'ปฏิรูประบบสาธารณสุข' 4 ด้าน 10 ประเด็นใน 5 ปี
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Friday, April 20, 2018  05:38
24763 XTHAI XLOCAL DAS V%PAPERL P%KT

          พวงชมพู ประเสริฐ qualitylife4444@gmail.com
          กรุงเทพธุรกิจ แผนปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2561 โดยในด้านสาธารณสุขตามแผนปฏิรูปจะ ดำเนินการใน 4 ด้าน 10 ประเด็น มีบางส่วน ที่จะขับเคลื่อนภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 "กรุงเทพธุรกิจ" จึงเจาะลึกแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ผ่านการสัมภาษณ์พิเศษ นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
          นพ.เสรี บอกว่า ที่มาของแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุข คณะกรรมการฯ ยึดตาม หลักที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 เรื่องระบบการแพทย์ปฐมภูมิและระบบประกันสุขภาพ รวมถึงต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 โดยดำเนินการต่อจากสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เคยทำไว้ นำทั้งหมดมาตกผลึก ออกมาเป็นแผนปฏิรูป 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านระบบบริการจัดการด้านสุขภาพ 2.ด้านระบบบริการสาธารณสุข 3.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ 4.ด้านความ ยั่งยืนและเพียงพอด้านการเงินการคลังสุขภาพ โดยแตกย่อยครอบคลุมเป็น 10 ประเด็น
          แผนปฏิรูปด้านระบบบริการจัดการด้านสุขภาพ จะดำเนินการให้มีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและจัดทำนโยบายหลักด้านระบบสุขภาพของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคณะกรรมการจะมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาสังคม มีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ให้บริการหลักเรื่องสาธารณสุขของประเทศถึง 70%
          ไม่เพียงเท่านี้ยังเน้นการกระจาย อำนาจไปสู่ภูมิภาคด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเป็นกลไก สำคัญในการตัดสินใจ เพื่อบริหารระบบสุขภาพในเขตให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพ ในแต่ละพื้นที่ ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด โดยการขับเคลื่อนทั้ง 2 เรื่องนี้ จะต้อง ออกกฎหมายเป็นร่าง พ.ร.บ.โครงสร้างการบริหารระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ...และ ดำเนินการจัดตั้งกองทุนสุขภาพระดับ เขตพื้นที่ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง จะปรับบทบาทกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นการทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบด้านสุขภาพของประเทศ (National Health Authority)
          นอกจากนี้ พัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสุขภาพ เพื่อให้มีฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศ ที่จะสามารถนำมาใช้สนับสนุนการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ด้านสุขภาพได้จริง เช่น การเงินการคลัง การบริการในระบบสุขภาพและสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น คาดว่าในระยะเวลา 5 ปี ใช้วงเงินราว 8,890 ล้านบาท เฉลี่ย 1,178 ล้านบาทต่อปี หรือเท่ากับ 27 บาทต่อคนต่อปี และมีคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายกำลังคนสุขภาพของประเทศ
          ด้านระบบบริการสาธารณสุข เน้นระบบบริการปฐมภูมิ มีการให้บริการและระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster : PCC) ที่สมบูรณ์เป็นจุดเชื่อมระหว่างบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยขยายคลินิกหมอครอบครัวให้มีจำนวน
          2,280 ทีม มีระบบการลงทะเบียนชื่อแพทย์คู่กับประชาชนครอบคลุม ทุกคลินิกหมอครอบครัว สำหรับระยะสั้น 1 ปี จะมีการพัฒนา ชุดสิทธิประโยชน์จำเพาะ (Specific Package) ตามความต้องการจำเพาะและจำเป็นด้านสุขภาพของแต่ละ พื้นที่ โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ และจัดตั้งกองทุนบริการปฐมภูมิเป็นกองทุนเฉพาะสำหรับระบบ บริการปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งจะมีการพิจารณา รายละเอียดต่อไป
          ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเน้นความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ต้องพัฒนาระบบสื่อสารสุขภาพ ให้มีระบบการคุ้มครองด้านการสื่อสาร โดยมี หน่วยงานกลางคัดกรองข้อมูล ด้านสุขภาพ ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ถูกต้อง ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สุขภาพ ตรวจจับข้อมูลเท็จ ตอบโต้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทันท่วงที เพื่อ ให้ประชาชนสามารถใช้ข้อมูลเพื่อ ตัดสินใจจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายให้การเจ็บป่วย ที่ป้องกันได้ลดลง จำเป็นต้องออก เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ
          และด้านความยั่งยืนและเพียงพอด้านการเงินการคลังสุขภาพมุ่งเน้นเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ โดยทั้ง 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ จะจัดทำ 3 ชุด สิทธิประโยชน์ หรือ 3 แพ็คเกจในการรักษา ได้แก่ 1.ชุดสิทธิประโยชน์หลักหรือสิทธิประโยชน์จำเป็น ทุกสิทธิได้รับเหมือนกัน 2.ชุดสิทธิประโยชน์เสริม 1 แต่ละกองทุนพิจารณาจ่ายเพิ่มเติมให้ผู้ใช้สิทธิเอง และ 3.ชุด สิทธิประโยชน์เสริม 2 ส่วนที่ประชาชนจะต้องจ่ายเงินเองหากต้องการใช้บริการที่เพิ่มเติมขึ้น
          "แนวคิดเรื่องการปฏิรูปจะ คิดตรงข้าม มุ่งที่ประชาชนก่อนว่าจะได้รับประโยชน์อะไร แต่ถ้าหาก คิดจากข้างบนลงมาข้างล่าง การปฏิรูปก็จะไม่เกิด และแผนปฏิรูปด้าน สาธารณสุขที่มีการกำหนดไว้นี้ ไม่ว่า รัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะต้องดำเนินการต่อ อาจจะมีการเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ แต่ในส่วนของแผนปฏิรูป 4 ด้าน 10 ประเด็นจะต้องยังคงอยู่และเกิดการ ขับเคลื่อนไป" นพ.เสรี กล่าว
          "แผนปฏิรูปด้านสาธารณสุขที่กำหนดไว้นี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหน เข้ามาบริหารประเทศ  ก็จะต้องดำเนินการต่อ"
          นพ.เสรี ตู้จินดา--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ