*137 หยุดเอสเอ็มเอสดูดเงินแก้ปัญหาปลายเหตุ?
Source - เดลินิวส์ (Th)

Monday, April 23, 2018  04:41
10150 XTHAI XCORP XITBUS MIDD DAS V%PAPERL P%DND

          กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com
          ถือเป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่ตกซักที กรณีเอสเอ็มเอส หนึ่งในบริการเสริมที่ดูดเงินลูกค้า ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ โอปเรเตอร์จะออกโรงว่า หากผู้ใช้บริการไม่ใช้บริการเสริมก็ให้โทรฯมายกเลิกกับคอลเซ็นเตอร์
          แต่ก็ยังมีบริการเสริมต่างๆ ออกมาให้ผู้ใช้งานต้องเสียเงินโดยไม่รู้ตัว จนผู้ใช้งานบางคนต้องย้ายค่ายหนี เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น ซึ่งล่าสุด กสทช.เชิญ 3 โอปเรเตอร์ "เอไอเอส-ดีแทค-ทรู" หารือและแก้ปัญหาร่วมกัน
          "นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา"กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า บริการเอสเอ็มเอสดังกล่าวถือเป็นบริการเสริม ถ้าผู้ใช้บริการสมัครจะต้องเสียเงินค่าบริการ แต่หากผู้ใช้บริการไม่ได้สมัคร แต่ปรากฏว่ามีการเรียกเก็บเงินตามมานั้นถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค
          ดังนั้น กรณีเอสเอ็มเอสดูดเงินประชาชน ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้มีกรณีร้องเรียนของผู้บริโภคกับมือถือค่ายหนึ่งในการให้บริการเสริมของบริษัทเพลงที่สู้กันไปมา จนเตรียมนำเสนอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อเอาผิดผู้ให้บริการ แต่สำนักงาน กสทช.ก็ไม่นำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าบอร์ดและระบุว่าเจรจายอมความชดเชยค่าเสียหายเรียบร้อยแล้ว
          "กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะกฎหมาย กสทช.มาตรา 3 (2) ได้ให้อำนาจ กสทช.ว่า ถ้าผู้ให้บริการค้ากำไรเกินควรก็สามารถสั่งระงับบริการได้ และกฎหมายได้ระบุให้ กสทช.สามารถปรับเงิน 5 ล้านบาท หรือ วันละ 1 แสนบาทได้ทันที แต่เมื่อสำนักงาน กสทช.ไม่นำเสนอเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณาจึงยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในการลงโทษใด ๆ เกิดขึ้นเลย"
          อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบข้อมูลเอสเอ็มเอสดูดเงินผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ เมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามาการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ จะต้องขอเอกสารจากผู้ให้บริการเสริม ซึ่งต้องใช้เวลาและเยียวยาผู้บริโภคเป็นราย ๆ ไป ถือว่าไม่ถูกต้อง
          ดังนั้น โอปเรเตอร์ถือเป็นผู้ทำสัญญาการให้บริการในการเปิดเบอร์ มือถือ ควรที่จะเก็บหลักฐานการสมัครทั้งหมด อีกทั้งในส่วนของรายได้จากบริการเสริมต่าง ๆ นั้น โอปเรเตอร์ จะได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค ซึ่งต่อไปจะต้องพิจารณาที่เข้มข้นกว่านี้
          "สิ่งที่ต้องทำหลัก ๆ กรณีเอสเอ็มเอส ดูดเงินคือ ขั้นตอนการพิสูจน์หลักฐาน คือ หลักฐานการสมัครที่โอปเรเตอร์ต้องเป็นผู้เก็บเอง เพราะสัญญาที่ผู้ใช้บริการทำร่วมกันถือเป็นการยินยอมที่จะให้ค่ายมือถือเข้าถึงข้อมูลอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของการส่งข้อความรบกวนหรือคิดเงินโดยไม่สมัครใจถือว่ามีความผิด"
          สำหรับมาตร การป้องกันเอสเอ็มเอสดูดเงินที่โอปเรเตอร์ควรทำ คือ การส่งเอสเอ็มเอส ดับเบิลคอน เฟิร์มยืนยันการสมัครบริการเสริม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ใช้บริการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่มีบริการเสริมขึ้นมา ปกติผู้ใช้งานจะกดปุ่มกากบาททิ้ง แต่ในระบบกลับกลายเป็นการสมัครใช้งาน ถือเป็นกลลวงของผู้ ให้บริการเสริมทำให้ผู้ใช้งานสมัครบริการโดยไม่รู้ตัว
          .เมื่อผู้ใช้งานกดปุ่มใดปุ่มหนึ่ง ที่ทำให้มีการสมัครบริการเสริมโดยไม่เต็มใจ โอปเรเตอร์จะต้องส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนทันทีว่าผู้ใช้งานได้สมัครบริการดังกล่าวไว้ แล้วจะยืนยันการสมัครหรือไม่ หากยินดีที่จะสมัครก็ให้กดยืนยันอีกครั้ง แต่หากผู้ใช้งานไม่ยินดีที่จะสมัคร ผู้ใช้งานจึงค่อยกดยกเลิกการสมัครที่ *137 ใช้ได้ทุกค่ายมือถือ.
          การส่งเอสเอ็มเอสยืนยันการสมัครบริการเสริมถึง 2 ครั้งนี้ จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้งานรู้ตัว และเป็นผู้ตัดสินใจใช้บริการเอง เหมือนต่างประเทศก็ได้มีหลักการส่งเอสเอ็มเอสยืนยันดับเบิลคอนเฟิร์มให้ผู้ใช้งานได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง
          ทั้งนี้ ปี 2560 มีประชาชนร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช.ว่ามีเอสเอ็มเอส คิดเงินโดยไม่สมัครใจ 772 เรื่อง เป็นเงินราว 1.76 แสนบาท แบ่งเป็น เอไอเอส 264 เรื่อง ดีแทค 301 เรื่อง และ ทรู 236 เรื่อง ส่วนปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 เม.ย. มีจำนวน 292 เรื่อง แบ่งเป็นเอไอเอส 80 เรื่อง ดีแทค 111 เรื่อง และ ทรู 121 เรื่อง คิดเป็นเงิน  5.8 หมื่นบาท โดยดำเนินการยุติเรื่องไปแล้วประมาณ 94% ด้วยการโอปเรเตอร์ยินดีคืนเงินให้กับผู้บริโภค เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้
          สำหรับวิธีป้องกันตัวเองนั้น นพ. ประวิทย์ บอกว่า ผู้ใช้บริการควรตรวจสอบใบเสร็จทุกเดือน เมื่อมีค่าบริการเสริมโดยไม่ได้สมัคร หรือเมื่อเติมเงินแล้วเงินหายไปอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้บริการควรรีบร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการทันทีเพื่อให้พิสูจน์หลักฐานภายใน 30 วัน และร้องเรียนมายังสายด่วน 1200 ของ กสทช.เพื่อเป็นตัวกรองในการบันทึกเรื่องร้องเรียน
          "การที่ผู้ใช้บริการจะต้องรีบร้องเรียนเพราะโอปเรเตอร์จะต้องขอหลักฐานการใช้งานไปยังผู้ให้บริการเสริมซึ่งต้องใช้เวลา อีกทั้งการเก็บบันทึกการใช้งานก็จะอยู่ภายใน 90 วัน หากร้องเรียนช้าก็จะทำให้ลำบากต่อการพิสูจน์ข้อมูล ตนจึงอยากให้เปลี่ยนเป็นโอปเรเตอร์เป็นผู้เก็บข้อมูลการใช้งานบริการเสริมเองทั้งหมด ทั้งๆ ที่บริการเสริมจริงๆ แล้วก็เป็นพันธมิตร หรือเป็นธุรกิจในเครือเดียวกับโอปเรเตอร์เอง"
          ทั้งนี้หากโอปเรเตอร์พิสูจน์ไม่ได้ว่า ผู้ใช้บริการมีการสมัครใช้บริการใด ๆ ก็จะคืนเงินให้ผู้ใช้บริการในใบแจ้งหนี้เดือนถัดไปได้ทันที
          ปัจจุบันคนใช้มือถือ มีทั้งเด็กๆ และผู้สูงวัยที่อาจไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี ตัวช่วย 'ดับเบิล คอนเฟิร์ม"ดูเหมือนจะช่วยให้รู้ตัวกันได้บ้าง หากเปิดดูเอสเอ็มเอสในกล่องข้อความบ่อย ๆ
          แต่การหยุดปัญหาเอสเอ็มเอสดูดเงิน ยังคงต้องอาศัย *137 หรือจบด้วยการร้องเรียน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังคงผลักภาระมาที่ผู้บริโภค
          ซึ่งสิ่งที่สำคัญสุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ก็คือ ผู้ให้บริการควรให้บริการด้วยความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบและฉวยโอกาสกับผู้บริโภคนั่นเอง.
--จบ--

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2561 (กรอบบ่าย)--