่นไลน์ ฯลฯ แต่ความสะดวกสบายนี้มีอันตรายแฝงมาด้วย เพราะกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้มิจฉาชีพ หรือ "โจรออนไลน์"
          หรือ "โจรไซเบอร์"
          ที่แม้จะอยู่ไกลจากเหยื่อก็สามารถเข้ามาใกล้ชิด แล้วตีสนิทตุ๋นเงินไปจากเหยื่อได้โดยง่ายหากไม่ระมัดระวัง ซึ่งปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับการ "ฉ้อโกง"
          แทบไม่เว้นแต่ละวัน จนมีสถิติการกระทำผิดและถูกหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
          เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
          กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อธิบายภาพรวมของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในยุคปัจจุบันว่า จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. พบว่าสถิติภัยคุกคามไซเบอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2554 โดยมีผู้เข้าแจ้งความแค่หลักร้อย  เพิ่มเป็นหลักพันตั้งแต่ปี 2556 และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560 มีจำนวนถึง 842 กรณี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มี 713 กรณี และการเล่นโซเชียลมีเดียของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มตาม ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีด้วย
          ไวรัสโปรแกรม (malicious code)โดยเมื่อสิ้นปี 2559 มีผู้เข้าแจ้งความแล้วถึง 1,020 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 26.86% เทียบจากช่วงก่อนปี 2556 ที่มีไม่ถึงหลักร้อยกรณี และเป็นตัวเลขเดียวกับภัยของการเจาะเข้าใช้ระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ รับอนุญาต (Intrusion) ส่วนความผิดที่เกี่ยวกับ
          การหลอกลวงซื้อขายทางออนไลน์ (Fraud)มีสถิติสูงรองลงมา ในสัดส่วนใกล้เคียง คือ 26.39% สำหรับช่องทางที่คนร้ายนิยมใช้ในการต้มตุ๋นหลอกลวงเหยื่อคือ เฟซบุ๊ก!ไม่ว่าจะเป็นการปลอมเฟซบุ๊กแชทหาเพื่อนหลอกยืมเงิน ขายสินค้า แชร์ออนไลน์ ฯลฯ
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา ตำรวจกองปราบปราม ได้จับกุม น.ส. ปวีณา สุขฉิม
          อายุ 33 ปี สืบเนื่องจากเมื่อช่วงกลางปี 2560 น.ส.ปวีณา ได้ปลอมเฟซบุ๊กของ "แอม" เสาวลักษณ์ ลีละบุตรศิลปินนักร้องชื่อดัง โพสต์ข้อความชวนเชื่อว่า สามารถจัดหาสถานที่ทำงานหรือพาไปทำงานยังต่างประเทศได้ ซึ่งผู้ที่สนใจจะได้รับเงินเดือนประมาณ 8 หมื่นบาท แต่จะต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท ตามแต่ความยากง่ายของแต่ละประเทศที่ผู้เสียหายต้องการไปทำงาน
          เมื่อผู้เสียหายส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของนักร้องชื่อดังจริง จึงโอนเงินให้แก่ผู้ต้องหา แต่เมื่อถึงกำหนดนัดหมายเดินทางไปทำงานผู้ต้องหากลับอ้างว่าติดปัญหาเรื่องเอกสารบางอย่าง ก่อนจะเริ่มขาดการติดต่อไปในที่สุด โดยมีผู้หลงเชื่อถูกหลอกกว่า 100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบ
          ภาคอีสาน ภาคกลาง และ
          ภาคตะวันออก รวมมูลค่าความเสียหายกว่าหลายสิบล้านบาท
          อีกคดีที่มีการหลอกลวงฉ้อโกงผ่าน ทางเฟซบุ๊กที่มีการจับกุมล่าสุดคือ ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจ 191 จับกุม "นักบินเก๊" นายสาคร ลาจ้อย
          อายุ 47 ปี หลอกลวงขายโทรศัพท์มือถือโดยแสดงตนเป็นนักบิน สร้างความน่าเชื่อถือ แล้วโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก หลอกเหยื่อว่าได้เครื่องโทรศัพท์ไอโฟนมาในราคาถูก นำเข้าจากต่างประเทศ บางครั้งก็หลอกลวงว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจยึด ไอโฟนไว้ และสามารถนำออกมาจำหน่ายในราคาถูกได้ ซึ่งทำแบบนี้มานานถึง 5 ปี มีผู้เสียรู้ถูกหลอกจำนวนมาก
          ขณะเดียวกันการตุ๋นเหยื่อของแก๊ง โรแมนซ์สแกม
          หรือ แก๊งแสร้งรักออนไลน์ที่มีคนไทยและชาวผิวสีร่วมขบวนการถูกจับหลายหน แต่ก็ยังมีก่อเหตุอยู่เนืองๆ เช่นกัน ซึ่งล่าสุดวันที่ 12 เมษายน ก็มีการแถลงผลจับกุมชาวไนจีเรีย 3 คน พฤติการณ์เดิมๆ คือ แบ่งหน้าที่กันหลอกผู้เสียหายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ลักษณะใช้รูปโปรไฟล์หน้าตาดี หลอกคุยกับผู้เสียหายผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก แล้วอ้างว่ามีสินค้าที่จะส่งเป็นของขวัญให้ผู้เสียหายแต่ติดขั้นตอนศุลกากร ให้ผู้เสียหาย โอนเงินมาช่วยเหลือเพื่อนำสินค้าออกไป เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินมาก็จะปิดเฟซบุ๊กหนีทันที
          มีปัญหาร้องเรียน "สายตรวจระวังภัย" ทีมข่าวอาชญากรรม 0-2338-3636-7 อีเมล cr_nation@hotmail.com หรือเฟซบุ๊ก สายตรวจประชาชน หรืออาชญากรรมทันข่าว--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก