คอลัมน์: เปิดโลกดิจิตอล: กสทช.-อย.คุมโฆษณาเกินจริง พบทำผิดสั่งระงับทันที
Source - เดลินิวส์ (Th)

Monday, May 07, 2018  04:55
5397 XTHAI XCORP XITBUS MIDD DAS V%PAPERL P%DND

          กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com
          ปัจจุบันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์นั้นง่ายดายเพียงปลายนิ้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการโฆษณาก็มีทั้งที่ผ่านการตรวจสอบและยังไม่ผ่านการตรวจสอบ
          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กระบวนการทำงานในการตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการ หรือสินค้า จะต้องนำเนื้อหาเข้าสู่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์พิจารณา ซึ่งเมื่อพบว่ามีโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือการโฆษณาเกินจริงเกิดขึ้น สำนักงาน กสทช. ก็จะมีการสอบถามไปยังคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งอย.จะทำการตรวจสอบก่อนส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงาน กสทช.อีกครั้ง ซึ่งรวมระยะเวลากระบวนการแล้วจะใช้เวลาราว 45-60 วัน ถึงจะสามารถยุติการออกอากาศรายการนั้นได้
          ล่าสุดสำนักงาน กสทช. และ อย. ได้หารือร่วมกันในการเร่งรัดการยุติการออกอากาศโฆษณาด้วยการลดขั้นตอนเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อประชาชน โดย อย.จะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย ที่สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย.และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์
          ทั้งนี้ หากพบว่ามีโฆษณาใดที่ผิดกฎหมาย อย. จะทำหนังสือแจ้งมาให้ตนระงับโฆษณานั้นเป็นการชั่วคราว ก่อนส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามลำดับ จนกว่าผลการพิจารณาจะเป็นข้อยุติ โดยโทษของการฝ่าฝืนคือปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ วันละ 100,000 บาท
          "ปัจจุบันสื่อมีจำนวนมาก แบ่งออกเป็นช่องทีวีภาคพื้นดินจำนวน 27 ช่อง เคเบิลทีวี 400 กว่า และคลื่นวิทยุชุมชนราว 6-7 พันสถานี และสื่อโซเชียลมีเดียอีกจำนวนมาก ดังนั้นสื่อเองต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสถานีตนเองและให้ความร่วมมือช่วยกันตรวจสอบด้วย"
          นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีที่สุดคือการแก้ไขที่ต้นทาง ไม่ให้มีโฆษณาเผยแพร่ผ่านสื่อออกมาหลอกลวงผู้บริโภค ความร่วมมือระหว่าง อย. และ กสทช.ครั้งนี้ จะทำให้สามารถกลั่นกรองโฆษณาได้ตั้งแต่ต้น ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ยังลดความเสี่ยงในการรับข่าวสารโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริงด้วย
          นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่าขอให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงผู้ที่จะว่าจ้างลงโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในทางวิทยุและโทรทัศน์ ตรวจสอบเนื้อหา รวมถึงต้องนำเนื้อหาการออกอากาศ มาขออนุญาตตามกฎหมายที่อย.และสสจ.กำกับดูแลอยู่ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
          นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค และเข้าใจว่าอาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถช่วยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคได้ เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตรายที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้
          ส่วนเครื่องสำอาง มีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของร่างกายได้ ทั้งนี้ สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วนอย.1556 หรือสายด่วน กสทช. 1200
          "ปัจจุบันเศรษฐกิจขยายตัวเยอะ อย.อนุมัติผลิตภัณฑ์ปีละ 1-2 แสนตัว ทำให้การดูแลลำบากมากขึ้น ปัญหาใหญ่จะเรียกร้องภาครัฐฝ่ายเดียวให้ดูแลจะไม่สำเร็จเท่าความร่วมมือกับทุกภาคส่วน"
          เมื่อผู้ค้าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากเท่าไหร่ องค์กรที่กำกับดูแลก็ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ก็คงจะไม่ป้องกันได้ทั้งหมดพร้อมกัน ดังนั้น เกราะป้องกันเบื้องต้นคือตัวผู้บริโภคเองที่ต้องรอบ คอบ ศึกษาข้อมูลก่อนซื้อผลิตภัณฑ์.

          บรรยายใต้ภาพ 
          ภาพจาก www.chiangraicom.in.th
          ฐากร ตัณฑสิทธิ์
--จบ--

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2561 (กรอบบ่าย)--