รายงาน: แผนปฏิรูปพลังงาน6ด้าน ชู 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ลงทุนเพิ่มกว่า 4 แสนล้าน
Source - ฐานเศรษฐกิจ (Th)

Wednesday, May 09, 2018  06:16
21696 XTHAI XPOL DAS V%PAPERL P%TSK

          การขาดประสิทธิภาพและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ที่มีบทบาททางด้านพลังงาน ทั้งของภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบการด้านพลังงาน เป็น 1 ใน 6 ประเด็นสำคัญต้องเร่งปฏิรูปที่ปรากฏอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการบริหารจัดการและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ
          กระจกเงาสะท้อนปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง เหตุ การณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ ที่มีเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ปักหลักเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าเทพา กระทั่งเกิดเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับกระทรวงพลังงาน ให้ชะลอโครงการไว้จนกว่าจะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาความเหมาะสมว่า พื้นที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมในการก่อสร้างหรือไม่
          1 วันถัดมาปรากฏภาพของ "เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนคนจังหวัดกระบี่" รวมตัวหน้าที่ว่าการอำเภอเหนือคลองออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับเอ็มโอยูดังกล่าว ตัวอย่างของปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นของภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลเกิดความเสียหาย ไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานของประเทศได้ในอนาคต
          แยกงานกำกับออกจากปฏิบัติ
          ตามแผนการปฏิรูปด้านพลังงานมากกว่า 300 หน้าของคณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการในด้านต่างๆ ที่สำคัญโดยเสนอให้ปฏิรูปใน 6 ประเด็น ดังนี้
          1. ด้านบริการจัดการพลังงาน เสนอให้ปรับองค์กรเพื่อให้การขับเคลื่อนและพัฒนาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปรับบทบาทและโครงสร้างของกระทรวงพลังงานให้สามารถบริหารสัญญาตามระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมรูปแบบใหม่ ทั้งแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และแบบสัญญาจ้างบริการ (SC) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักการที่ว่า แยกงานด้านการกำกับ (Regulation) และการดำเนินงาน (Operation) ออกจากกัน ช่วงแรกเสนอให้จัดตั้งกองบริหารสัญญาภายใต้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อดำเนินการกำกับดูแลโดยผ่านอนุกรรมการปิโตรเลียมที่ทำหน้าที่เป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการ จากนั้นให้จัดตั้งหน่วยงานและแยกออกจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน (Operation) ตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต
          ทั้งยังเสนอให้จัดตั้ง "ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ"เพื่อสร้างความเชื่อถือด้านข้อมูลให้บริการประชาชน และเป็นฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศ และสร้างระบบธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การปฏิรูปและขับเคลื่อนการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดบนพื้นฐานการยอมรับของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ พร้อมเสนอให้จัดตั้งคณะที่ปรึกษา หรือ คณะกรรมการภาคประชาสังคมภายใน 1 ปี รวมถึงมีส่วนร่วมกำหนดพื้นที่ตั้งโครงการลงทุนด้านพลังงานขนาดใหญ่โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวปฏิบัติให้มีผลบังคับใช้ใน 1 ปี เป็นต้น
          โอนกฟน.-กฟภ.มาที่พน.
          2. ด้านไฟฟ้า ให้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่ และจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมโดยได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าโดยออกระเบียบการส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการแข่งขัน ตลอดจนศึกษาปรับปรุงกิจการไฟฟ้าทั้งระบบเพื่อรองรับรูปแบบกิจการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้า โดยโอนย้าย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาที่ กระทรวงพลังงาน (พน.)ให้มีระบบเอื้อให้การไฟฟ้าให้สิทธิ์แก่บุคคลอื่น (Third Party Access: TPA) ใช้ระบบส่ง และระบบจำหน่าย เป็นต้น
          3. ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เสนอให้ การสร้างความมั่นคงและมูลค่าจากก๊าซธรรมชาติ การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนพัฒนาและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนศึกษาโอกาสพัฒนา "ศูนย์กลางการค้า ก๊าซธรรมชาติเหลวของภูมิภาค" รวมถึงริเริ่มการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจากปิโตรเคมี โดยศึกษากำหนดแนวทางลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในระยะแรกและพื้นที่มีศักยภาพอื่นในระยะต่อไป
          4. ด้านพลังงานทดแทนรัฐบาลควรวางนโยบายส่งเสริมไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล, ส่งเสริมการนำขยะมูลฝอยไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า และส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟเสรี ปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งโดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสมเพื่อเป็น กรอบการพัฒนาให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และประกาศใช้เป็นนโยบาย ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
          5. ด้านการอนุรักษ์พลังงาน เสนอให้ลดใช้พลังงานอย่างมีนัยสำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยดำเนินการร่วมกันระหว่าง ก.พลังงานและก.อุตสาหกรรม ผลักดันและส่งเสริมลดการใช้พลังงานผ่านโครงการสำคัญๆ รวมถึงการใช้ข้อบังคับเพื่อลดใช้พลังงานในอาคารโดยออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. . ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในปี 2561 และมีผลบังคับใช้กับอาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไปในปี 2562 และมีแนวทางหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการดำเนินการใช้กลไกบริษัทจัดการพลังงานในหน่วยงานภาครัฐเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
          สุดท้าย คือ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เสนอให้มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (EV/ESS) มีการกำหนดเป้าหมายประเทศ การจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการลงทุน และปรับปรุงแผนพลังงานรองรับ
          น่าสนใจว่า  ในแผนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลในช่วง 5 ปีนี้ สำนักงบประมาณ ประมาณการว่า รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินเพื่อการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน รวมกันสูงถึง 7 แสนล้านบาท โดยใช้เพื่อการปฏิรูปด้านพลังงานอยู่ที่ประมาณ 1.14 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตามแผนการปฏิรูปด้านพลังงาน ระบุว่า หากสามารถปฏิรูปพลังงานทั้ง 6 ด้านข้างต้นได้ตามเป้าที่วางไว้จะส่งผลให้ประเทศเพิ่มการลงทุนโดยตรงจาก "อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน" และ "การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน" ได้มากกว่า 4 แสนล้านบาท
          ขณะที่แผนอนุรักษ์พลังงานที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลให้ประเทศลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจอันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งยังส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานได้ในราคาเป็นธรรม ได้รับคุณภาพ และการบริการที่ดีขึ้น ตลอดจนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานซึ่งจะส่งผลต่อ "การลดความเหลื่อมล้ำ" และ"สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"ได้ ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่วางไว้ได้อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 10 - 12 พ.ค. 2561--