ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา : น้อมนำศาสตร์พระราชา ดับวงจรทุกข์เข็ญ
Source - เว็บไซต์สยามรัฐ (Th)

Sunday, May 06, 2018  17:17
25906 XTHAI XROYAL ROYAL OTHER V%NETNEWS P%WSR

          น้อมนำศาสตร์พระราชา ดับวงจรทุกข์เข็ญ
          “…วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรคผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ ทุกๆ คนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบา และกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้…”
          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2528 วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2527
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตรพระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนนับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ โดยทรงทุ่มเทพระวรกายพระสติปัญญาเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขและขจัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมีสุขทั่วทุกภูมิภาคด้วยเวลายาวนาน 70 ปีตราบจนเสด็จสวรรคต
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราโชวาท  พระราชดำรัสพระราชดำริ  ตลอดจนรูปธรรมแห่งพระราชกรณียกิจ  หลักการทรงงานเกี่ยวกับการวางรากฐานด้านการพัฒนา เพื่อดับทุกข์เข็ญของประชาชน ที่หน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.)ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ  พระราชปณิธานนำเผยแพร่ขยายผลสู่ประชาชนคนไทยในระดับหนึ่ง
          นับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงทุ่มเทพระองค์ทรงงานหนักตรากตรำพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรทุกหมู่เหล่าในพื้นที่ต่างๆ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับทราบข้อมูล ที่เป็นปัญหาความต้องการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นฐานข้อมูลประการสำคัญสู่การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาอันอเนกอนันต์และสิ่งนี้ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติพระราชกรณียกิจช่วยเหลือให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ตามลำดับ
          ประการแรก คือ การถือคนในชนบทเป็นเป้าหมายของการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเห็นความสำคัญของการพัฒนาชนบทมาตั้งแต่ก่อนประเทศไทยจะประกาศใช้แผนพัฒนาเป็นเครื่องมือชี้นำการพัฒนาประเทศในปี 2505
          โดยทรงเห็นว่า คนในชนบทเป็นเสมือนรากแก้วของประเทศ การพัฒนาประเทศจึงต้องพัฒนาแก้ไขลงไปที่ฐานราก ซึ่งก็คือ รากชนบทหรือรากเกษตร ที่อยู่ในชนบทของประเทศนั่นเอง
          นอกจากนี้ ยังทรงมองกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม กล่าวคือ ทุกส่วนของการพัฒนามีมติเชื่อมโยงถึงกันทุกส่วน ทรงมองถึงภาพย่อยวิถีแห่งการพัฒนาในลักษณะของโครงการต่างๆ ว่าล้วนมีผลลัพธ์เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน มีผลให้ราษฎรเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศได้อย่างครบถ้วน
          ดังเช่น ทรงเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาที่ดินและเส้นทางคมนาคม ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหากระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศเกิดการเชื่อมโยงกันก็จะมีผลทำให้ประชาชนเกิดความมั่นคงในชีวิตได้
          ประการที่สอง คือ โครงการพัฒนาชนบทแห่งแรก เป็นโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจแก่ราษฎรแห่งแรกเมื่อปี 2495 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวรนำรถบูลโดเซอร์ สร้างทางสายห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ราษฎรสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาครึ่งวันก็เหลือแค่ 15-20 นาที
          นับเป็นการลงทุนที่มีคุณค่ามหาศาลแก่ราษฎรในพื้นที่
          ประการที่สาม คือ โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า นับเป็นจุดเริ่มต้นตามแนวพระราชดำริเรื่องน้ำ ที่สืบเนื่องมาจากการเสด็จพระราชดำเนินไปบ้านเขาเต่า โดยรถจี๊บโปโลและรถยนต์พระที่นั่งได้จมเลนในตะกาด ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง ที่ที่น้ำทะเลขึ้นมา เมื่อถึงเวลาน้ำลง พื้นที่ตรงนั้นก็จะกลายเป็นเลน ทำอะไรไม่ได้ ต้นไม้ก็ไม่อาจงอกงามได้
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาปัญหาเรื่องน้ำและดินจากหมู่บ้านเขาเต่าแห่งนี้ โดยทรงเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 60,000 บาทแก่กรมชลประทาน ก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลและปล่อยทิ้งไว้ให้ความเค็มเจือจาง
          ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำสำหรับชาวบ้านได้ใช้ทั้งการอุปโภค บริโภค เลี้ยงปลา และเพาะปลูกพืช อ่างเก็บน้ำเขาเต่านี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชดำริในเรื่องน้ำ ด้วยทรงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดว่า น้ำคือชีวิตของประชาชน
          ประการที่สี่ คือ ที่ดินทำกินซึ่งเปรียบเสมือนเป็นชีวิตของเกษตรกร ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรเมื่อปี 2507 ทำให้ทรงรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่หุบกระพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต้องประสบกับปัญหาพื้นที่แห้งแล้งเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถทำสวนผักได้เป็นเวลาหลายปี
          พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ โครงการช่วยเหลือในรูปของการจัดสรรที่ดินและการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรขึ้นในหมู่บ้านหุบกระพง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสรรที่ดินทำกินในแถบพื้นที่ป่าสงวนที่หมดสภาพแล้ว และได้พระราชทานที่นาจำนวนมากในเขตพื้นที่จังหวัดต่างๆ รวม 8 จังหวัด อันรวมถึงการปฏิรูปที่ดินในที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อให้รัฐบาลนำไปจัดทำโครงการปฏิรูปที่ดิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนขาดที่ดินทำกินเป็นของตนเองด้วย
          ประการที่ห้า การพัฒนาชาวเขา จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหายาเสพติด พระบาทสมเด็จพระปปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงวิธีการดำรงชีวิตของชาวเขา ที่ยังชีพด้วยการแผ้วถางทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นต้นเหตุที่มีส่วนสำคัญในการสร้างปัญหาการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าและต้นน้ำลำธารในภาคเหนือ และมีปัญหาเรื่องยาเสพติดในแผ่นดินไทยและนอกประเทศ
          พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ริเริ่มโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา เมื่อปี 2512 หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการหลวง ซึ่งเป็นการดำเนินงานอย่างครบวงจร ที่ระดมอาสาสมัครจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน ตลอดจนได้รับความสนับสนุนจากต่างประเทศ ช่วยกันศึกษาวิจัยหาวิธีการและแนวทางที่ทำให้ชาวเขามีวิธีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพเพื่อทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกพืชที่ทำรายได้แทนการปลูกฝิ่น
          นับเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและยั่งยืนในเวลาต่อมา
          ประการที่หก การเริ่มต้นจากกาแฟต้นเดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาชาวเขาอีกประการหนึ่ง คือ ทรงแนะนำให้ชาวกระเหรี่ยงบนดอยอินทนนท์ปลูกกาแฟ ซึ่งทำรายได้เป็นเงินต่อไร่ต่อปีได้สูงกว่าที่เคยปลูกฝิ่น หลังจากที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรไร่กาแฟที่ชาวกระเหรี่ยงปลูกไว้บริเวณพื้นที่บ้านอังกาน้อย ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ไร่แห่งนั้นมีกาแฟเพียงต้นเดียว
          จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งกับข้าราชบริพารที่ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการเสด็จฯ ข้ามเขาสูงมาด้วยพระสุรเสียงที่มีเมตตาว่า “...แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เรา ไปพูดจาชี้แจงชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กระเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อนเลย ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมดแต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกระเหรี่ยง...”
          ประการที่เจ็ด วงจรสุขภาพเคลื่อนหาประชาชน ด้วยทรงตระหนักถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตรจึงทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสาธารณสุขในลักษณะที่เป็นเชิงรุก เคลื่อนที่เข้าหาประชาชนเพื่อให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ดังที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หลวง หรือการทำงานของเรือเวชพาหน์
          ต่อมาทรงมีดำริให้ตั้งโครงการฟื้นฟูอาชีพผู้ป่วยและโครงการพระราชดำริหมอหมู่บ้านหรือโครงการศิลปาชีพ เพื่ออบรมให้ความรู้เรื่องอนามัยพื้นฐานและงานสาธารณสุขมูลฐานให้แก่ผู้เข้าอบรมเพื่อกลับมาช่วยเหลือชุมชนของตนต่อไปได้
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตรทรงงานหนักและปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาอย่างทรงตรากตรำเพื่อความอยู่ดีมีสุขของราษฎร มาตราบพระชนมชีพนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้

          ที่มา: www.siamrath.co.th