'นพ.ประเวศ' หนุนปฏิรูปการศึกษา เน้นดึงศักยภาพความเป็นคน
Source - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (Th)

Monday, May 07, 2018  04:30
55316 XTHAI XPOL POL V%WIREL P%KTO

          "นพ.ประเวศ" หนุนปฏิรูปการศึกษา เน้นดึงศักยภาพความเป็นคน
          นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิรูปการศึกษา ในงานเวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย Thailand Education Partnership Forum 2018 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 5 พฤษภาคม ตอนหนึ่ง ว่า ระบบการศึกษาที่ดี ควรส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนทุกคน เพื่อให้บรรลุศักยภาพขั้นสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่การท่องจำ หรือ ท่องวิชา ที่ตนมองว่าเป็นการลดทอนและจำกัดศักยภาพของความเป็นมนุษย์
          นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่าสำหรับ กระบวนทัศน์ใหม่ในการขับเคลื่อนด้านการศึกษารูปแบบใหม่ จะนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา เพราะกระบวนทัศน์เก่า ไร้พลัง เนื่องจากมองเฉพาะการใช้อำนาจ , กฎหมาย, เงิน และการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงเป็นการศึกษาแบบสำเร็จรูปที่ไม่ใช่การเรียนรู้
          "กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ภายใต้สถานการณ์จริงของบุคคล องค์กร สถาบัน ที่เกี่ยวข้อง การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจะทำให้เกิดปัญญาร่วม นวัตกรรม อัจฉริยภาพกลุ่ม ดังนั้นการขับเคลื่อนการพัฒนาหรือปฏิรูปการศึกษา นอกจากใช้การเรียนรู้ร่วมกันแล้ว ต้องนำไปสู่การพัฒนาทุกด้าน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน อย่างน้อย 8 ประการ" นพ.ประเวศ กล่าว
          ราษฎรอาวุโส ยังขยายความต่อว่า การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน 8 ประการที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกัน ประกอบด้วย 1. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, 2. เคารพความรู้ในตัวตนไม่ใช่เคารพแค่ใบปริญญาบัตร, 3. มีความจริงใจ เอื้ออาทรต่อกัน, 4. เกิดความเชื่อถือและไว้วางใจกัน, 5. เกิดพลังทางสังคมาที่มาจากสามัคคีธรรม, 6. เกิดปัญญาร่วม นวัตกรรม อัจฉริยภาพกลุ่ม, 7. ทั้งหมดทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ และ 8. ทั้งหมดทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการพัฒนาที่ลึกซึ้งมากกว่าการปฏิรูปหรือการปฏิวัติ
          ทั้งนี้ในเวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย มีเยาวชนที่เข้าร่วมแสดงความเห็น อาทิ นายรชต จันทร์ดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สะท้อนว่า การศึกษาไม่ใช่การสอนให้รู้เรื่องวิชาการหรือนำไปประกอบอาชีพเท่านั้น แต่การศึกษาต้องทำให้คนเป็นคนเต็มรูปแบบ มีเอกลัษณ์ มีความเป็นระเบียบ มีวินัย มารยาทด้วย แต่ปัจจุบันการศึกษาของไทยไม่เน้นเรื่องดังกล่าว เพราะสนองแต่ค่านิยม และเลียนนแบบ รวมถึงสอนให้ใช้การแข่งขันเพื่อเป็นอับดับหนึ่ง
          "เด็กบางคนเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง โดยไม่สนใจคณะและเอกลักษณ์ของตนเอง การพูดในวันนี้ ผมคนเดียวคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เชื่อว่าทุกคนในงานวันนี้จะสามารถเปลี่ยนการศึกษาได้ เพื่อลูกหลานและประเทศไทย" นายรชต กล่าว
          สำหรับงานเวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย Thailand Education Partnership Forum 2018 (TEP) จัดขึ้น ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เพื่อสร้างเครือข่ายและพื้นที่ทำงานร่วมกัน ต่อองค์กร หน่วยงานและบุคคลที่สนใจงานด้านการศึกษา เพื่อเชื่อมโยง สร้างความเข้าใจ และตระหนักรู้ถึงความสามารถของการศึกษาที่จะร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมีองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเด็กและเยาวชน กว่า 600 คน เข้าร่วม.

          ที่มา: www.bangkokbiznews.com